ค่าแรงขั้นต่ำจีนขยายตัวอีก แซงหน้าประเทศในยุโรป
24 Oct 201718 เมือง/มณฑล ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ เมืองเซินเจิ้น นครเทียนจิน กรุงปักกิ่ง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง มณฑลจี๋หลิน เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน มณฑลหูเป่ย์ มณฑลเหอหนาน มณฑลซานซี มณฑลฝูเจี้ยน ซ่านซี กุ้ยโจว เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย มณฑลกานซู่ มณฑลหูหนานและมณฑลชิงไห่ พร้อมใจกันปรับค่าแรงขั้นต่ำ โดยค่าแรงขั้นต่ำของกรุงปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้และเมืองเซินเจิ้น สูงกว่าประเทศบัลแกเรียในสหภาพยุโรปแล้ว ในขณะที่พื้นที่ที่มีค่าแรงต่ำอย่าง มณฑลอันฮุย เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลเฮยหลงเจียง มีค่าแรงที่ใกล้เคียงกับอินเดียและเวียดนาม
ในปี 2559 สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมจีน China’s Ministry of Human Resources and Social Security (MOHRSS) ยกเลิกระเบียบที่กำหนดให้แต่ละเมืองปรับค่าแรงขั้นต่ำในทุก 2 ปี และประกาศให้แต่ละมณฑลสามารถปรับปรุงค่าแรงขั้นต่ำได้ตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้อย่างอิสระและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
รัฐบาลท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ปรับค่าแรง โดยอาศัยปัจจัยหลายประการ อาทิ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ค่าแรงเฉลี่ย ค่าครองชีพและราคาที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ค่าแรงในจีนปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะก้าวเข้าสู่ช่วงชะลอตัวของเศรษฐกิจ อนึ่ง รัฐบาลของมณฑลหรือเมืองใหญ่ ๆ ในจีน ยังคงมีการปรับขึ้นค่าแรง เนื่องจากต้องการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของตนเอง ทั้งในด้านการจัดเก็บภาษีและเงินหมุนเวียนในระบบ รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของระบบอุตสาหกรรมการผลิตที่อาศัยแรงงานมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าหลายประเภทเพิ่มสูงขึ้น
อุตสาหกรรมการผลิตในมณฑลกวางตุ้งก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักของจีนที่ใช้ผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ส่งผลให้รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งออกมาตรการช่วยเหลือและหาทางออก โดยประกาศนโยบายสนับสนุนด้านการลงทุน ในพื้นที่เมืองชั้นในที่มีค่าแรงต่ำกว่า อาทิ เมืองเม่าหมิง เมืองหยุนฝู เมืองจ้าวชิ่งและเมืองชิงหย่วน ทั้งนี้เพื่อลดแรงกดดันให้แก่ผู้ประกอบการและรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่ รวมถึงเป็นการกระจายรายได้ไปสู่เมืองชั้นในมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบริการก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหาร โรงแรมหรือธุรกิจบริการทั่วไปที่ใช้ทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันมหาศาลให้แก่ธุรกิจนั้นๆ การเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการลงทุน โดยนำปัจจัยด้านค่าแรงมาพิจารณาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงอย่างยิ่ง
ท่านสามารถติดตามข่าวและบทความเกี่ยวกับธุรกิจในจีนที่น่าสนใจเพิ่มเติม ได้จากเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com หรือเฟสบุคแฟนเพจ www.facebook.com/thaibizchina โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน