การขนส่งทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนในปี 2563 “ฟื้นเร็ว” ขยายตัวเป็นบวก แซงหน้าไต้หวันเป็นครั้งแรก
29 Apr 2021โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
ในปี 2563 การลงทุนในด้านการขนส่งทางบกและทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนมีมูลค่ากว่า 1.05 แสนล้านหยวน ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะการขนส่งทางทะเลของมณฑลฝูเจี้ยนโดยมีปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือของมณฑลฝูเจี้ยนกว่า 17 ล้านตู้มาตรฐาน น้ำหนักรวมกว่า 600 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับ 4 ของจีน โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ขนส่งผ่านท่าเรือฝูเจี้ยนแซงหน้าการขนส่งผ่านท่าเรือของไต้หวันเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ในปี 2563 มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยเหมินมากกว่า 11.41 ล้านตู้มาตรฐาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลกคิดเป็นน้ำหนักกว่า 207 ล้านตัน
ปัจจุบัน ท่าเรือฝูเจี้ยนมีกำลังการขนส่งสินค้าประมาณ 800 ล้านตัน และมีการเปิดเส้นทางการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ 139 เส้นทาง เชื่อมต่อกับ 140 ท่าเรือของกว่า 60 ประเทศ/พื้นที่ทั่วโลก โดยฝูเจี้ยนตั้งเป้าหมายภายในปี 2578 จะมีการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือฝูเจี้ยนให้ทะลุ 880 ล้านตัน และการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยเหมินทะลุ 300 ล้านตัน และการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยเหมินมากกว่า 20 ล้านตู้มาตรฐาน ควบคู่กับการออกมาตรการส่งเสริมการพัฒนาท่าเรือของมณฑลฝูเจี้ยนให้เป็นสากล ซึ่งเน้นการลดภาษีและขั้นตอนด้านศุลกากรในการนำเข้าและส่งออกสินค้า และส่งเสริมการสร้างความร่วมมือกับท่าเรือระหว่างประเทศ
สิ่งที่ไทยเรียนรู้ได้ เมืองเซี่ยเหมินได้สร้างความร่วมมือทางการขนส่งทางทะเลระหว่างท่าเรือน้ำลึกสงขลาของไทยเมื่อปลายปี 2563 ที่ผ่านมา โดยนับเป็นเส้นทางเดินเรือสายที่ 32 ที่เชื่อมต่อท่าเรือเซี่ยเหมินกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้นโยบาย “การขนส่งตามเส้นทางสายไหมทางทะเล” ปัจจุบัน ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินเน้นการพัฒนาสู่ความเป็นท่าเรืออัจฉริยะโดยใช้ระบบจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) และเทคโนโลยี 5G ซึ่งขณะนี้ ในจีนมีการใช้ระบบดังกล่าวเฉพาะที่ท่าเรือเซี่ยเหมิน ท่าเรือชิงต่าว และท่าเรือเซี่ยงไฮ้ การนำเทคโนโลยีก้าวหน้าดังกล่าวเข้ามาประยุกต์ใช้ทำให้ท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินสามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าที่เข้าเทียบท่าได้เต็มอัตราร้อยละ 100 (ไม่ต้องรอคิวเข้าเทียบท่า)
ขณะที่ไทยมีท่าเรือแหลมฉบังที่มีศักยภาพโดดเด่นโดยมีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ต่อปีมากกว่า 8 ล้านตู้มาตรฐานในปี 2562 อยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก จึงนับเป็นโอกาสที่ไทยจะพัฒนาความร่วมมือกับท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีการขนส่งเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ ฝ่ายจีนได้มีข้อเสนอจัดทำร่างความตกลงระหว่างท่าเรือเมืองเซี่ยเหมินและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายไทยโดยในเบื้องต้นท่าเรือแหลมฉบังให้ความเห็นชอบในหลักการและคาดว่าน่าจะมีการลงนามได้ภายในปี 2564
แหล่งอ้างอิง http://fj.news.163.com/21/0311/09/G4Q29R6G04418D0R.html
https://www.163.com/dy/article/G34NOFJ80525D7PP.html
http://www.fj.chinanews.com/news/fj_ttgz/2021/2021-01-15/479230.html