นครเฉิงตูมีบริษัท “ยักษ์เล็ก (Little Giants)” ระดับประเทศ ๒๘๖ แห่ง สร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งในหลายภาคส่วน
15 Oct 2024-1024x683.jpg)
นครเฉิงตูได้สร้างและบ่มเพาะบริษัท “ยักษ์เล็ก หรือ Little Giants” (ธุรกิจที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลจีน อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถด้านนวัตกรรมในระดับประเทศรวมทั้งสิ้น ๒๘๖ แห่ง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ ๕ ของเมืองระดับกึ่งมณฑล รวมถึงได้บ่มเพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความเชี่ยวชาญในระดับมณฑลแล้ว ๒,๓๐๐ แห่ง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๖๐ ของทั้งมณฑลเสฉวน
ในขณะเดียวกัน นครเฉิงตูได้มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เน้นนวัตกรรมให้เป็นพื้นฐานของธุรกิจที่มีคุณภาพ โดยได้พัฒนาธุรกิจนวัตกรรมรวมกว่า ๓,๘๐๐ แห่ง และสร้างระบบการสนับสนุนที่เติบโตเป็นลำดับขั้นไปสู่การเป็นบริษัท “ยักษ์เล็ก” ระดับประเทศที่สามารถเพิ่มรายได้และกำไรได้อย่างรวดเร็ว โดยค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นร้อยละ ๘.๓ ของรายได้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเมืองอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมี ๕ บริษัทที่เป็นแชมป์ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะ และ ๔๑ บริษัทที่เป็นบริษัท “ยักษ์เล็ก” ระดับประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้มีผลิตภัณฑ์อยู่ในรายชื่อ “ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยอดเยี่ยมของนครเฉิงตู” (เป็นการคัดเลือกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมคุณภาพสูงหลากหลายชนิด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคการผลิตคุณภาพสูง และดำเนินการตามกลยุทธ์การพัฒนาการผลิตอัจฉริยะของนครเฉิงตู “Chengdu Intelligent Manufacturing”)
บริษัท “ยักษ์เล็ก” ของนครเฉิงตูส่วนใหญ่กระจายอยู่ในภาคอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตอุปกรณ์ ก่อนหน้านี้ นครเฉิงตูได้มุ่งเน้นในการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูงผ่านการพัฒนานโยบายที่ครอบคลุม เพื่อเร่งให้ธุรกิจเติบโตจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่ สร้างการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่งในภาคส่วนต่างๆ
ในอนาคต นครเฉิงตูจะเดินหน้าบ่มเพาะและพัฒนาบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มบริษัท “ยักษ์เล็ก” ระดับประเทศอีกอย่างน้อย ๕๐ แห่ง และภายในปี ๒๕๖๘ นครเฉิงตูมุ่งมั่นที่จะบ่มเพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางและนวัตกรรมใหม่ระดับมณฑลมากกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง และบริษัท “ยักษ์เล็ก” ระดับประเทศอีก ๔๐๐ แห่ง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ โดยเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรมชั้นสูง และพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากการพัฒนาของนครเฉิงตู โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความเชี่ยวชาญและมีความสามารถด้านนวัตกรรมในการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำแนวทางนี้มาใช้ในการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แข็งแกร่งและเติบโตในระดับที่แข่งขันได้ พร้อมการสร้างระบบนโยบายที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในทุกระยะ รวมถึงการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยเร่งการพัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติได้
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๗
๑. https://cd.scol.com.cn/sdxw/202303/58836799.html
๒. http://scdfz.sc.gov.cn/gzdt/zyhy/content_140939
๓. https://www.scmp.com/economy/article/3170339/beijing-wants-less-big-tech-more-little-giants