น้องๆ ทะเล! ยุทธศาสตร์ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำซีเจียง ทางการกว่างซีเตรียมดันขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ
3 Jun 2013หนังสือพิมพ์ Modern Life : รัฐบาลเขตฯ กว่างซีจ้วงมุ่งผลักดันโครงการเส้นทางน้ำสายทองคำ-แม่น้ำซีเจียง (Xi River, 西江) จากยุทธศาสตร์ระดับมณฑลขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ระดับประเทศ เพื่อขอรับแรงสนับสนุนด้านนโยบายและเงินทุนจากรัฐบาลกลาง
|
แม่น้ำซีเจียงในเขตฯ กว่างซีจ้วง |
แม่น้ำซีเจียง เป็นแม่น้ำที่มีการปริมาณการขนส่งมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ (รองจากแม่น้ำแยงซี) และเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เชื่อมพื้นที่ภาคตะวันตก (มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว และเขตฯ กว่างซีจ้วง) กับพื้นที่เศรษฐกิจปากแม่น้ำเพิร์ล (มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า)
ในเขตฯ กว่างซีจ้วง แม่น้ำซีเจียงไหลพาดผ่าน 7 เมือง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้งก่าง เมืองอู๋โจว เมืองไป่เซ่อ เมืองหลายปิน เมืองหลิ่วโจว และเมืองฉงจั่ว รวมความยาวทั้งสิ้น 1,480 กิโลเมตร โดยเส้นทางน้ำสายหลักจากนครหนานหนิงถึงนครกว่างโจว มีความยาว 854 กิโลเมตร อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง 570 กิโลเมตร
ทางการกว่างซีเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนางานขนส่งผ่านทางแม่น้ำ เมื่อปี 2553 จึงได้ประกาศ “แผนงานก่อสร้างเส้นทางน้ำสายทองคำแม่น้ำซีเจียงเขตฯ กว่างซีจ้วง” เพื่อกำหนดแนวทางหลักสำหรับเทศบาลเมืองต่างๆ นำไปเชื่อมโยงการพัฒนาและยกระดับศักยภาพงานขนส่งแม่น้ำของเมืองตนเอง
ปัจจุบัน หัวเมืองท่าสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ นครหนานหนิง เมืองกุ้ยก่าง และเมืองอู๋โจว สามารถรองรับเรือขนส่งขนาด 2,000 ตันได้แล้ว ส่วนในหัวเมืองท่าอันดับรองก็สามารถรองรับเรือขนส่งขนาดตั้งแต่ 500 – 1,000 ตันได้แล้วเช่นกัน และมีจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้
เหตุผลที่รัฐบาลกว่างซีพยายามผลักดันให้แผนงานฯ ขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ มีดังนี้
หนึ่ง การกระตุ้นการมีส่วนร่วมของมณฑลรอบข้าง โดยเฉพาะพื้นที่มณฑลกวางตุ้ง ฮ่องกง และมาเก๊า
สอง การขอรับการสนับสนุนด้านเงินทุนและนโยบายพิเศษจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากแผนงานระดับมณฑล โครงการก่อสร้างต่างๆ จึงมีรัฐบาลมณฑลเป็นผู้แบกรับเพียงผู้เดียว
สาม กรุยทางสำหรับการผนึกร่วมกับแผนงานแถบเศรษฐกิจแม่น้ำเพิร์ลของมณฑลกวางตุ้ง เพื่อสร้างแถบเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลอดหลายปีมานี้ เมืองต่างๆ ของกว่างซีมีการพัฒนาและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานบริเวณเลียบฝั่งแม่น้ำและท่าเรือ การสร้างประตูกั้นน้ำ และการพัฒนาร่องน้ำ เพื่อยกระดับศักยภาพการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำซีเจียง
พัฒนาการดังกล่าวช่วยดึงดูดให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้าจัดตั้งกิจการบริเวณเลียบฝั่งแม่น้ำ เพื่อต้องการอาศัยจุดแข็งของการขนส่งผ่านทางแม่น้ำ คือ ประหยัดเวลา ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้า
BIC เห็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเลียบแม่น้ำซีเจียงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุน(ไทย)ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในกว่างซี โดยอาศัยความได้เปรียบจากนโยบายสนับสนุนทั้งในระดับมณฑลและระดับประเทศ
อย่างไรก็ดี นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะประเภทอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– งัดจุดเด่นสู้! เมืองอู๋โจวของกว่างซีหวังเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของลุ่มแม่น้ำซีเจียง (13 พฤษภาคม 2556)
– เมืองกุ้ยก่างเปิดเส้นทางขนส่งแม่น้ำสู่ฮ่องกง ลดต้นทุน ประหยัดเวลา สร้างบรรยากาศการลงทุน (12 เมษายน 2556)
– “ลุ่มแม่น้ำซีเจียง” ตัวเลือกฐานการผลิตใหม่ของอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งภาคตะวันออก (14 มีนาคม 2556)