ที่แรกในจีน! ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ขนสินค้าเรือ+รถไฟไร้รอยต่อ เริ่มใช้งานแล้ว

13 Jul 2022

ไฮไลท์

  • เมื่อไม่นานมานี้ ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ในท่าเรือชินโจวได้ผ่านการตรวจรับจากส่วนกลางและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เรือ+รถไฟ เป็นแห่งแรกของประเทศจีน
  • อุปกรณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของท่าเทียบเรืออัจฉริยะ ประกอบด้วย เครนหน้าท่า เครนขาแบบรางคู่ (Gantry crane) และรถลำเลียงตู้สินค้า (Intelligent Guided Vehicle – IGV) ซึ่งทั้งหมดทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ มีความละเอียดแม่นยำสูง
  • นัยสำคัญสำหรับประเทศไทย สายเรือที่ให้บริการในเส้นทางท่าเรือชินโจว – ท่าเรือแหลมฉบังมีอยู่หลายราย อาทิ บริษัท SITC บริษัท PIL และบริษัท EMC ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นเที่ยวเรือที่สามารถใช้ขนส่งผลไม้ 4 เที่ยว เที่ยวเรือที่สั้นที่สุดใช้เวลาเดินทางเพียง 3-4 วัน จึงเป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย

 

หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 21 เดือน เมื่อไม่นานมานี้ ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Port) ในท่าเรือชินโจวได้ผ่านการตรวจรับจากส่วนกลางและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะแห่งที่ 5 ของประเทศจีน และเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เรือ+รถไฟ เป็นแห่งแรกของประเทศจีน

ตามรายงาน เรือสินค้าของสายเรือ SITC ที่มาจากประเทศอินโดนีเซียเปิดประเดิมเป็นลำแรก มีการขนถ่ายตู้สินค้า 572 TEUs โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินแร่ โดยหลังจากที่ลำเลียงตู้สินค้าลงจากเรือแล้ว ได้ลำเลียงสินค้า อาทิ อะไหล่ยานยนต์ กระจก และเคมีภัณฑ์ เพื่อส่งออกจากจีนไปยังกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

ท่าเรือชินโจว ตั้งอยู่ในเมืองชินโจว เป็นท่าเรือศูนย์กลางของกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย และเป็น ข้อต่อ สำคัญที่ใช้เชื่อมการขนส่งทางเรือกับทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ILSTC (New International Land and Sea Trade Corridor)

หลายปีมานี้ การนำเข้าสินค้าผ่านระบบงานขนส่งต่อเนื่องจากเรือไปยังรถไฟ สามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จำนวนเที่ยวรถไฟที่วิ่งให้บริการ เพิ่มขึ้นจาก 178 ขบวนในปี 2560 เป็น 6,117 ขบวนในปี 2564 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 33 เท่า และช่วง 6 เดือนแรก ปี 2565 ขบวนรถไฟดังกล่าวลำเลียงตู้สินค้ารวม 3.79 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 33.4% (YoY) เส้นทางรถไฟเพิ่มขึ้นจาก 9 เส้นทางเป็น 12 เส้นทาง สามารถลำเลียงสินค้าไปยัง 106 สถานีใน 54 เมืองใน 14 มณฑลทั่วประเทศจีน

ความต้องการใช้งานขนส่งสินค้า “เรือ+ราง” ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีศักยภาพรองรับปริมาณตู้สินค้าที่มีเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะในท่าเรือชินโจว

Credit: Xinhua News

โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรืออัจฉริยะในท่าเรือชินโจว แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกที่เพิ่งเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการนี้ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือหมายเลข 7 และ 8 มีความยาวหน้าท่ารวม 518.5 เมตร ความลึก 15.1 เมตร ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 1 แสนตันเข้าเทียบท่าได้ และสามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.02 ล้าน TEUs

ส่วนเฟสสอง ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 2 ท่า ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 2 แสนตันให้เข้าเทียบท่าได้ และสามารถรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้ปีละ 1.6 ล้าน TEUs คาดหมายว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2566

อุปกรณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของท่าเทียบเรืออัจฉริยะ ประกอบด้วย เครนหน้าท่า เครนขาแบบรางคู่ (Gantry crane) และรถลำเลียงตู้สินค้า (Intelligent Guided Vehicle – IGV) ซึ่งทั้งหมดทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ มีความละเอียดแม่นยำสูง

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนของการขนส่งในรูปแบบ “เรือ+รถไฟ” ที่ท่าเรือชินโจวไปยังมณฑลในภาคตะวันตกของประเทศจีน คือ การขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีความมีความรวดเร็ว คล่องตัว ประหยัดเวลา (ใช้เวลาสั้นกว่าการขนส่งแบบเดิมผ่านท่าเรือในภาคตะวันออกของจีนอย่างน้อย 10 วัน) และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แข่งขันได้ (เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่าย การตรึงราคาค่าขนส่งแบบราคาเดียว และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เท่ากับท่าเรือสากลแห่งอื่นในจีน) โดยมีตลาดเกิดใหม่อย่าง “มณฑลจีนตะวันตก” เป็นตลาดเป้าหมายสำคัญ

การพัฒนาท่าเทียบเรืออัจฉริยะของท่าเรือชินโจว ช่วยให้การขนส่งระหว่างเรือกับรถไฟสามารถทำงานด้วยความราบรื่นและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และจะเป็นหัวสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีสากลให้ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ และช่วยสนับสนุนการขยายตัวด้านการค้าระหว่างประเทศในพื้นที่จีนตะวันตกให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บีไอซี ขอเน้นย้ำว่า นอกจากการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วไปแล้ว การขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ยังสามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้อีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบที่มีเครื่องทำความเย็น (Reefer) สำหรับการขนส่งผลไม้และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็ง และตู้คอนเทนเนอร์แบบ Open Top ซึ่งเหมาะสำหรับสินค้าเทกอง

นัยสำคัญสำหรับประเทศไทย ท่าเรือชินโจว (ท่าเรือหลักในกลุ่มท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้) และท่าเรือแหลมฉบัง มีความร่วมมือด้านท่าเรือระหว่างกันอยู่แล้ว โดยมีสายเรือที่ให้บริการอยู่หลายราย อาทิ บริษัท SITC บริษัท PIL และบริษัท EMC

ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยว ในจำนวนนี้ เป็นเที่ยวเรือที่สามารถใช้ขนส่งผลไม้ได้ 4 เที่ยว เที่ยวเรือที่สั้นที่สุดใช้เวลาเดินทางเพียง 3-4 วัน จึงเป็น “ทางเลือก” ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีน(ตะวันตก) หรือใช้ช่องทางดังกล่าวในการขนสินค้าจากเรือขึ้นรถไฟไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าทางเรือกว่าครึ่ง

คาดว่า ในอนาคตอันใกล้ ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้” จะกลายเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าและเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่สนใจขนส่งสินค้าไทยไปจีน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวมีเส้นทางเดินเรือไปยังท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพของไทยแล้วด้วย

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์
www.gx.chinanews.com (中国新闻网) วันที่ 28, 29 มิถุนายน 2565
เว็บไซต์ www.xinhuanet.com (
新华网) วันที่ 29 มิถุนายน 2565
เว็บไซต์ http://bbwb.gxzf.gov.cn (
北部湾经济区规划建设管理办公室) วันที่ 28 มิถุนายน 2565

 

ชินโจวท่าเทียบเรืออัจฉริยะ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน