กว่างซีเข็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ สานฝัน “เส้นทางสายไหมทางทะเล”
13 Feb 2014เว็บไซต์ข่าวอ่าวเป่ยปู้ : กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้มีทิศทางชัดเจนยิ่งขึ้น ภายหลังแผนงานพัฒนาความร่วมมือได้ผ่านการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาท่าเรือ โลจิสติกส์ และการเงิน
(17 ม.ค.57) นครหนานหนิงได้เป็นเจ้าภาพจัด “งานประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้จีน-อาเซียน” (China-ASEAN Pan Beibu-Gulf Economic Cooperation Senior Economic Officials Meeting, 中国–东盟泛北部湾经济合作高官会)
ในการประชุมฯ ได้มีการเห็นชอบอนุมัติ “แผนทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้จีน-อาเซียน” (China-ASEAN Pan Beibu-Gulf Economic Cooperation Roadmap, 中国–东盟泛北部湾经济合作路线图) ซึ่งมีประเด็นสาระสำคัญ ดังนี้
ความเป็นมาของกรอบยุทธศาสตร์ฯ เริ่มจากเมื่อเดือน ต.ค.56 ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนของนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีจีน
นายสีฯ กล่าวว่า ประเทศจีนพร้อมจะกระชับความร่วมมือทางทะเลกับอาเซียน พัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนความร่วมมือทางทะเล และร่วมกันสร้าง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” แห่งศตวรรษที่ 21
อนึ่ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ เป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่เน้นความร่วมมือทางทะเลเป็นหลัก โดยเฉพาะ “ท่าเรือ” และ “โลจิสติกส์” ดังนั้น การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ทางทะเลผ่านกรอบความร่วมมือดังกล่าวจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดัน “เส้นทางสายไหมทางทะเล” แห่งศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แผนทิศทางความร่วมมือฯ” จัดทำขึ้นโดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB เป็นหัวเรือหลัก โดยร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการจากจีน-อาเซียน รวมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ
ตามรายงาน ร่างกรอบยุทธศาสตร์ฯ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
หนึ่ง การดำเนินงานในระยะปัจจุบัน เป็นการวาง “กรอบยุทธศาสตร์” การกำหนดกลไก เป้าหมาย(ระยะไกล) รวมทั้งการให้การสนับสนุนแก่หน่วยงานรับผิดชอบในด้านการกำหนดนโยบายและสาขาการพัฒนาในลำดับต้น ๆ (Priority)
สอง การดำเนินงานในระยะที่ 2 เป็นการกำหนด “แผนปฏิบัติการ” ระหว่างปี 2557-2562 เป็นการจัดทำรายการโครงการความร่วมมือชุดแรก รวมถึงแนวทางการปฏิบัติงานหลักในระยะ 5 ปีแรก
ทั้งนี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมีการติดตามประเมินผลความคืบหน้าภายหลังแผนงานดำเนินการไปแล้ว 3 ปี เพื่อนำผลการประเมินดังกล่าวไปใช้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการในระยะกลาง และปีสุดท้าย (ปีที่ 5) ของแผนปฏิบัติการจะดำเนินการประเมินผลขั้นสุดท้ายอีกครั้ง เพื่อนำไปพัฒนากรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ในระยะต่อไป
ในระยะเริ่มต้น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้จะเน้นให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนในโครงการเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการพัฒนรูปแบบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ๆ
กรอบความร่วมมือดังกล่าวให้ความสำคัญกับสาขาที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นพิเศษ อาทิ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การค้า และการลงทุน ให้ความสำคัญกับระบบกลไกตลาด และผลักดันความร่วมมืออย่างสมดุลระหว่างหน่วยงานภาครัฐและวิสาหกิจเอกชน
ความร่วมมือ “ท่าเรือ” และ “โลจิสติกส์” : พัฒนาท่าเรือชั้น 3 สู่การเป็น “ศูนย์กลางการค้าระดับภูมิภาค”
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนักวิชาการได้ใช้กรณีศึกษาจากกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่น ๆ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ผลสำเร็จของการดำเนินงานขึ้นอยู่กับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด กล่าวคือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่น้อยให้กับสาขาจำนวนมากจะส่งผลให้ความสำเร็จเป็นไปได้ยาก
กลุ่มนักวิชาการ ให้ข้อเสนอแนะว่า การดำเนินงานในชั้นต้นนั้น ต้องจำกัดสาขาความร่วมมือในวงแคบ โดยให้น้ำหนักกับความร่วมมือด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ ระบบการเงินและเงินทุน
ความร่วมมือด้านท่าเรือและโลจิสติกส์ ครอบคลุมด้านท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ ท่าเรือพักตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือบก (Inland Container Depot : ICD) เขตโลจิสติกส์และเขตอารักขาศุลกากร ถนนและเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ ระบบนิเวศวิทยาทางทะเล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางทะเล (ซึ่งล้วนแต่เป็นสขาที่กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคอื่น ๆ ต่างมองข้ามหรือละเลย)
นักวิชาการ เห็นว่า ประเทศสมาชิกต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทางบกกับทางทะเล รวมถึงพื้นที่ในแผ่นดินกับพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล
นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับท่าเรือบก เนื่องจากท่าเรือบกมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าข้ามประเทศแบบไร้ตะเข็บ ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันการพัฒนาของธุรกิจเอกชน
แนวทางการดำเนินการตาม “แผนทิศทางความร่วมมือฯ” ระบุว่า ประเทศสมาชิกสามารถพัฒนาเส้นทางเดินเรือที่มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นระหว่างท่าเรือในพื้นที่จีนตอนใต้กับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยอาศัยโครงสร้างท่าเรือที่มีความทันสมัยของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการค้าภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคได้อย่างดียิ่งขึ้น
การสร้างและเชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือใหม่ของท่าเรือน้ำลึก พัฒนาท่าเรือทะเลชั้น 3[*] ไปเป็นศูนย์กลางการค้าระดับภูมิภาค เพื่อรองรับสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน
[*]คำอธิบายเพิ่มเติม : ท่าเรือชั้น 3 หมายถึง ท่าเรือที่มีระดับความสำคัญและมีปริมาณการขนส่งอยู่ในระดับกลาง
ขณะเดียวกัน กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้จะต้องรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในทะเลรวมถึงพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเล การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การสูญเสียทางทะเลและความหลายหลายทางชีวภาพทางทะเล ความเสื่อมโทรมทางทะเลและธุรกิจประมง รวมถึงปัญหามลพิษบริเวณท่าเรือและเส้นทางเดินเรือ
ความร่วมมือทางการเงิน : เน้นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เห็นผลเร็ว
“การเงิน” เป็นสาขาที่ต้องให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ อีกหนึ่งสาขาภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้ โดยเฉพาะการเงินเพื่อการค้า (Trade Finance) การเงินสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency Finance) และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Investment Facilitation)
ธนาคาร ADB เผยข้อมูลปี 2554 พบว่า วิสาหกิจในประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียมีการยื่นขออนุมัติการเงินเพื่อการค้าทั้งสิ้นเกือบ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ ไม่ผ่านการขออนุมัติ คิดเป็นมูลค่า 4.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20.2 ของยอดการขออนุมัติ)
เนื่องจากการเงินเพื่อการค้ามีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคธุรกิจและการสร้างงานสร้างอาชีพ ทุกฝ่ายจึงจำเป็นต้องอุดช่องว่างดังกล่าว
นักวิชาการ เห็นว่า กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจรอบอ่าวเป่ยปู้สามารถนำกลไกที่มีประสิทธิภาพมาใช้ โดยศึกษาจากธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks: MDBs) ที่ได้นำเสนอโครงการการเงินเพื่อการค้า โดยการสนับสนุนสินเชื่อและการค้าประกันให้กับธนาคารพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาภาคการค้า โดยเฉพาะกับประเทศที่ถูกประเมินว่ามีระดับความเสี่ยงสูง และระบบธนาคารค่อนข้างอ่อนแล้ว
ด้านการส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน นักวิชาการเห็นว่า ภายในอนุภูมิภาคจะต้องมีการพัฒนาแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการลงทุนภายในทวีปเอเชีย รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อสร้างปัจจัยความยืดหยุ่นในการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ความร่วมมือภาคการเงิน เป็นอีกหนึ่งช่องทางดึงดูดวิสาหกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการ ในระยะแรก ความร่วมมือภาคการเงินจะเน้นโครงการขนาดขนาดกลางและขนาดเล็กที่เห็นผลเร็ว
จากการคาดการณ์ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation) ภายใต้สังกัดธนาคารโลก และฝ่าย Private Sector Operation ของธนาคาร ADB อาจจะเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือรอบอ่าวเป่ยปู้ และให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนและสินเชื่อสกุลเงินท้องถิ่นแก่วิสาหกิจเอกชน
การประชุมดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐจีนและอาเซียน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) สำนักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เจ้าหน้าที่ระดับมณฑลที่เกี่ยวข้องของจีน รวมถึงกลุ่มนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ทางการกว่างซีปลุกกระแส “เส้นทางสายไหมทางทะเล” แห่งศตวรรษที่ 21 (23 ม.ค. 2557)