ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าทางรางและทางทะเลสายเอเชีย – ยุโรป (นครเฉิงตู – เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า GBA) ออกเดินทางเที่ยวแรกแล้ว

15 Nov 2024

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ ขบวนรถไฟขนส่งสินค้าทางรางและทางทะเลสายเอเชีย – นครเฉิงตู – ยุโรป (นครเฉิงตู – เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า Greater Bay Area: GBA) ได้ออกเดินทางจากท่าเรือรถไฟนานาชาตินครเฉิงตู (Chengdu International Railway Port) หลังจากมาถึงท่าเรือเหยียนเถียน ตามตารางการขนส่งของท่าเรือเหยียนเถียนและฮ่องกง ขบวนรถไฟจะถูกขนส่งทางทะเลไปยังเมืองออร์ฮูสในเดนมาร์ก เมืองลอสแอนเจลิสในสหรัฐอเมริกา และเมืองอื่น ๆ นับเป็นการขยายเครือข่ายการขนส่งของขบวนรถไฟนานาชาตินครเฉิงตูให้ครอบคลุมถึง ๑๑๕ เมือง

จากรายงานพบว่า สินค้าชุดนี้ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ “ผลิตในมณฑลเสฉวน (Made in Sichuan)” เช่น เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เครื่องจักรกล ซึ่งมีการผลิตในนครเฉิงตู เมืองเหม่ยชาน และเมืองอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกจัดส่งโดยบริษัทแพลตฟอร์มรถไฟนานาชาตินครเฉิงตู (Chengdu International Train Platform Company) ให้บริการแบบครบวงจรผ่านระบบ “One-time Booking, Single-point Handling, Unified Documentation, and Single-payment Settlement.”[๑]  นอกจากนี้ ด้วยการสนับสนุนของบริษัทการรถไฟแห่งประเทศจีน สาขานครเฉิงตู สถานีเฉิงตูเป่ยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรการขนส่ง และให้ความสำคัญกับการจัดหารถไฟคุณภาพสูง ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งของรถไฟขบวนนี้ลดลงเหลือเพียงประมาณ ๔๐ ชั่วโมง และลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมลงกว่าร้อยละ ๔๐ โดยที่การขนส่งเปลี่ยนจากทางถนนเป็นทางรางเกินกว่าร้อยละ ๖๐ ซึ่งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์อย่างมีนัยสำคัญและส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งที่ยั่งยืน

การขนส่งแบบทางรางและทางทะเลรวมกันนี้เป็นรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้เมืองชายฝั่งทะเลสามารถขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจ และช่วยให้พื้นที่ภายในประเทศเปิดการเข้าถึงเมืองชายฝั่งทะเลมากขึ้น ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของบริษัทและยกระดับมาตรฐานท่าเรือให้ทันสมัย นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ท่าเรือรถไฟนานาชาตินครเฉิงตูมุ่งเน้นการพัฒนาการขนส่งจากพื้นที่ในประเทศสู่เมืองชายฝั่งทะเลให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยในการประชุม “Chengdu Qingbaijiang and Hong Kong Economic and Trade Cooperation Exchange—Chengdu International Railway Port Economic and Technological Development Zone Investment Promotion Conference” เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัทการลงทุนและพัฒนาท่าเรือรถไฟนานาชาตินครเฉิงตู จำกัด ได้ร่วมมือกับบริษัทการพัฒนาระเบียงการค้าทางบก – ทางทะเลสายใหม่ มณฑลเสฉวน จำกัด ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่งกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า โดยจะร่วมกันพัฒนาขบวนรถไฟคุณภาพสูงบนเส้นทางขบวนรถไฟขนส่งสินค้าทางรางและทางทะเลสายเอเชีย – ยุโรป (นครเฉิงตู – เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า Greater Bay Area: GBA)

