การลงทุนภาคอุตสาหกรรมของนครเฉิงตูในปี ๒๕๖๗ เติบโตร้อยละ ๔๘.๗
20 Feb 2025
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ มีการจัดประชุมว่าด้วยงานด้านเศรษฐกิจสารสนเทศและเศรษฐกิจใหม่ของนครเฉิงตู ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลจากที่ประชุมว่า การลงทุนภาคอุตสาหกรรมของนครเฉิงตูในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ เติบโตร้อยละ ๔๘.๗ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศและทั้งมณฑล นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังสามารถขยับอันดับเมืองอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง ๑๐๐ อันดับแรกของประเทศจากอันดับที่ ๙ ขึ้นสู่อันดับที่ ๘
ที่ประชุมเปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของนครเฉิงตูขยายตัวร้อยละ ๔.๘ เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกร้อยละ ๒.๒ และเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ร้อยละ ๐.๗ นครเฉิงตูยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพันธบัตรพิเศษระยะยาวกว่า ๖๕๐ ล้านหยวน (๙.๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับโครงการ “สองโครงการใหญ่และสองโครงการใหม่” (โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและภาคการผลิตที่สำคัญ โครงสร้างพื้นฐานใหม่และการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่) นอกจากนี้ โครงการสินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับการอัปเกรดอุปกรณ์ชุดแรกของประเทศที่นครเฉิงตูได้รับอนุมัติ มีจำนวนโครงการ มูลค่าการลงทุน และความต้องการสินเชื่อสูงเป็นอันดับหนึ่งของมณฑลเสฉวน
การพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่เร่งตัวขึ้น
นครเฉิงตูเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยอุตสาหกรรมที่มีจุดแข็งเฉพาะทางได้รับการยกระดับอย่างมั่นคง โครงการสำคัญ ๑๓๐ โครงการ อาทิ โครงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของ BYD และศูนย์นวัตกรรมระบบอัจฉริยะเฟสแรกของ BOE[๑] (Smart System Innovation Center Phase I) ได้เริ่มดำเนินการผลิตแล้ว ขณะเดียวกัน โครงการฐานการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ของ Geely (โครงการที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ที่ใช้พลังงานอื่นๆ ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ที่มีกำลังการผลิต ๓๕๐,๐๐๐ คันต่อปี ก็ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ นครเฉิงตูสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับการอนุมัติให้ผลิตยาชีวภาพชนิดใหม่ (First-in-Class)[๒] ๖ รายการ เช่น Supuqibai monoclonal antibody injection และ Qinwei granules ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๑๕ ของทั้งประเทศ นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังมุ่งเน้นการวางรากฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยคัดเลือกและสนับสนุน ๓๐ โครงการต้นแบบ อาทิ รถยนต์บินได้ อุปกรณ์ 6G[๓] และอุปกรณ์สื่อสารควอนตัม ๙ ประเภท ซึ่งได้รับการรับรองให้เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตระดับมณฑลกลุ่มแรก นครเฉิงตูยังเป็นหัวเรือใหญ่หรือมีส่วนร่วมในการสร้างเส้นทางอุตสาหกรรมใหม่ระดับมณฑลถึง ๑๘ เส้นทาง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ ๗๐ ของทั้งมณฑลเสฉวน
การส่งเสริมธุรกิจและพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ ระบบเศรษฐกิจสารสนเทศของนครเฉิงตูได้นำร่องดำเนินโครงการ “เยี่ยมหมื่นกิจการ แก้ปัญหา ปรับสภาพแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนา” โดยจนถึงวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๘ ได้มีการเยี่ยมชมและให้บริการแก่บริษัทอุตสาหกรรมแล้ว ๑๕,๘๒๓ แห่ง และรวบรวมปัญหาและข้อเรียกร้องจากบริษัทต่าง ๆ จำนวน ๕,๗๐๔ รายการ โดยสามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว ๕,๖๙๔ รายการ คิดเป็นอัตราการแก้ไขปัญหาร้อยละ ๙๙.๘๖ และมีการติดตามผลกว่า ๒,๓๐๐ กรณี ซึ่งได้รับความพึงพอใจจากภาคธุรกิจในอัตราร้อยละ ๙๙.๖
สำหรับการดำเนินโครงการ “สร้างนิคมให้เต็มศักยภาพ” นครเฉิงตูได้ใช้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมในเขตนิคมต่าง ๆ รวม ๗๖.๗ ล้านหยวน (๑๐.๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมคัดเลือกนิคมอุตสาหกรรม ๔ แห่งให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวและคาร์บอนต่ำระดับนคร โดยนิคมพัฒนาเศรษฐกิจต้าอี้และนิคมพัฒนาเศรษฐกิจชวงหลิวได้รับการรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวระดับมณฑล
ความก้าวหน้าในด้านนวัตกรรมและการลงทุน
ที่ประชุมยังรายงานว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ นครเฉิงตูมีจำนวนบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับประเทศ (Little Giants) เพิ่มขึ้น ๖๘ ราย รวมเป็น ๓๕๔ ราย ซึ่งทำให้นครเฉิงตูมีจำนวนบริษัทกลุ่มนี้มากเป็นอันดับ ๗ ของประเทศ และอันดับ ๔ ในบรรดาเมืองระดับรองจากมณฑล นับเป็นสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์ของนครเฉิงตู
นอกจากนี้ นครเฉิงตูยังมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ A-Share[๔] เพิ่มขึ้น ๔ แห่ง และมีบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีคลาวด์เพิ่มขึ้นประมาณ ๒๒,๐๐๐ แห่ง ขณะที่จำนวนบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นสุทธิ ๕๒๗ แห่ง ซึ่งสูงสุดในรอบ ๑๕ ปี และมากกว่าปี พ.ศ. ๒๕๖๖ ถึง ๒.๕ เท่า
นครเฉิงตูยังดำเนินโครงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นสูง โดยสามารถดึงดูดโครงการที่เสริมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมได้ ๓๖๗ โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า ๕๒๐,๐๐๐ ล้านหยวน (๗๒,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับอุตสาหกรรมจอแสดงผลขั้นสูง นครเฉิงตูสามารถพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมได้ครบถ้วนถึงร้อยละ ๗๓ และมีอัตราการสนับสนุนจากซัพพลายเชนในท้องถิ่นร้อยละ ๔๖ ส่วนอุตสาหกรรมระบบรางและขบวนรถไฟสามารถเพิ่มอัตราการผลิตชิ้นส่วนในท้องถิ่นเป็นมากกว่าร้อยละ ๗๐
ศักยภาพของการพัฒนาอุตสาหกรรมในนครเฉิงตูและโอกาสสำหรับประเทศไทย
๑. ศักยภาพของนครเฉิงตูในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมขั้นสูงและบทเรียนสำหรับไทย
การที่นครเฉิงตูสามารถเพิ่มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ ๔๘.๗ สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางเชิงรุกของภาครัฐในการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้แนวทางการพัฒนา “สองโครงการใหญ่และสองโครงการใหม่” ซึ่งให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานหลักและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคต อาทิ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรม EEC (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ให้มีความแข็งแกร่งขึ้น
๒. โอกาสของไทยในการส่งออกและเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรม
การพัฒนาอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์พลังงานใหม่ และเทคโนโลยีจอแสดงผล ของนครเฉิงตูเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่เป็นซัพพลายเชนสามารถขยายการค้าและการลงทุนร่วมกับบริษัทจีนตัวอย่างเช่น การส่งออก วัตถุดิบอิเล็กทรอนิกส์ โลหะหายาก หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ที่ไทยมีศักยภาพ อาจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนครเฉิงตูได้
๓. โอกาสทางธุรกิจในภาคชีวเภสัชกรรมและนวัตกรรมสุขภาพ
การที่นครเฉิงตูได้รับอนุมัติยา First-in-Class จำนวน ๖ รายการ แสดงถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมชีวเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยตามนโยบาย BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว) บริษัทไทยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรหรือยาแผนปัจจุบัน สามารถขยายตลาดมายังนครเฉิงตู โดยเฉพาะการร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D)
๔. การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียวและความยั่งยืน
นครเฉิงตูใช้เงินอุดหนุนกว่า ๗๖.๗ ล้านหยวน (๑๐.๗๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวและลดคาร์บอน ไทยสามารถนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว
๕. การสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพเทคโนโลยี
นครเฉิงตูสามารถเพิ่มบริษัท “Little Giants” ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีเทคโนโลยีเฉพาะทาง ถึง ๖๘ ราย รวมเป็น ๓๕๔ ราย ประเทศไทยสามารถใช้แนวทางเดียวกันโดยส่งเสริม SMEs และสตาร์ทอัพเทคโนโลยี ผ่านกองทุนส่งเสริมสตาร์ทอัพ หรือโครงการสนับสนุนการเข้าถึงตลาดทุน เช่นเดียวกับที่นครเฉิงตูมีบริษัทจดทะเบียน A-Share เพิ่มขึ้น
ความก้าวหน้าของนครเฉิงตูในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ สะท้อนถึง แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นระบบและมีทิศทางชัดเจน ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะใน การดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมอุตสาหกรรมอนาคต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง
[๑] BOE (京东方: Jingdongfang) เป็นบริษัทชั้นนำของจีนในด้านเทคโนโลยีจอแสดงผลและเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทนี้เชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตจอ LCD, OLED และเทคโนโลยีหน้าจอขั้นสูงสำหรับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป ทีวี และอุตสาหกรรมอื่น ๆ
[๒] First-in-Class ในอุตสาหกรรมชีวเภสัชกรรมหมายถึง ยาที่มีเป้าหมายทางชีวภาพ (biological target) หรือกลไกการออกฤทธิ์ (mechanism of action) ใหม่ที่ยังไม่เคยมีการพัฒนาและอนุมัติใช้มาก่อน ซึ่งแตกต่างจาก Best-in-Class ที่หมายถึง ยาที่อาจไม่ใช่ตัวแรกของกลุ่มแต่มีประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยดีที่สุดในกลุ่มเดียวกัน
[๓] อุปกรณ์ 6G เป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายรุ่นต่อไปที่คาดว่าจะพัฒนาและเปิดใช้งานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดย 6G (หรือ 6th Generation) จะเป็นการวิวัฒนาการที่สำคัญจาก 5G โดยมีการเพิ่มประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน เช่น ความเร็วในการเชื่อมต่อ ความหน่วงต่ำ การเชื่อมต่อที่มีความหนาแน่นสูงขึ้น และการรองรับการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT (Internet of Things) และการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการความเสถียรสูง
[๔] ตลาดหลักทรัพย์ A-Share หมายถึง หุ้นของบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของจีนแผ่นดินใหญ่ ตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญสำหรับ A-Share ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange – SSE) และ ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น (Shenzhen Stock Exchange – SZSE)
ที่มา: เข้าถึงข้อมูลวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
๑. http://sc.people.com.cn/n2/2025/0122/c345167-41116809.html
๒. https://www.finnomena.com/editor/china-equity-fund/
ที่มารูปภาพ
๑. 699pic.com