จีน “เส้นทางสายไหมใหม่” ส่งเสริมการผงาดขึ้นของภาคตะวันตกจีน

20 Dec 2013

เมื่อวันที่ 12 – 13 ธ.ค. 56 ทางการจีนได้จัดการประชุมด้านการพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง นับว่าเป็นครั้งแรกที่จีนจัดการประชุมด้านการพัฒนาความเป็นเมืองขึ้นโดยเฉพาะ และภายใต้นโยบายที่เร่งพัฒนาภาคตะวันตก ประเด็นเรื่องศักยภาพในด้านการพัฒนาความเป็นเมืองของภาคตะวันตกจึงกลายเป็นที่จับตามองของสังคมจีน โดยนักวิเคราะห์เห็นว่า แถบเศรษฐกิจ “เส้นทางสายไหมใหม่” จะกลายเป็นเขตนำร่องในการส่งเสริมการผงาดขึ้นของภาคตะวันตกจีน

เมื่อปี 2551 คณะกรรมการพัฒนาและปฎิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ได้เสนอร่างแบบการพัฒนากลุ่มเมืองในรูปแบบ “2 แนวนอน 3 แนวตั้ง” (两横三纵) ซึ่งกลุ่มเมือง “2 แนวนอน” ได้แก่ เส้นทางยูเรเชีย (Eurasian Land Bridge) หรือที่นิยมเรียกกันว่าเส้นทางสายไหมใหม่ เมืองเหลียนหยุนกั่งในภาคตะวันออก – เมือง Alashankou ในภาคตะวันตก และลุ่มแม่น้ำฉางเจียงจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก ส่วนกลุ่มเมือง “3 แนวตั้ง” ได้แก่ กลุ่มเมืองชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก กลุ่มเมืองที่กระจายตามเส้นทางรถไฟ ฮาร์บิน – ปักกิ่ง – กว่างโจว และกลุ่มเมืองที่กระจายตามเส้นทางรถไฟ เปาโถว – คุนหมิง

ต่อจากนั้นปี 2555 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มเมือง “2 แนวนอน 3 แนวตั้ง” ใน แผนเขตการทำงานหลักทั่วประเทศ อย่างเป็นทางการ และในการประชุมงานด้านการพัฒนาความเป็นเมืองซึ่งปิดฉากไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้นำจีนได้ย้ำถึงการพัฒนาความเป็นเมืองโดยเฉพาะในภาคตะวันตก โดยนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความเป็นเมืองในภาคกลางและภาคตะวันตก

จากการออกแบบเบื้องต้น แถบเศรษฐกิจ “เส้นทางสายไหมใหม่” จะมี 3 เส้นหลัก ได้แก่ เส้นทางที่ใช้เส้นทางยูเรเชียเป็นหลักในภาคเหนือ เส้นทางที่ใช้ท่อส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเป็นหลักในภาคกลาง และเส้นทางที่ใช้ทางหลวงข้ามชาติเป็นหลักในภาคใต้ โดยพื้นที่รวมถึง 5 มณฑลในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (ซินเจียง หนิงเซี่ย กานสู ส่านซี ซานซี) นครฉงชิ่ง มณฑลเสฉวน มองโกเลียใน ตลอดจนขยายขอบเขตไปยังมณฑณอื่นๆ และกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับเอเชียกลาง เอเชียตะวันตกและยุโรปในอนาคต

นายฉิง ยู่ฉาย อธิบดีกรมการพัฒนาภาคตะวันตก NDRC แนะนำว่า ภาคตะวันตกยังมีศักยภาพอย่างมากในการพัฒนาความเป็นเมือง และคิดตามอัตราการพัฒนาความเป็นเมืองเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ต่อปี ทุกปีจะมี 5 ล้านคนกลายเป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมือง พร้อมกับสร้างการบริโภคอย่างน้อย 500 พันล้านหยวน ทั้งนี้ แถบเศรษฐกิจ “เส้นทางสายไหมใหม่” ที่กำลังพัฒนาขึ้นมาใหม่ จะช่วยอัพเกรด “การเร่งพัฒนาภาคตะวันตก” และส่งเสริมการผงาดขึ้นของภาคตะวันตกจีน

เมื่อการพัฒนาขั้นพื้นฐานในพื้นที่เขตภาคกลางและภาคตะวันตกเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญขนาดนี้ ประกอบกับ มาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ เชื่อว่าพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกน่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในฐานการผลิตของจีนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในช่วงนี้

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน