จีนเข้มงวดในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น – เริ่มเก็บภาษีคาร์บอน ปรับอัตราภาษีการปล่อยมูลพิษให้สูงขึ้น

28 May 2013

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้แจก “ร่างกฎหมายภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ให้แก่สมาคมต่างๆ ของจีน ในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษอยู่ในระดับสูง อาทิ สมาคมเหล็กกล้า สมาคมไฟฟ้า สมาคมโลหะที่ไม่อยู่ในกลุ่มเหล็ก (Non-Ferrous Metal) สมาคมถ่านหิน เป็นต้น โดยร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลจีนกำลังจะเริ่มดำเนินการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งปรับอัตราภาษีการปล่อยมลพิษให้สูงขึ้นอีกด้วย

แผนงานคณะรัฐมนตรีของจีนประจำปี 2556 ได้กำหนดให้การร่างกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจเร่งด่วน โดยมีกระทรวงการคลัง กรมภาษีแห่งชาติและกระทรวงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบัน นโยบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการกำหนดอัตราภาษียังคงประสบปัญหาหลายประการ อาทิ อัตราภาษีการปล่อยมลพิษอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยอมจ่ายภาษีการปล่อยมลพิษแทนการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การกำหนดประเภทของสารที่ก่อให้เกิดมลพิษยังขาดความชัดเจน และหน่วยงานของภาครัฐยังขาดการดำเนินการแบบบูรณาการ เป็นต้น

“ร่างกฎหมายภาษีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐประชาชนจีน” มีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยได้มีการปรับอัตราภาษีการปล่อยมลพิษให้สูงขึ้นและเพิ่มประเภทสารมลพิษที่จะต้องถูกเรียกเก็บภาษีจาก 3 ประเภทเป็น 5 ประเภท นอกจากนี้ ยังได้เริ่มการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้เชื้อเพลิงประเภทต่างๆ อาทิ ถ่านหิน น้ำมันดิบ น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น และได้ออกมาตรการจูงใจ โดยการลดหย่อนภาษีคาร์บอนให้แก่บริษัทที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ได้

ขณะนี้ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ การออกกฎหมายข้างต้น ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของจีนในการก้าวสู่การเป็นประเทศประหยัดพลังงาน ท่านใดที่กำลังประกอบธุรกิจหรือมีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจในจีน อย่าลืมศึกษาข้อมูลในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันนโยบายใหม่ ๆ ของจีนนะคะ

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน