ทางการกว่างซีชงนโยบายหนุนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังปรับตัวทิศทางบวกต่อเนื่อง
4 Aug 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกว่างซี และการสนับสนุนเชิงนโยบายผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจของกว่างซีรักษาระดับการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง
กรมสถิติเขตฯ กว่างซีจ้วง (Statistics Bureau of Guangxi, 广西统计局) ให้ข้อมูลว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ (ปี 57) มูลค่า GDP ของกว่างซีอยู่ที่ 632,787 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 8.5 (YoY) ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวของทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 1.1 จุด
ตัวเลขภาพรวมทางเศรษฐกิจของกว่างซีในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา มีดังนี้
มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ และประมง เท่ากับ 66,439 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 3.8 (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.7 จุด)
มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีการขยายตัวร้อยละ 11.8 (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.1 จุด)
มูลค่าการนำเข้าส่งออก 18,799 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 36.5 (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 8.3 จุด)
รายได้ภาครัฐ มีมูลค่า 109,630 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 7.4 (เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกร้อยละ 2.2 จุด)
มูลค่าการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 269,060 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 12.4 (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.4 จุด)
ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตฯ กว่างซีจ้วงเพิ่มขึ้น 2.6 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากช่วงไตรมาศแรก 0.1 จุด
รายได้เฉลี่ยที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ของของประชากรอยู่ที่ 7,716 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 (หักปัจจัยเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นจริงร้อยละ 8.5)
อัตราการจ้างงานใหม่ในเขตเมืองอยู่ที่ 291,700 คน อัตราผู้ว่างานที่ได้งานใหม่อยู่ที่ 58,800 คน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 3.16 (ทางการกว่างซีกำหนดเป้าหมายควบคุมอัตราการว่างงานไว้ไม่เกินร้อยละ 4.5)
ข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกว่างซี ในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา มีดังนี้
หนึ่ง การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเริ่มเห็นผลชัดเจน โดยเฉพาะสัดส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของภาคเอกชน พบว่า มูลค่าเพิ่มการผลิตมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 69.7 (YoY เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จุด)
ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สัดส่วนต่อมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 7.1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จุด (YoY) และอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องจักรกล สัดส่วนต่อมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 22.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จุด (YoY)
สอง การปฏิรูปเชิงนโยบายมีผลช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายปฏิรูประบบการจดทะเบียนบริษัท และนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสำหรับบางภาคธุรกิจ
มูลค่าเพิ่มภาคการผลิตของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 และ 14.2 ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราขยายตัวของมูลค่าเพิ่มภาคการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ร้อยละ 4.5 และ 2.4 จุด ตามลำดับ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กมีผลต่อการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 50
นอกจากนี้ พบว่า มูลค่าเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของภาคเอกชน (Non-Government Economic Organization) มีการขยายตัวร้อยละ 14.0 (สูงกว่าอัตราขยายตัวโดยรวมร้อยละ 2.2 จุด) และมีผลต่อการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 80
สาม คุณภาพชีวิตของประชาชนเริ่มดีขึ้น กล่าวคือ รายได้ที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้ของประชาชนในเขตเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 (หักปัจจัยเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นสุทธิร้อยละ 7) รายได้เกษตรกรในรูปของเงินสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 (หักปัจจัยเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นสุทธิร้อยละ 9.5)
บทสรุป
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมยังเป็นการบ้านที่หนักเอาการสำหรับทางการกว่างซี แม้ว่าในช่วงไตรมาสสอง ทิศทางเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน
ทว่า การขยายตัวภาคการลงทุนยังอ่อนแรง การลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเริ่มชะลอตัวลง รวมถึงราคาปัจจัยการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมราคาตก (น้ำตาล อลูมิเนียมออกไซด์ และเหล็ก) การจ้างงานยาก ตลาดอสังริมทรัพย์ถดถอย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คาดหมายว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ปัจจัยเชิงบวกบางประการจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจกว่างซีมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอีก อาทิ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าสู่กว่างซี และช่วยกระตุ้นการขยายตัวภาคการส่งออกของกว่างซีให้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซีจ้วงพร้อมดำเนินนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน (รถไฟ ถนน ชลประทาน ฯลฯ)