ทางการกว่างซีชี้เทรนด์เศรษฐกิจและทิศทางอุตสาหกรรม ปีงูเล็ก

11 Mar 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ปี 56 ทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกว่างซี ในภาพรวมสอดรับนโยบายส่วนกลาง และในรายละเอียดมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

ปัจจุบัน เทรนด์เศรษฐกิจโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก ทว่าสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวเชื่องช้า อุปสงค์จากต่างประเทศอ่อนตัว เป็นปัจจัยสร้างแรงกดดันให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของกว่างซี

หน่วยงานขุนพลเศรษฐกิจกว่างซีได้บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมวางแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในปี 2556 เพื่อรับมือสถานการณ์ข้างต้นและทำให้กว่างซีขยับเข้าใกล้เป้าหมายการเป็น สังคมเสี่ยวคัง (สังคมกินดี อยู่ดี) มากยิ่งขึ้น

คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Development and Reform Commission, 广西发展和改革委员会) หน่วยงานที่มีบทบาทอย่างยิ่งด้านการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ได้กำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจกว่างซีในปี 56 ดังนี้

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 11 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 รายได้ของประชาชนในเขตเมืองและเขตชนบทขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 13 และ 14 และอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 4

แนวทางปฏิบัติด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม อาทิ

1) สนับสนุนภาคการลงทุน เน้นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (อุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) กำจัดอุตสาหกรรมล้าสมัย

2) เร่งพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ โดยเริ่มจากน้ำตาล และข้าว ซึ่งกว่างซีมีพื้นฐานความพร้อมอยู่แล้ว

3) เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ อาทิ การเงิน โลจิสติกส์ ข้อมูลสารสนเทศ

4) พัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมในเมืองชั้นกลางและเมืองเล็ก พัฒนาระบบสาธารณูปโภค ดึงดูดการลงทุน

5) กระตุ้นการพัฒนาภายใต้กรอบ 2 เขต 1 แถบพื้นที่ (เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี เขตทรัพยากรสมบูรณ์ภาคตะวันตก และแถบพื้นที่เส้นทางน้ำสายทองคำแม่น้ำซีเจียง)

6) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ อลูมิเนียม น้ำตาล ปิโตรเลียม โลหะนอกกลุ่มเหล็ก และเยื่อกระดาษ

คณะกรรมธิการอุตสาหกรรมและข้อมูลสารสนเทศเขตฯ กว่างซีจ้วง (Guangxi Industry and Information Commission, 广西工业和信息委员会) ชูแนวทาง ยกระดับคุณภาพและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญ โดยเน้นขยายโครงการลงทุน บ่มเพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เร่งยกระดับนิคมอุตสาหกรรม สนับสนุนการขยายตัวสู่ธุรกิจขนาดใหญ่

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมของกว่างซีกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ อุตสาหกรรมขั้นปฐมภูมิมีสัดส่วนสูงมาก สินค้าขั้นปฐมภูมิมีมากจนเกินไป ห่วงโซ่อุตสาหกรรมสั้น มูลค่าเพิ่มและการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างต่ำ แรงแข่งขันทางการตลาดและการป้อนกันความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ

แนวทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างข้างต้น อาทิ

1) สนับสนุนการลงทุนที่เน้นกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและโครงสร้างธุรกิจ

2) เร่งพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร แพรไหม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกล อะไหล่ยานยนต์ เซรามิก อลูมิเนียม อิเล็กทรอนิกส์ และแคลเซียมคาร์บอเนต

3) สนับสนุนการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (SMEs)

4
) พัฒนาอุตสาหกรรมหมุนเวียน สร้างอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ และเร่งกำจัดอุตสาหกรรมล้าสมัย

5) พัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ เน้นวัสดุอลูมิเนียมสำหรับการคมนาคมทางราง รถยนต์พลังงานใหม่ วัสดุใหม่ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เภสัชชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์

กรมพาณิชย์เขตฯ กว่างซีจ้วง (Department of Commerce of Guangxi, 广西商务厅) ปีนี้ (ปี 56) ได้เบนเข็มการพัฒนา โดยเน้นขยายและกระตุ้นการค้าภายในประเทศทดแทนการพึ่งพาการค้าต่างประเทศ เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังตกอยู่ในสภาวะตึงตัว และเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แนวทางดำเนินงาน มีดังนี้

1) กระตุ้นการบริโภคภายใน สร้างตลาดใหม่ (สร้างสิ่งแวดล้อมในการใช้จ่าย เพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนและรองรับการขยายตัวของเมือง)

2) สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง/ปฏิรูปโครงสร้างธุรกิจ ยกระดับคุณภาพธุรกิจและผลิตภัณฑ์ สนับสนุนการค้าต่างประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง

3) ขยายตลาด สนับสนุนภาคการบริการ และเร่งส่งเสริมการ ก้าวออกไป ของธุรกิจที่มีศักยภาพ

4) บูรณาการสิ่งแวดล้อมทางการลงทุน ดึงดูดและใช้ประโยชน์จากเงินทุนต่างประเทศ

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เช่นเดียวกับอีกหลายมณฑลของจีน ปีนี้ เทรนด์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของกว่างซีเน้นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่เน้น สิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน เป็นสำคัญ ดังนั้น ธุรกิจไทยต้องศึกษาความพร้อมและวิเคราะห์ว่าธุรกิจของตนเองมีความสอดคล้องเหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกว่างซีหรือไม่

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน