ตัวเลขเศรษฐกิจปี 55 ชี้ชัดกว่างซีเป็นแหล่งรองรับการย้ายฐานการผลิต โอกาสสำหรับธุรกิจแปรรูปของนักลงทุนไทย
5 Feb 2013เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีได้ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคในปีที่ 55 สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ และคาดว่าปีนี้จะยังคงรักษาระดับการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
สำนักงานสถิติเขตฯ กว่างซีจ้วง ให้ข้อมูลว่า ปี 55 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกว่างซีมีมูลค่า 1.303 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 11.3
แม้ว่าการขยายตัวจะลดลงเล็กน้อยจากช่วง 7 ปีก่อนหน้าซึ่งรักษาระดับเติบโตมากกว่าร้อยละ 12 ต่อปีมาโดยตลอด แต่หากมองจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตราวร้อยละ 7.8 และเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สู้ดีนัก นับว่าเศรษฐกิจกว่างซีทำผลงานได้ไม่เลวทีเดียว
ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกว่างซี ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการผลิตเกิน 1 แสนล้านหยวนของกว่างซีมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5 ประเภทในปี 54 เป็น 8 ประเภทในปี 55 ได้แก่ อาหาร ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ยานยนต์ ถลุงโลหะ เครื่องจักร โลหะนอกกลุ่มเหล็ก พลังงานไฟฟ้า และก่อสร้าง
ในส่วนของการค้าต่างประเทศ มีมูลค่า 29,474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 26.2 โดยเป็นการค้ากับอาเซียน 12,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 26.0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.88 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด
ทั้งนี้ เป็นผลจากนโยบายเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก โดยทุกฝ่ายหวังใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งของกว่างซีภายใต้ยุทธศาสตร์ “ประตูสู่อาเซียน” เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้ากับประเทศสมาชิกอาเซียน (โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งมีพรมแดนติดกันกว่า 1,020 กม.)
ภาคการใช้จ่าย กว่างซีมีมูลค่ารวมการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค 447,459 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 (อัตราขยายตัวมีการชะลอตัวลงจากปี 54 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 18 จากหลายปัจจัย เช่น การสิ้นสุดของนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศอย่าง “เครื่องใช้ไฟฟ้าสู่ชนบท” เป็นต้น)
รายได้ภาคประชาชน ชาวเมืองกว่างซีมีรายได้เฉลี่ย 23,209 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ในจำนวนนี้ เป็นรายได้ที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ 21,243 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 หักปัจจัยภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2
ขณะที่รายได้ของเกษตรกรชาวชนบทอยู่ที่ 6,008 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 หักปัจจัยภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2
ภาวะเงินเฟ้อของกว่างซี พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 3.2 (เขตเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 และเขตชนบท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3) ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายวางนโยบายรับมือเพื่อควบคุมสถานการณ์ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ทุกขณะ
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของกว่างซีเริ่มเปลี่ยนถ่ายจากยุคอุตสาหกรรมขั้นต้นไปสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปและบริการ ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลจากการที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเกิดการอิ่มตัวและเคลื่อนย้ายทุนสู่ภูมิภาคภาคตะวันตก
ทั้งนี้ กว่างซี เป็นมณฑลหน้าด่าน และเป็น 1 ใน 12 มณฑลในภาคตะวันตกที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่มีทางออกสู่ทะเล และนโยบายพิเศษของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยพื้นฐานทางการลงทุนที่ยังล้าหลังและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างๆ นับเป็นสิ่งท้าทายสำหรับนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสในพื้นที่ภูมิภาคตะวันตก รวมถึงกว่างซี