ด้วยการใช้ประโยชน์จากขบวนรถไฟคุณภาพสูงนี้ บริษัทลงทุนท่าเรือนครเฉิงตูได้ส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางขนส่งระหว่าง “นครเฉิงตู – เขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA)” อย่างเต็มที่และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ ราคาย่อมเยาว์ และเสถียร พร้อมอำนวยความสะดวกมากขึ้นโดยอาศัยทรัพยากรการเดินเรือจากท่าเรือเหยียนเถียนและฮ่องกง เครือข่ายของขบวนรถไฟนานาชาตินครเฉิงตูที่ขยายครอบคลุมไปยังประเทศและภูมิภาคต่างๆ เช่น อเมริกาเหนือและออสเตรเลีย จะส่งเสริมให้สินค้าที่มีคุณภาพจากมณฑลเสฉวนเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น

ศุลกากรชิงไป่เจียงได้ร่วมมือกับศุลกากรท่าเรือเพื่อชี้แจงข้อกำหนดการควบคุมการขนส่งหลายรูปแบบ อธิบายนโยบายให้บริษัทขนส่งและบริษัทที่เกี่ยวข้องทราบ พร้อมแนะนำการพัฒนาระบบการผ่านพิธีการศุลกากรหลายรูปแบบให้เหมาะสม เพื่อให้การผ่านพิธีศุลกากรและการตรวจสอบการปล่อยสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น

ขั้นต่อไป ท่าเรือรถไฟนานาชาตินครเฉิงตูจะกระชับความร่วมมือกับท่าเรือชายฝั่งทะเลให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มุ่งเน้นการใช้บทบาทของเส้นทางขนส่งสินค้าทางรางและทางทะเลสายเอเชีย – ยุโรป ในการสร้างแพลตฟอร์มบริการแบบเปิดภายในประเทศ และอาศัยข้อได้เปรียบทางการค้าของท่าเรือชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมธุรกิจในมณฑลเสฉวน เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาการใช้ระบบห่วงโซ่อุปทานด้านการขนส่งขบวนรถไฟนานาชาติให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากฮ่องกงเข้าสู่พื้นที่ภายในประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้รูปแบบการขนส่งในด้านการเชื่อมโยงระบบทางรางและทางทะเลอย่างครบวงจร ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และขยายโอกาสทางการค้า ผ่านระบบ “One-time Booking, Single-point Handling, Unified Documentation, and Single-payment Settlement” ซึ่งช่วยลดกระบวนการที่ซับซ้อน สร้างความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้ส่งออก หากประเทศไทยสามารถนำแนวคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศผ่านระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาผ่านระบบรูปแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น


[๑] “One-time Booking, Single-point Handling, Unified Documentation, and Single-payment Settlement.” หมายถึงกระบวนการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายสำหรับลูกค้า และเป็นแนวทางที่ช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการขนส่ง ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีความหมายดังนี้:

– One-time Booking (การมอบหมายครั้งเดียว): ลูกค้าสามารถมอบหมายการขนส่งทั้งหมดให้กับผู้ให้บริการเพียงครั้งเดียว โดยไม่ต้องติดต่อหลายฝ่าย

– Single-point Handling (การรับจัดการในห้องเดียว): ผู้ให้บริการรับผิดชอบการจัดการทั้งหมดในที่เดียว ทำใหhกระบวนการเป็นไปอย่างราบรื่น

– Unified Documentation (เอกสารเดียวตลอดเส้นทาง): ใช้เอกสารการขนส่งใบเดียวสำหรับการขนส่งทั้งหมดลดความซับซ้อนของเอกสาร

– Single-payment Settlement (การชำระเงินครั้งเดียว): ลูกค้าชำระเงินเพียงครั้งเดียวสำหรับการขนส่งทั้งหมด ไม่ต้องชำระหลายครั้ง

ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
๑. http://sc.people.com.cn/n2/2024/1101/c345167-41027800.html
๒. https://www.sc.gov.cn/10462/10464/10797/2023/11/20/f751f4d943dd400ebe2f00db30cd47a3.shtml
ที่มารูปภาพ: กรมโฆษณาชวนเชื่อของคณะกรรมการเขตชิงไป่เจียง
๓. http://sc.people.com.cn/n2/2024/1101/c345167-41027800.html

GBAรถไฟขนส่งสินค้าMade in SichuanChengdu International Railway

Chengdu_editor

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน