กว่างซีชูทิศทางการพัฒนาความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจ PPRD
12 Sep 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ผู้นำกว่างซีเผยทิศทางการพัฒนามณฑลและนำเสนอบทบาทสำคัญของมณฑลในการประชุมเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง ครั้งที่ 9 (9th Pan-Pearl River Delta Forum, 泛珠三角论坛) ซึ่งจัดขึ้น ณ นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว
เขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan-Pearl River Delta) เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ประกอบด้วย 9 มณฑลและ 2 เขตบริหารพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของประเทศจีน
ฟอรั่ม PPRD เป็นหนึ่งในกลไกส่งเสริมความร่วมมือในอนุภูมิภาคที่มีความสำคัญของประเทศจีน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อบูรณาการความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างมณฑลสมาชิกภายใต้กรอบดังกล่าว
นายเฉิน อู่ (Chen Wu, 陈武) ประธานเขตฯ กว่างซีจ้วง (เทียบเท่าผู้ว่าการมณฑล) กล่าวว่า ระหว่างการเดินทางลงพื้นที่เขตฯ กว่างซีจ้วงของนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เมื่อเดือน ก.ค.56 ที่ผ่านมา นายหลี่ฯ ได้เน้นย้ำว่า “กว่างซีต้องสร้างและพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้ให้ดี ไม่เพียงมีนัยสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น อีกทั้งยังมีนัยสำคัญต่อพื้นที่ตอนกลางและพื้นที่ตอนใต้ รวมถึงพื้นที่ทั้งประเทศจีนอีกด้วย”
“กว่างซีต้องกลายเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ใหม่ของการพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกของพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้พื้นที่ตอนกลางและพื้นที่ตอนใต้” นายหลี่ฯ กล่าว
นายเฉินฯ กล่าวว่า การสร้างจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ใหม่ จึงไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่หรือเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาของกว่างซีเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสและพลังขับเคลื่อนความร่วมมือเชิงลึกในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำจูเจียง (แม่น้ำเพิร์ล) อีกด้วย
ดังนั้น กว่างซีจึงพร้อมจะประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ผลักดันความร่วมมือในเชิงลึกและหลายมิติ มีการขยายขอบเขตเพิ่มมากขึ้น และมีระดับมาตรฐานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมี “จุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์ใหม่” เป็นเป้าหมายสำคัญ
นายเฉินฯ นำเสนอทิศทางเป้าหมายการทำงานของกว่างซี 4 ประการ ดังนี้
หนึ่ง เน้น “ความเชื่อมโยง” (Connectivity) ระหว่างกัน ร่วมกันสร้างระบบคมนาคมขนส่งเชิงบูรณาการ สร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งสมัยใหม่เชิงบูรณาการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคใต้ และตรงสู่อาเซียน เพื่อสร้างช่องทางที่มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงสู่อาเซียนสำหรับพื้นที่พื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลางและภาคใต้
สอง เน้น “เคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม” ร่วมกันสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ร่วมกันวางแผนและก่อตั้งพื้นที่ความร่วมมือต่างๆ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมเลียบชายฝั่งทะเลเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซี เขตสาธิตรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกของกว่างซี และเขตทดลองพิเศษความร่วมมือกวางตุ้งกว่างซี รวมทั้งส่งเสริมและดึงดูดอุตสาหกรรมระหว่างพื้นที่เคลื่อนย้ายอย่างมีระบบ
สาม เน้น “ความร่วมมือกับอาเซียน” ร่วมกันสร้างพื้นที่ความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกแห่งใหม่ ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการจัดงานมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ทำให้งานดังกล่าวเป็นเวทีผลักดันความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างจีนกับอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่าง PPRD กับอาเซียน การส่งเสริมการลงทุนระหวางกัน การขยายความร่วมมือทางการค้าและบริการ และการพัฒนาด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ เพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่าง PPRD กับอาเซียน และผลักดันการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน
สี่ เน้น “ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว” ร่วมกันปลุกปั้นสถานที่ท่องเที่ยวระดับนานาชาติ บูรณาการและพัฒนาแหล่งทรัพยากรท่องเที่ยว ร่วมกันผลักดันเส้นทางท่องเที่ยวชั้นยอด ร่วมกันสร้างแบรนด์ท่องเที่ยว PPRD
คำอธิบายเพิ่มเติม
สมาชิกของ PPRD รวมเรียกว่า "กลุ่ม 9+2" ประกอบด้วย 3 มณฑลชายฝั่ง คือ กวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน 2 มณฑลตอนกลาง คือ หูหนาน และเจียงซี และ 4 มณฑลตอนใน คือ เสฉวน ยูนนาน กว่างซี และกุ้ยโจว ร่วมกับ 2 เขตบริหารพิเศษ คือ ฮ่องกง และมาเก๊า