กว่างซีปฏิรูปกรอบเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ ดึง 2 เมืองเสริมทัพเศรษฐกิจ
18 Feb 2014เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ทางการกว่างซีดำเนินการปฏิรูปนโยบายพิเศษสำหรับนักลงทุนใหม่ในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี พร้อมประกาศให้เมืองฉงจั่วและเมืองยวี่หลินเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ
เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (Guangxi Beibu-Gulf Economic Zone, 广西北部湾经济区) ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางเมื่อปี 2551 ประกอบด้วยเมืองต่างๆ ภายใต้รหัส “4+2” คือ 4 เมืองหลัก (นครหนานหนิง เมืองเป๋ยไห่ เมืองชินโจว และเมืองฝางเฉิงก่าง) และ 2 เมืองรอบข้างที่มีบทบาทเฉพาะด้านโลจิสติกส์ (เมืองฉงจั่ว และเมืองยวี่หลิน)
ทางการกว่างซีได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข “ข้อกำหนดว่าด้วยนโยบายส่งเสริมการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี(ฉบับเดิม)” (广西壮族自治区人民政府关于促进广西北部湾经济区开放开发的若干政策规定) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อปี 51 ซึ่งเนื้อหาบางส่วนมีความล้าสมัย
ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
กล่าวคือ ระหว่างปี 2550-2555 มูลค่า GDP ของเขตเศรษฐกิจฯ พุ่งขึ้นจาก 1.765 แสนล้านหยวน เป็น 4.269 ล้านหยวน หรือมากกว่า 1.4 เท่า มูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจาก 96,500 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเป็น 4.514 แสนล้านหยวน หรือมากกว่า 3.7 เท่า
“ในแต่ละปี ทางการกว่างซีดำเนินนโยบายลด/ยกเว้นภาษีภายใต้กรอบเศรษฐกิจดังกล่าวมากกว่า 1,000 ล้านหยวน เพื่อสร้างแรงดึงดูดและเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม”
นายหลี่ เหยียน เฉียง (Li Yan Qiang, 李延强) รองผู้อำนวยการสามัญประจำสำนักงานคณะกรรมการบริหารงานวางแผนและก่อสร้างเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (Office of Guangxi Beibu Gulf Economic Zone Planning and Construction Management Commission, 广西北部湾经济区规划建设管理委员会办公室) ให้ข้อมูล
สำหรับข้อกำหนดฯ ฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปัจจุบันและสิ้นสุดปี 2563 (ค.ศ.2020) เป็นเวลา 7 ปี มีความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หนึ่ง ขยายขอบเขตการดำเนินนโยบายพิเศษ (จากเดิม 4 เมือง) โดยประกาศให้ “เมืองฉงจั่ว” และ “เมืองยวี่หลิน” เข้าสู่กรอบเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างเต็มตัว
สอง สาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การท่าเรือ โลจิสติกส์ และการเงิน โดยมุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรรมสมัยใหม่ ศูนย์กลางการขนส่งโลจิติกส์ระดับภูมิภาค และศูนย์กลางการเงิน
ขยายความเพิ่มเติม : การสนับสนุนภาคการเงิน เช่น การสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการเงิน การส่งเสริมสนับสนุนให้วิสาหกิจออกตราสารหนี้ (หุ้นกู้) หรือตราสารพาณิชย์ระยะสั้น (Short Term Commercial Paper) หรือตราสารการเงินระยะปานกลาง (Medium Term Note:MTN)
สาม นโยบายพิเศษจะดำเนินการในรูปของการลด/ยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมภาครัฐ เงินรางวัล เงินอุดหนุนชดเชย รวมถึงการชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อ
ขยายความเพิ่มเติม : สาขาการเงิน การจ่ายเงินอุดหนุนและการลด/ยกเว้นค่าธรรมเนียมภารรัฐให้แก่สถาบันการเงินที่ย้ายหรือเข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหม่ในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือการส่งเสริมให้สถาบันการเงินหรือสถาบันค้ำประกันต่าง ๆ ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อและการค้ำประกันแก่วิสาหกิจ SMEs ผ่านนโยบายพิเศษทางภาษีและการชดเชยความเสี่ยง
สี่ การจัดตั้ง “กองทุนเฉพาะกิจเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี” ปีละไม่ต่ำกว่า 1,300 ล้านหยวน (ข้อกำหนดฯ ฉบับเดิม ปีละ 1,000 ล้านหยวน) และตั้งเป็นรายการเงินงบประมาณประจำปี
ขยายความเพิ่มเติม : การให้เงินรางวัลกับนิคมอุตสาหกรรมและวิสาหกิจ (รัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจชั้นนำ 500 อันดับแรกของจีนและของโลก โดยโครงการลงทุนของวิสาหกิจในนิคมฯ มีความสอดคล้องกับนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 500 ล้านหยวน และสามารถเริ่มดำเนินการผลิตภายใน 2 ปี
BIC เห็นว่า ทิศทางการปฏิรูปเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี ทั้งในแง่ขอบเขตและนโยบายส่งเสริมการลงทุน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้วิสาหกิจเคลื่อนย้ายเงินลงทุนสู่พื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเงินทุนจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากทางภาคตะวันออก
สำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น เขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่มีศักยภาพแฝง เนื่องจากมีจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้ง (มีท่าเรือทะเลหนึ่งเดียวของจีนตะวันตก) และนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับต้นทุนการประกอบธุรกิจ
อย่างไรก็ดี การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดประกอบการวางแผนธุรกิจอย่างถี่ถ้วน
ลิงค์ข่าวที่น่าสนใจ
– จับทิศทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี โอกาสทองสำหรับผู้พร้อม (25 ต.ค. 2556)
– กว่างซีชูโมเดล "คลัสเตอร์" พัฒนาเมืองรอบอ่าวเป่ยปู้ (27 พ.ค. 2556)