จบไตรมาส 3/2566 “ประเทศไทย” ยังรั้งเก้าอี้คู่ค้าอันดับ 2 ของกว่างซี
10 Nov 2023หลังจบไตรมาสที่ 3 /2566 สถานการณ์การค้าต่างประเทศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับสถานการณ์การค้าต่างประเทศโดยรวมของทั้งประเทศที่หดตัวลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยเฉพาะการค้ากับประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 498,147 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 (YoY) โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 18.6 มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 14 ของประเทศ และอันดับ 3 ในภาคตะวันตก รองจากมณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง
มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมข้างต้น แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้า 250,845 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 (มีมูลค่าเป็นอันดับ 11 ของประเทศ และอันดับ 2 ในภาคตะวันตก) และมูลค่าการส่งออก 247,301 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 (มีมูลค่าเป็นอันดับ 18 ของประเทศ และอันดับ 3 ในภาคตะวันตก)
เมืองการค้าสำคัญ เมืองชายแดนติดเวียดนาม นครเอก และเมืองท่า รอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยเรียกอ่าวตังเกี๋ย) เป็นพื้นที่ที่มีพลวัตการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะเมืองฉงจั่ว (รวมอำเภอระดับเมืองผิงเสียง) มีสัดส่วนการค้าต่างประเทศสูงประมาณ 1 ใน 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ส่วนนครหนานหนิงมีสัดส่วนร้อยละ 18.08 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง
ขณะที่เมืองท่า รอบอ่าวเป่ยปู้ ครองสัดส่วนการค้าต่างประเทศเกือบ 1 ใน 3 ของทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วงเช่นกัน ได้แก่ เมืองท่าฝางเฉิงก่าง ซึ่งรวมอำเภอระดับเมืองตงซิง (สัดส่วนร้อยละ14.79) เมืองท่าชินโจว (สัดส่วนร้อยละ 11.13) และเมืองท่าเป๋ยไห่ (สัดส่วนร้อยละ 5.56)
คู่ค้าสำคัญ “อาเซียน” นั่งเก้าอี้คู่ค้าอันดับหนึ่ง 23 ปีซ้อน มูลค่าการค้า 238,463 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.87 ของมูลค่ารวม โดยมีเวียดนามและไทยเป็น 2 คู่ค้ารายใหญ่
- 10 อันดับคู่ค้าของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ไทย (อันดับ 2) ฮ่องกง บราซิล สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ชิลี แคนาดา เกาหลีใต้ และซาอุดิอาระเบีย
- 10 อันดับแหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม บราซิล ออสเตรเลีย ไทย (อันดับ 4) ชิลี แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และไต้หวัน
- 10 อันดับตลาดส่งออกของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง ไทย (อันดับ 3) สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เม็กซิโก เกาหลีใต้ และเบลเยี่ยม
การส่งออกสินค้า กลุ่มสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ อุปกรณ์เครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้าไฮเทค (ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผงวงจรรวม) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าเกษตร (พืชผักและเห็ด ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ) สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม CBEC (Cross-border E-commerce) และของที่ทำจากพลาสติก
การนำเข้าสินค้า กลุ่มสินค้าที่นำเข้า ได้แก่ สินแร่โลหะ (เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม) อุปกรณ์เครื่องจักรกลไฟฟ้า สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม CBEC สินค้าเกษตร (ถั่วเหลือง ผลไม้และถั่วเปลือกแข็ง) สินค้าไฮเทค น้ำมันดิบ ถ่านหินและถ่านโค้ก วัสดุทองแดง เยื่อกระดาษ และเคมีภัณฑ์อินทรีย์
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นมณฑลที่มีปริมาณการนำเข้า “ทุเรียนสด” มาเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง(5 อันดับแรก ได้แก่ กวางตุ้ง กว่างซี ยูนนาน เจ้อเจียง และฉงชิ่ง)โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา กว่างซีนำเข้าทุเรียนสด ในปริมาณ 2.2 แสนตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.75 ของทั้งประเทศ ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 7,342 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ17.75 ของทั้งประเทศเช่นกัน
แหล่งนำเข้าทุเรียนสดของกว่างซีมาจาก 3 ประเทศ คือ ไทย ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 52.524 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด (1.15 แสนตัน มูลค่า 4,131 ล้านหยวน) เวียดนาม ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 47.45 (1.04 แสนตัน มูลค่า 3,211 ล้านหยวน) และฟิลิปปินส์ ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.004 (9.8 ตัน มูลค่า 2.54 แสนหยวน)
ด่านการค้าสำคัญ ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (ติดจังหวัด Lang son ของเวียดนาม) มีปริมาณรถสินค้าผ่านเข้า-ออกสะสม 3.15 แสนคัน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.88 (YoY) สร้างสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี ปริมาณนำเข้า-ส่งออกสินค้า 3.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.83 (YoY) มูลค่าสินค้านำเข้า-ออก 325,251 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 214.2 (YoY)
การค้ากับประเทศไทย
ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน ปี 2566 ประเทศไทยยังคงรักษาตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง สองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 30,858 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.78 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.19 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของกว่างซี โดยประเทศไทยเกินดุลการค้าเขตฯ กว่างซีจ้วง 1,388 ล้านหยวน
ในภาพรวมช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 ในประเทศจีน (รองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ซานตง และฝูเจี้ยน)
หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าจากไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศ ขยับขึ้น 2 อันดับจากช่วงเดือนกันของปีก่อนหน้า (รองจากมณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เจ้อเจียง เจียงซู และซานตง) และการส่งออกไปไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 7 ของประเทศ ขยับขึ้น 2 อันดับจากช่วงเดือนกันของปีก่อนหน้า (รองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ ซานตง และฝูเจี้ยน)
(3) เมืองการค้าสำคัญกับไทย ได้แก่ อำเภอระดับเมืองผิงเสียง (มีมูลค่า 21,646 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ71.19 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง) นครหนานหนิง (สัดส่วนร้อยละ 18.78) เมืองชินโจว (สัดส่วนร้อยละ 2.97) เมืองเป๋ยไห่ (สัดส่วนร้อยละ 2.96) และเมืองอู๋โจว (สัดส่วนร้อยละ 0.91)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 23 และ 24 ตุลาคม 2566
เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署)
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)