QR Trace การันตีคุณภาพผลไม้นำเข้าผ่านทางกว่างซี
18 Feb 2019ไฮไลท์
- อำเภอระดับเมืองผิงเสียงเป็นเมืองการค้าชายแดน(ทางบก)ที่มีปริมาณการนำเข้าผลไม้มากที่สุดของประเทศจีน ผลไม้นำเข้าที่จำหน่ายในจีนประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลไม้ที่นำเข้าผ่านด่านต่างๆ ในเมืองผิงเสียง
- ศุลกากรกว่างซีได้นำมาตรการ QR Code มาใช้การันตีคุณภาพสินค้าจากแหล่งผลิตและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับตลาดและผู้บริโภค โดยนำร่องกับแตงโมเวียดนาม ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเรียกดูข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า ชื่อสินค้า รวมถึงมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจาก QR Code ที่ติดบนบรรจุภัณฑ์สินค้าได้ทันที
- อีกมุมหนึ่ง QR Code เป็นมาตรการที่หน่วยงานศุลกากรกว่างซีนำมาใช้จัดระเบียบด่านการค้าและจัดการกับผลไม้ต่างประเทศที่ปลอมแปลงเป็นผลไม้เวียดนามเพื่อผ่านเข้าด่านผู่จ้าย ซึ่งเป็นด่านการค้าสำหรับชาวชายแดนกว่างซีกับเวียดนามที่อนุญาตให้เฉพาะสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากสองประเทศเท่านั้น
“แตงโม แตงโม แตงโม แตงโม ลูกโต รสหวาน ใครรับประทาน ถูกอกถูกใจ….” แตงโมเวียดนามเป็นผลไม้นำร่องการใช้ QR Code สำหรับผลไม้ต่างประเทศที่นำเข้าทางเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) ได้ด้วยตนเอง
นับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2562 ผลไม้เวียดนามที่นำเข้าทางด่านผู่จ้าย (ด่านประเพณีกว่างซี-เวียดนาม) มายังกว่างซีจะต้องมี QR Code การันตีคุณภาพสินค้าจากแหล่งผลิต มาตรการดังกล่าวเป็นกลไกที่สำนักงานศุลกากรกว่างซีนำมาใช้แก้ไขปัญหาข้อมูลและสัญลักษณ์กำกับบนบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้าที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลฉลากสินค้าตามอำเภอใจ
การรับรองมาตรฐานสินค้าโดยใช้สติกเกอร์รับรองคุณภาพ เพื่อใช้ในกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับด้วย QR code ก็เปรียบเสมือนการทำ “บัตรประจำตัว” ให้กับสินค้านำเข้า เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์สินค้านำเข้า ทำให้การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถทราบข้อมูลจำเพาะของสินค้า อาทิ ข้อมูลแหล่งผลิต (ชื่อผู้ผลิต เลขทะเบียนสวนผลไม้ เลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ ข้อมูล) ข้อมูลโลจิสติกส์ (ป้ายทะเบียนรถบรรทุก) ข้อมูลผู้นำเข้า (ชื่อและที่อยู่ผู้นำเข้า และวิธีการติดต่อ) และเป็นการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศในประเทศจีน
เทคโนโลยี QR code ดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยบริษัท China Certification & Inspection (Group) Co., Ltd หรือ CCIC (中检集团) สาขากว่างซี โดยบริษัท CCIC ได้ทำการตรวจสอบแหล่งผลิตแตงโมในเวียดนาม การติดรหัสป้องกันการปลอมแปลงในระบบตรวจสอบย้อนกลับ การตรวจสอบขั้นตอนการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งการออกรายงานตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตเพื่ออัปโหลดข้อมูลเข้าสู่แพลตฟอร์มตรวจสอบย้อนกลับสินค้าทั่วโลกของ CCIC
ความพิเศษของ QR Code คือ การใช้เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงและการลอกเลียนแบบด้วยรหัสหรือสัญลักษณ์ประจำตัว (Identity) ที่ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ด้วยตนเองเพียงใช้สมาร์ทโฟนที่มีกล้องสแกน QR Code เพื่อตรวจดูว่าสินค้าเป็นของแท้หรือไม่ และสามารถดูแหล่งที่มาของสินค้าได้ภายใน 3 วินาที ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดและผู้บริโภคได้มากขึ้น
ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรติดตามข่าวสารและเพิ่มความระมัดระวังในการผลิตสินค้าอาหารส่งไปจีนให้มากยิ่งขึ้น และเตรียมความพร้อมในการรองรับระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อป้องกันปัญหาการส่งออกสินค้าไปจีนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
BIC ตั้งข้อสังเกตว่า QR Code เป็นมาตรการที่หน่วยงานศุลกากรกว่างซีนำมาใช้เพื่อจัดระเบียบด่านการค้าและจัดการกับผลไม้ต่างประเทศที่ปลอมแปลงเป็นผลไม้เวียดนามเพื่อผ่านเข้าด่านผู่จ้าย ซึ่งเป็นด่านการค้าสำหรับชาวชายแดนกว่างซีกับเวียดนามที่อนุญาตให้เฉพาะสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากสองประเทศเท่านั้น
ปัจจุบัน สำนักงานศุลกากรจีนอนุญาตให้มีการนำเข้าผลไม้เวียดนามได้ 8 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ลำไย กล้วย ลิ้นจี่ แตงโม เงาะ ขนุน และแก้วมังกร ในจำนวนนี้ มีผลไม้ 6 ชนิดที่ทับซ้อนกับไทย (ยกเว้นแตงโม และแก้วมังกร)
นั่นหมายความว่า ผลไม้ไทยที่เคยใช้ด่านผู่จ้าย ไม่ว่าจะทุเรียน มังคุดจะไม่สามารถส่งออกผ่านด่านผู่จ้ายได้อีกต่อไป โดยผลไม้ไทยต้องส่งออกเข้าด่านโหย่วอี้กวาน ซึ่งเป็นด่านการค้าสากล และเป็นด่านที่อยู่ภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
จากการลงพื้นที่และมีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ด่านผู้จ้ายเมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า มาตรการจัดระเบียบด่านการค้าชายแดนทำให้ผลไม้จากประเทศที่สามไม่สามารถผ่านเข้าด่านผู่จ้ายได้อีก รวมถึงผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และลำไย
ในส่วนของความกังวลเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย เจ้าหน้าที่ด่านผู้จ้ายได้ให้ข้อมูลว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ด่านโหย่วอี้กวานสูงกว่าด่านผู่จ้ายราว 5% เท่านั้น ซึ่งไม่แตกต่างมากนัก อีกทั้งผลไม้ที่ผ่านด่านโหย่วอี้กวานสามารถรักษาคุณภาพได้ดีกว่าด่านผู่จ้าย เนื่องจากไม่ต้องขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงรถบรรทุก ซึ่งผู้ค้าผลไม้เริ่มยอมรับและปฏิบัติตาม ทำให้ตัวเลขการค้าผลไม้ไทยที่ด่านโหย่วอี้กวานมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中国新闻网) ประจำวันที่ 29 มกราคม 2562
รูปประกอบ www.pexels.com