ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐๗.๕ และ กว่าร้อยละ ๙๐ ถูกส่งต่อทั่วประเทศ ทำไมนครเฉิงตูจึงเป็นศูนย์กลางจุดขนส่งปลาแซลมอน?
11 Feb 2025
“ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ปลาแซลมอนจากยุโรปเหนือสามารถส่งถึงโต๊ะอาหารในนครเฉิงตูได้ภายใน ๔๘ ชั่วโมงจากสถานที่จับปลา ส่วนในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ นครเฉิงตูจะเดินหน้าขยายการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพสูง และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กระจายสินค้าระดับประเทศสำหรับสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ปลาแซลมอนและทุเรียน” ในรายงานการทำงานของรัฐบาลมณฑลเสฉวนประจำปี ๒๕๖๗ ได้มีการกล่าวถึงปลาแซลมอนและทุเรียนโดยเฉพาะ
จากการสำรวจของผู้สื่อข่าว พบว่าปลาแซลมอนที่นำเข้าในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ กว่า ร้อยละ ๙๐ ถูกกระจายไปยังเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และฉงชิ่ง ผ่านทางสนามบินหรือระบบขนส่งทางรถยนต์ เหตุใดนครเฉิงตูจึงเป็นที่นิยมของบริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ? ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ผู้บริหารของด่านท่าอากาศยานนครเฉิงตูและตัวแทนจากบริษัทการค้าต่างประเทศ เพื่อค้นหาคำตอบ
ปลาแซลมอนกำไรสูง ราคาต่อกิโลกรัมอยู่ที่ ๑๐๐-๑๕๐ หยวน
เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๗ ผู้รับผิดชอบจากด่านท่าอากาศยานนครเฉิงตูเปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ด่านท่าอากาศยานนครเฉิงตูได้นำเข้าสัตว์น้ำแช่เย็นมูลค่ารวม ๙๐๐ ล้านหยวน และสัตว์น้ำสำหรับบริโภคมูลค่า ๙๐ ล้านหยวน โดยสินค้าในหมวดสัตว์น้ำแช่เย็นที่นำเข้าในปริมาณมากที่สุดคือ ปลาแซลมอน คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๗ ของหมวดนี้
สำหรับ Western Fresh Port ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าอาหารทะเลสดจากต่างประเทศในภาคตะวันตกของจีน มีการนำเข้าปลาแซลมอนจากชิลีเป็นหลัก ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ การนำเข้าปลาแซลมอนจากชิลีของศูนย์แห่งนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ ๓๕ ของการส่งออกปลาแซลมอนจากชิลีไปยังประเทศจีนทั้งหมด
“ปี พ.ศ. ๒๕๖๗ มีการนำเข้าปลาแซลมอนจากชิลีประมาณ ๕,๙๐๐ ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๐.๕ เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. ๒๕๖๖” ผู้จัดการโครงการ Western Fresh Port กล่าว พร้อมเสริมว่า ความต้องการสินค้าโปรตีนคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำเข้าปลาแซลมอนเติบโตอย่างรวดเร็ว
“สำหรับตลาดจีน ราคาขายปลาแซลมอนนำเข้าอยู่ที่ ๑๐๐-๑๕๐ หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งสร้างกำไรที่ค่อนข้างสูงให้กับบริษัทนำเข้าและผู้ค้าปลีก” ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งปลาแซลมอนไปทั่วประเทศ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ปริมาณการนำเข้าปลาแซลมอนสดแช่เย็นในมณฑลเสฉวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๕๐๗.๕ สูงเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ขณะที่ปลาแซลมอนที่นำเข้ากว่า ร้อยละ ๙๐ ถูกขนส่งต่อไปยังเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และฉงชิ่ง
ศักยภาพการกระจายสินค้าและโครงข่ายขนส่งระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นครเฉิงตูมี ๓๔ เส้นทางบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยสนามบินนานาชาติเฉิงตูชวงหลิวได้เพิ่ม ๖ เส้นทางใหม่ ไปยัง ทบิลิซี (จอร์เจีย), วอร์ซอ (โปแลนด์), ปารีส (ฝรั่งเศส), ลีแยฌ (เบลเยียม), บังกาลอร์ (อินเดีย) และดากา (บังกลาเทศ)
ขณะที่สนามบินนานาชาติเฉิงตูเทียนฝู ได้เปิด ๓ เส้นทางใหม่ ไปยัง บังกาลอร์, วอร์ซอ และแฟรงก์เฟิร์ต รวมถึงเพิ่มเที่ยวบินไปยัง บรัสเซลส์และบูดาเปสต์
ตัวอย่างเช่นบริษัท Sichuan YunGang Aviation Logistics Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและกระจายผลไม้รายใหญ่ของนครเฉิงตูในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ได้เลือกส่งต่อผลไม้ที่นำเข้าร้อยละ ๙๐ ไปยังเมืองอื่น ๆ เช่น ปักกิ่ง กว่างโจว และเซี่ยงไฮ้
“เส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีให้เลือกหลากหลายช่วยให้การนำเข้าสินค้าสะดวกยิ่งขึ้น ในด้านต้นทุนโลจิสติกส์ การส่งสินค้ามายังนครเฉิงตูแล้วขนส่งต่อไปยังเมืองอื่น มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการส่งตรงไปยังเมืองชายฝั่งประมาณ ร้อยละ ๕-๗” นาย กงอี้ ผู้จัดการบริษัทฯ กล่าว
ระบบขนส่งเย็นที่สมบูรณ์และการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ด่านท่าอากาศยานนครเฉิงตูมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสูงเป็น อันดับ ๓ ของประเทศ
“ด่านศุลกากรเฉิงตูให้บริการ ๒๔ ชั่วโมงตลอด ๗ วัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผ่านพิธีการศุลกากร” นาย กงอี้ฯ กล่าว พร้อมเผยว่า สินค้านำเข้าของบริษัทใช้เวลาเพียง ๑.๕ ชั่วโมงในการผ่านพิธีศุลกากร
“หลังผ่านพิธีศุลกากร สินค้าของเราสามารถส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศภายใน ๔๘ ชั่วโมง ผ่านระบบขนส่งทางอากาศและทางบก” นาย กงอี้ฯ กล่าวเพิ่มเติม
กรณีศึกษาการนำเข้าปลาแซลมอนผ่านนครเฉิงตูของจีน แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ ศุลกากร และศักยภาพทางการตลาดในการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสด เช่น ทุเรียน กุ้ง และอาหารทะเลคุณภาพสูง หากประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงข่ายขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ห้องเย็นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรแบบ ๒๔ ชั่วโมง ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าไทยในจีน เช่น ทุเรียนและอาหารแปรรูป กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากมีจุดเชื่อมต่อที่สามารถขนส่งสินค้าได้รวดเร็วและต้นทุนต่ำ ประเทศไทยก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดจีนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และการพัฒนาเครือข่ายขนส่งเชื่อมโยงทางอากาศและทางราง เช่น โครงการรถไฟจีน-ลาว อาจช่วยให้สินค้าไทยเข้าถึงตลาดจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในระยะยาว
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
๑. https://mp.weixin.qq.com/s/tGDxOTEr09p14ddeLyHAzA
ที่มารูปภาพ:
๑. 699pic.com