นายกฯ จีนชี้ จะเปลี่ยนรูปโฉมของเศรษฐกิจโลกด้วยการปฏิรูป การเปิดเสรี และความร่วมมือ
28 Jan 2014เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 ในโอกาสการเปิดฉากการประชุม World Economic Forum หรือ WEF ครั้งที่ 44 ได้นำคำกล่าวของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนลงในเว๊บไซต์ของการประชุมฯ โดยชี้ว่า ประเทศจีนในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสมาชิกของ G20 APEC และองค์กรสำคัญอื่น ๆ เศรษฐกิจจีน รวมถึงแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาจะเป็นผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ในบทคำกล่าว นายหลี่ เค่อเฉียงได้ชี้ว่า ในภาพรวม จีนสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยปี 2556 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของจีนขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 ดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 2.6 รายได้สุทธิของประชาชนปรับเพิ่มขึ้น จำนวนการจ้างงานใหม่ในเขตเมืองอยู่ที่ 13 ล้านล้านตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าปีก่อน ๆ และการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของจีนมีมูลค่ามากกว่า 9 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ.
นายหลี่ เค่อเฉียงชี้ว่า ภายใต้ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ยังไม่คลี่คลายและเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า ความพยายามของรัฐบาลจีนที่เริ่มปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทำให้จีนสามารถหลีกเลี่ยงภาวะ Hard landing ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและพลวัตรของเศรษฐกิจจีน
นอกจากนี้ นายหลี่ เค่อเฉียงยังชี้ว่า ในปี 2556 จีนได้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สร้างสรรค์ เพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทาย เช่น การปรับลดบทบาทของรัฐในระบบเศรษฐกิจ การลดขั้นตอนการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหาร การตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ควบคู่กับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจภาคบริการ โดยมีการออกประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการบริการด้านการเงิน การดูแลผู้สูงอายุ และการบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น
สำหรับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจจีนในปี 2557 จะสอดคล้องกับผลการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 18 เช่น การผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การเปิดเสรีให้มากขึ้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้มีความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ การกระตุ้นความต้องการภายในประเทศและการลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท เป็นต้น
สุดท้าย นายหลี่ เค่อเฉียงให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการ ซึ่งการปรับโฉมหน้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือต้องจัดตั้งและบูรณาการระบบเศรษฐกิจโลกให้มีการเปิดเสรีและความร่วมมือมากขึ้น ประชาคมโลกควรคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ร่วมกันขจัดมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนศึกษาและใช้ประโยชน์จากกรอบการเจรจาการค้าพหุภาคีต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ควรร่วมมือกันนำจุดแข็งของตนมาขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วย โดยจีนจะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติเศรษฐกิจและนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน แข็งแรง และสมดุล