จะดีใจหรือเสียใจ? เมื่อค่าแรงงานในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นแล้ว (อัตราสูงสุดในจีน)
29 May 2013ลูกจ้างในเซี่ยงไฮ้ได้รับข่าวดีเมื่อรัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1,620 หยวน (สูงสุดในจีน) ช่วงต้นเดือน เม.ย. 2556 ที่ผ่านมา แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับบรรดานายจ้างที่นอกจากจะต้องแบกภาระทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก
5 ปีผ่านไป.. ค่าแรงเซี่ยงไฮ้โตกว่าเศรษฐกิจภาพรวม
รายงานของสหภาพการค้านครเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ค่าแรงงานเฉลี่ยในเซี่ยงไฮ้เพิ่มขึ้นจากปีละ 34,707 หยวนในปี ค.ศ. 2007 เป็นปีละ 51,968 หยวนในปี ค.ศ. 2011 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 10.6 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจภาพรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ร้อยละ 8.8) โดยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลจากการที่รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมและการยกระดับมาตรฐานการใช้จ่ายของกลุ่มแรงงาน
Miss. Jennifer Feng ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลในการหางานออนไลน์ทาง http://51job.com กล่าวว่า การเพิ่มค่าแรงเป็นหนึ่งในแผนงานที่รัฐบาลจีนต้องการกระตุ้นให้รายได้ประชากรในเมืองและชนบทเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปี ค.ศ. 2020 ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในจีน ค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย และการเดินทาง เป็นต้น ล้วนเป็นภาระหลักของแรงงานที่อาศัยอยู่ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นเหตุทำให้แรงงานจำนวนมากตึงเครียด เนื่องจากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่บริษัทต่างๆ ในเซี่ยงไฮ้ก็ถูกบีบให้ขึ้นค่าแรงไปโดยปริยาย มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถหาแรงงานที่ต้องการได้
นอกจากนี้ นโยบายลูกคนเดียวยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างประชากรในจีนไม่สมดุลและมีผลต่อค่าจ้างที่สูงขึ้น กล่าวคือ จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่จำนวนคนทำงานวัยหนุ่มสาวเริ่มขาดแคลน
แรงงานต่างถิ่นครองเซี่ยงไฮ้.. ค่าแรงต่ำไปมัดใจไม่อยู่!!
จากข้อมูลรายงานการสำรวจสถิติประชากรในเซี่ยงไฮ้พบว่า ในปี ค.ศ. 2012 เป็นครั้งแรกที่จำนวนแรงงานต่างถิ่นมีมากกว่าแรงงานท้องถิ่นในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6.73 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 52.6 ของจำนวนประชากรวัยทำงานในปีนั้นทั้งหมด
ทั้งนี้ แรงงานวัยหนุ่มสาวที่ย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเซี่ยงไฮ้ถือเป็นแรงงานสำคัญในสายงานต่างๆ อาทิ งานบริการ งานโลจิสติกส์ และงานก่อสร้าง เป็นต้น โดยกลุ่มแรงงานดังกล่าวจะมีความคาดหวังในค่าแรงที่ต่ำกว่าแรงงานท้องถิ่น แต่จะมีความขยันขันแข็งมากกว่า เนื่องจากต้องการให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้ในเมืองใหญ่ที่มีค่าครองชีพสูงอย่างเซี่ยงไฮ้
ผลจากการสำรวจจำนวนแรงงานมากกว่า 5,000 คนจากบริษัท 500 แห่งในเซี่ยงไฮ้พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของลูกจ้างกล่าวว่าค่าแรงเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้งในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2007-2011 โดยในส่วนของนายจ้างให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่จะเพิ่มค่าแรงให้แก่คนที่ทำงานในตำแหน่งที่ต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานเหล่านั้นลาออก โดยที่บริษัทต่างชาติและบริษัทเอกชนจีนมักจะเพิ่มค่าแรงให้ลูกจ้างมากกว่ารัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ การเพิ่มค่าแรงอย่างต่อเนื่องได้ช่วยให้ลูกจ้างสามารถอยู่กับนายจ้างได้นานขึ้น โดยข้อมูลผลสำรวจข้างต้นชี้ว่า มากกว่าร้อยละ 90 ของลูกจ้างกล่าวว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนงานเพียง 1 ครั้งในรอบ 5 ปี ซึ่งตัวเลขของลูกจ้างดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่ผ่านมาร้อยละ 10
อย่างไรก็ดี Miss. Jennifer Feng เห็นว่า แม้ว่าจะมีการเพิ่มค่าแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ลูกจ้างเริ่มมีการเปลี่ยนงานบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบางบริษัทเสนออัตราค่าจ้างที่สูงกว่า เพื่อดึงดูดลูกจ้างในสภาวะที่กำลังขาดแคลนแรงงานดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งลูกจ้างบางส่วนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนงานใหม่หากมีเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ดีกว่า
มุมมอง BIC : ค่าแรงเพิ่มใช่ว่าดี.. แต่กลับมีภาระเป็น “เงาตามตัว”
แม้ว่าเซี่ยงไฮ้และเมืองอื่นๆ ในจีนได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประจำปี ค.ศ. 2013 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่าดีใจสำหรับกลุ่มแรงงานทักษะทั่วไป แต่หากวิเคราะห์ดูแล้วอาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับตัวลูกจ้างและนายจ้างเอง กล่าวคือ นายจ้างต้องแบกรับภาระทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และท้ายที่สุดลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บริโภคก็ต้องรับภาระกับค่าครองชีพที่แพงขึ้นตามลำดับ
ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 1,620 หยวนต่อเดือน (สูงที่สุดในจีน) และที่ชั่วโมงละ 14 หยวน ซึ่งดูเหมือนว่าจะต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วในทางปฏิบัติหากนายจ้างใช้อัตราค่าจ้างดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการจ้างก็จะหาคนที่สนใจมาทำงานแทบไม่ได้เลย โดยจากการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า อัตราค่าจ้างพนังงานเสิร์ฟในเซี่ยงไฮ้จะอยู่ที่ประมาณ 2,000 – 2,500 หยวนต่อเดือน ซึ่งนายจ้างจะต้องจัดที่พักหรืออาหารในบางมื้อให้กับลูกจ้าง พร้อมสวัสดิการอื่นๆ และค่าประกันสังคมที่นายจ้างจะต้องจ่ายอีกประมาณร้อยละ 40 ของอัตราค่าจ้างอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนวัยทำงานในจีน ส่งผลให้นายจ้างไม่สามารถใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำในการจ้างงาน และจำเป็นจะต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อให้ได้แรงงานตามที่ต้องการ
สำหรับธุรกิจไทยที่สนใจทำธุรกิจในจีนนั้น หลายท่านอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ต้นทุนทำธุรกิจของจีนอาจไม่ได้ต่ำเหมือนที่คิดเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวเมืองใหญ่ๆ ที่ค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว
____________________________
จัดทำโดย นางสาวรัตกรณ์ วุฒิบูรณ์ เรียบเรียงโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้
แหล่งข้อมูล
1) นสพ. Shanghai Daily ฉบับวันที่ 22 พ.ค. 2556 หัวข้อ “Shanghai workers cash in despite slow economy”
2) http://www.legaldaily.com.cn วันที่ 26 เม.ย. 2556 หัวข้อ“14省市上调最低工资标准 上海1620元为全国最高”