จีน-ไทย ผนึกกำลังโลจิสติกส์ ขับเคลื่อนการค้า ด้วยระบบศุลกากรคู่ขนาน

26 Dec 2024

เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ขบวนรถไฟข้ามพรมแดนจีน-ลาว-ไทย ในเส้นทางเศรษฐกิจ陆海新通道 (เส้นทางบกและทางทะเลสายใหม่)[๑]  ได้ทำการส่งออกสินค้าด้วยระบบ “กรอกข้อมูลครั้งเดียว ส่งเอกสารคู่ขนาน” (一单双报)[๒]  เป็นครั้งแรก โดยสินค้าที่ส่งออกเป็นชุดอุปกรณ์แป้นพิมพ์มูลค่า ๕๘,๗๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขนส่งจากหมู่บ้านถวนเจี๋ยในนครฉงชิ่งผ่านทางด่านโมฮ่าน(磨憨)ไปยังท่าเรือแหลมฉบังในประเทศไทย และดำเนินการผ่านพิธีศุลกากร ในไทยจนเสร็จสมบูรณ์

ระบบ “กรอกข้อมูลครั้งเดียว ส่งเอกสารคู่ขนาน” คืออะไร?

ระบบนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการกรอกข้อมูลสินค้าเพียงครั้งเดียว ระบบจะประมวลผลข้อมูลและสร้างเอกสารศุลกากรสำหรับทั้งจีนและไทยพร้อมกัน โดยมีสองรูปแบบ:

๑. ระบบ B2B(ธุรกิจต่อธุรกิจ) : ระบบจะแปลงข้อมูลสินค้าให้ตรงตามข้อกำหนดของศุลกากรจีนและไทยพร้อมเชื่อมต่อระบบศุลกากรเพื่อส่งเอกสารโดยอัตโนมัติ

๒. การวิเคราะห์เอกสาร:ระบบจะใช้เทคโนโลยี OCR[๓] NLP[๔] และAI[๕] วิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่อัปโหลด

โดยผู้ใช้ เพื่อสร้างเอกสารศุลกากรและส่งข้อมูลไปยังระบบศุลกากรระบบการจำเอกสาร

จุดเด่นของระบบนี้ คือ การลดการใช้แรงงานคนในกระบวนการเตรียมข้อมูลและเอกสารศุลกากรรวมถึงการปรับปรุงขั้นตอนการส่งออกให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างการเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนและไทยที่ไร้รอยต่อ

ผลลัพธ์และประโยชน์ของระบบใหม่

ด้วยระบบ “กรอกข้อมูลครั้งเดียว ส่งเอกสารคู่ขนาน” ผู้ประกอบการสามารถให้ข้อมูลสินค้าเพียงครั้งเดียว ระบบจะส่งต่อข้อมูลไปยังระบบศุลกากรจีนและไทยโดยอัตโนมัติ ช่วยลดความซ้ำซ้อน ลดข้อผิดพลาด และประหยัดต้นทุนการดำเนินงานได้สูงสุดถึง ๓๐๐ หยวน (๔๑.๑๐ ดอลลาร์สหรัฐ )ต่อการดำเนินการ ๑ รายการ

     ระบบนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน แต่ยังช่วยพัฒนาธุรกิจขนส่งสินค้าหลายรูปแบบในเส้นทาง  陆海新通道ให้มีความสะดวกและประหยัดยิ่งขึ้น

การนำระบบ “กรอกข้อมูลครั้งเดียว ส่งเอกสารคู่ขนาน”(一单双报)มาใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและไทยถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมความสะดวกในกระบวนการศุลกากรอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลดีต่อประเทศไทยในหลายด้าน ประการแรก ช่วยลดเวลาและขั้นตอนในการดำเนินพิธีการศุลกากร ทำให้สินค้าผ่านด่านได้เร็วขึ้น   ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องการความรวดเร็วในการนำเข้าสินค้า ประการที่สอง ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ด้วยการลดการส่งข้อมูลซ้ำซ้อนและข้อผิดพลาดในเอกสาร ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนได้ ประการที่สาม สนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจีน และไทยให้เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากความสะดวกในระบบศุลกากรช่วยดึงดูดผู้ประกอบการให้ใช้เส้นทางการขนส่งนี้มากขึ้น และประการสุดท้าย ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในภาพรวมด้วยการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและขยายโอกาสให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก


[๑] เส้นทางบกและทางทะเลสายใหม่ (陆海新通道) เป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมณฑลต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีนครฉงชิ่งเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน และใช้มณฑลหรือเมืองต่าง ๆ ในภาคตะวันตกเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญ เส้นทางนี้อาศัยรูปแบบการขนส่งหลากหลาย ทั้งทางรถไฟ ทางเรือ และทางถนน เพื่อเชื่อมต่อจากพื้นที่ทางตอนใต้ของจีน เช่น กว่างซี และยูนนาน ผ่านท่าเรือชายฝั่งหรือด่านชายแดน ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

[๒] ระบบ “กรอกข้อมูลครั้งเดียว ส่งเอกสารคู่ขนาน”(一单双报)การป้อนข้อมูลเพียงครั้งเดียวเพื่อสร้างและยื่นเอกสารสำแดงศุลกากร ทั้งในประเทศจีน และไทยพร้อมกัน ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการศุลกากร

[๓] OCR (Optical Character Recognition) คือ การรู้จำอักขระด้วยแสง เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการแปลงข้อความที่อยู่ในรูปภาพหรือเอกสารสแกน เช่น ข้อความที่พิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือ ให้กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลที่คอมพิวเตอร์สามารถประมวลผลได้

[๔] NLP (Natural Language Processing – NLP) เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ที่ผสานรวมความรู้ด้านภาษาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและประมวลผลภาษามนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติทำให้การปฏิบัติงานต่าง ๆ เช่น การค้นหาข้อความทั้งหมด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

[๕]Artificial Intelligence (AI) เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานและยุทธศาสตร์ที่เป็นตัวนำในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเฉพาะความก้าวหน้าในด้านโมเดลภาษาขนาดใหญ่และเทคโนโลยี AI เชิงสร้างสรรค์ที่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานในอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งด้านแรงงาน เครื่องมือ วัตถุในการผลิต และความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิต

ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๗

ที่มา: เข้าถึงรูปภาพวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๗

Chengdu_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน