How to understand “IP law” in China? มารู้จักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในจีนเบื้องต้นกันเถอะ!!
19 Aug 2013"สินค้าก็อปปี้” แทบจะกลายเป็นดาราชื่อดังของจีน ซึ่งใครต่อใครล้วนรู้จักและได้ยินกิตติศัพท์มาไม่น้อย โดยสามารถหาซื้อหรือพบเห็นได้ทั่วไปเกือบทุกท้องที่ในจีน ผู้ประกอบการหลายท่านจึงยังคงกังวลใจกับการก้าวเข้าสู่ตลาดจีน ด้วยปัญหาเรื่องการลอกเลียนแบบสินค้า (รูปแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า บรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยี ฯลฯ) ที่เกิดขึ้นอยู่สม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ใช่ว่าทางการจีนจะนิ่งนอนใจ เนื่องจากเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นประเด็นฮอตที่นานาประเทศทั่วโลกกล่าวโจมตี โดยจีนได้ปราบปรามผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มข้นไม่ด้อยไปกว่าสากล เพียงแต่กระบวนการบังคับใช้อาจยังไม่ทั่วถึงเพียงพอ จึงยังทำให้สินค้าก็อปปี้ยังคง “ลอยนวล” อยู่ในท้องตลาดจีน
ในสถานการณ์ที่การลอกเลียนแบบยังเกิดขึ้นในจีนอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ความจำเป็นที่จะต้องศึกษากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของจีนอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความสูญเสียทางธุรกิจขึ้น
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเภทงานที่คุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์ทางปัญญาของจีน พร้อมข้อสังเกตที่น่าสนใจ ผ่านบทความ เรื่อง How to understand IP law in China? มารู้จักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในจีนเบื้องต้นกันเถอะ!!
เรียนรู้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา.. ป้องกันปัญหาเกิดขึ้นในจีน
ปัจจุบัน กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property law) ในจีนแบ่งประเภทงานที่คุ้มครองได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ สิทธิบัตร (Patent) เครื่องหมายการค้า (Trademark) และลิขสิทธิ์ (Copyright) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
สิทธิบัตร |
"สิทธิบัตร” เป็นหนังสือสำคัญที่ใช้คุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือกรรมวิธีการผลิต ซึ่งล้วนเป็นผลผลิตจากสติปัญญาของผู้คิดค้น การคุ้มครองด้วยสิทธิบัตรจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้น และเป็นการช่วยป้องกันมิให้ผู้อื่นเลียนแบบหรือขายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะทำให้เสียสิทธิและละเมิดสิทธิของผู้คิดค้น ทั้งนี้ สิทธิบัตรสามารถซื้อ ขาย หรือให้เช่าได้ (ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) โดยสิทธิบัตรในจีนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
|
ประเภท |
เนื้อหาการคุ้มครอง |
1 |
สิทธิการบัตรประดิษฐ์ |
คุ้มครองการประดิษฐ์ คิดค้น หรือคิดทำผลิตภัณฑ์ (รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม) หรือกรรมวิธีขึ้นใหม่ เช่น การประดิษฐ์ iPhone5 หรือการคิดกรรมวิธีรักษาความสดของผลไม้ ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำขึ้นใหม่และมีขั้นตอนการทำที่ก้าวหน้ากว่าเดิม |
2 |
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product designs) |
คุ้มครองการออกแบบขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกันของผลิตภัณฑ์ ที่สามารถจับต้องทางกายภาพได้ เช่น รูปทรงของ iPhone5 หรือลักษณะแบบของรถ Volvo โดยหากเป็นสิ่งมีรูปร่างไม่คงที่ หรือไม่สามารถมีรูปร่างคงที่ด้วยตัวเอง เช่น ก๊าซ ของเหลว หรือสารชีวภาพ เป็นต้น จะไม่สามารถจดสิทธิบัตรประเภทนี้ได้ |
3 |
สิทธิบัตรผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility models) หรืออนุสิทธิบัตร (Petty Patent) อายุคุ้มครอง 10 ปี
|
การประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ขึ้น แต่ยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นสูงที่เพียงพอ แต่มีลักษณะของการทำขึ้นใหม่และประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ เช่น การปรับปรุงฝาครอบลูกบิดประตูขึ้นใหม่ |
ข้อควรสังเกต !!
Ø สิทธิตามสิทธิบัตร (Exclusive rights) เป็นสิทธิเฉพาะที่ (Territorial rights) หากนักธุรกิจไทยจดทะเบียนในไทยก็จะได้รับคุ้มครองแค่ในเขตประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นหากต้องการให้ได้รับการคุ้มครองในจีนก็ควรจดทะเบียนในจีนด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองอย่างทั่วถึง
Ø อายุการคุ้มครองของสิทธิบัตรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ยื่น มิใช่นับตั้งแต่วันที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งโดยปกติสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะใช้เวลาประมาณ 2 – 4 ปีจึงจะได้รับอนุมัติการจดทะเบียน ขณะที่สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์จะใช้เวลาประมาณ 10 – 12 เดือน และสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์จะใช้เวลาประมาณ 12 – 18 เดือน
Ø ต้องจ่ายค่ารักษาสิทธิรายปี (maintenance fee) หากขาดการจ่ายก็จะทำให้สิทธิการค้มครองสิ้นสุดลงก่อนวันสิ้นอายุการคุ้มครองตามกำหนดจริง
เครื่องหมายการค้า |
"เครื่องหมายการค้า” เป็นเครื่องหมายที่ใช้หรือให้ความหมายเกี่ยวข้องกับสินค้าว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ มีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น รวมไปถึงเป็นการป้องกันการสับสนหรือเข้าใจผิดกับแหล่งกำเนิดของสินค้าและบริการ และประกันคุณภาพสินค้าแก่ผู้บริโภคด้วย โดยเครื่องหมายการค้าอาจจะใช้คำ ข้อความ สัญลักษณ์ กลุ่มตัวเลขหรือตัวอักษร รูปออกแบบภาพวาด ภาพถ่าย ลายมือชื่อ กลุ่มของสี รูปทรง หรือใช้ทั้งหมดผสมกัน เพื่อสร้างเป็นเครื่องหมายการค้าขึ้น โดยกฎหมายเครื่องหมายการค้าของจีนได้จัดแบ่งประเภทเครื่องหมายการค้าออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
เครื่องหมายการค้าทั่วไป (General trademarks) |
เครื่องหมายการค้าที่รู้จักกันโดยทั่วไป (Well-known trademarks) |
|
เป็นเครื่องหมายสำหรับสินค้าและบริการ เพื่อแสดงถึงความแตกต่างระหว่างสินค้าหรือบริการประเภทต่างๆภายใต้แต่ละเครื่องหมายการค้า |
|
เป็นเครื่องหมายการค้ามีชื่อเสียงกว้างขวาง และเป็นที่ |
เครื่องหมายร่วม (Collective marks, signs) |
เครื่องหมายรับรอง (Certification marks) |
|
เป็นเครื่องหมายที่จดทะเบียนโดยบริษัท รัฐวิสาหกิจหรือสมาชิกของสมาคม องค์กร สมาพันธ์ทั้งของรัฐหรือเอกชน สำหรับให้สมาชิกได้ใช้ในกิจการทางพาณิชย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นสมาชิกขององค์กรดังกล่าว |
เป็นเครื่องหมายที่ใช้โดยองค์กร ซึ่งสามารถกำกับดูแลเกี่ยวกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่นใดภายนอกองค์กรนั้นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายดังกล่าวเพื่อรับรองแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ คุณภาพการผลิต หรือลักษณะอื่นใดของสินค้าและบริการนั้นๆ เช่น เครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) |
ข้อควรสังเกต !!
Ø เครื่องหมายที่เป็นรูปธรรมนั้นสามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้แทบทั้งหมด ยกเว้นเครื่องหมายที่เป็นนามธรรม (Non-visual marks) เช่น กลิ่นหรือเสียง ซึ่งไม่สามารถนำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ โดยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนจะมีอายุการคุ้มครอง 10 ปี และสามารถต่ออายุได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
Ø เครื่องหมายการค้าในประเทศจีนจะได้รับการคุ้มครองก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เว้นแต่ว่าเครื่องหมายการค้าที่ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าที่รู้จักโดยกันทั่วไป (Well-known trademarks) ทั้งนี้ ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทขึ้น เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นๆ จะไม่สามารถออกมายืนยันด้วยตนเองว่า เครื่องหมายของตนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงโดยทั่วไป แต่จำเป็นต้องร้องขอให้ “Trademark Office” หรือ “Trademark Review and Adjudication Board” เป็นผู้ตัดสินว่า เครื่องหมายนั้นๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนในฐานะ “Well-known trademarks” หรือไม่
Ø การจดทะเบียนยึดหลักว่า “มาจดก่อน ย่อมมีสิทธิ์ก่อน” โดยควรจะต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในภาษาจีนด้วย เพื่อเป็นการสร้าง brand recognition รวมถึงป้องกันความสับสนในตัวสินค้าของผู้บริโภค และป้องกันมิให้คู่แข่งทางการค้าชิงจดทะเบียนตัดหน้าโดยใช้ชื่อที่มีเสียงพ้องกับเครื่องหมายการค้าของเราได้
Ø การใช้เครื่องหมายการค้าหลังจากที่ได้จดทะเบียนแล้วนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง หากไม่มีการใช้เครื่องหมายดังกล่าวนานติดต่อกันถึง 3 ปี อาจมีความเสี่ยงที่เครื่องหมายนั้นจะถูก “ยกเลิก” ในฐานะ “non-use”
Ø ในประเทศจีน การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะแยกจากการจดทะเบียนทางการค้า (Trademark does not include company name) อีกทั้งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกันด้วย ดังนั้น ในบางครั้งจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะพบเห็นการจดทะเบียนบริษัทโดยมีเครื่องหมายการค้าอยู่ในชื่อบริษัทด้วย
ลิขสิทธิ์ |
"ลิขสิทธิ์” เป็นสิทธิที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานจะสามารถทำการใดๆ กับผลงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งสิทธินี้เป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ได้รับจากการสร้างสรรค์ผลงาน เช่น หนังสือ วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ละคร ภาพวาด งานสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม หรือซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ข้อควรรู้ !!
Ø ผลงานที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของชาวจีน นิติบุคคลจีน หรือหน่วยงานจีนที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็จะถือว่ามีลิขสิทธิ์ในจีนตั้งแต่แรกเริ่ม สำหรับในกรณีที่เป็นผลงานของชาวต่างชาติ หากผลงานได้รับการตีพิมพ์ในจีนแล้วก็ย่อมได้รับสิทธิตามกฎหมายจีน และหากแม้ผลงานไม่ได้ตีพิมพ์ในจีนก็อาจสามารถได้รับการคุ้มครองสิทธิในจีนด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศภาคีของอนุสัญญากรุงเบิร์น (The Berne Convention for the Protection of Literary and Artistic works) ผลงานดังกล่าวจึงถือว่ามีลิขสิทธิ์และได้รับการคุ้มครองในจีนด้วยโดยไม่ต้องจดทะเบียน ทั้งนี้ หากเจ้าของผลงานเป็นคนสัญชาติในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญา (ไทยก็เป็นภาคีด้วย) หรือหากในกรณีที่ไม่ได้เป็นคนสัญชาติของประเทศภาคี แต่ผลงานของบุคคลนั้นได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศภาคีเป็นครั้งแรกแล้ว ก็ล้วนได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์เช่นเดียวกัน
Ø นอกเหนือจากผลงานด้านวัฒนธรรมแล้ว ผลงานทางอุตสาหกรรมบางประเภทก็มีลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน อาทิ Catalogue รายชื่อสินค้า รูปภาพประกอบของบริษัท หรือรูปภาพ/การจัดผังบนเว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น ซึ่งหากนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้สร้างสรรค์จะถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
Ø “สิทธิข้างเคียง (neighboring right)” เป็นสิทธิที่อยู่ควบคู่กับลิขสิทธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่มีการเผยแพร่ผลงานการประพันธ์สู่สาธารณชน อาทิ นักแสดง ผู้จัดพิมพ์ สถานีโทรทัศน์/วิทยุ และผู้จัดทำวีดีโอ/เสียงบันทึก เป็นต้น โดยบุคคลดังกล่าวควรจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในกรณีที่มีการนำผลงานไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
ข้อควรสังเกต !!
Ø เช่นเดียวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของหลายๆ ประเทศ จีนถือว่าลิขสิทธิ์เป็น “สิทธิตามธรรมชาติ (natural rights)” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องจดแจ้งทะเบียนลิขสิทธิ์เหมือนกับสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า อย่างไรก็ดี การจดทะเบียนลิขสิทธิ์จะเป็นประโยชน์สำหรับใช้เป็นหลักฐานในกระบวนการชั้นศาลในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้น
Ø ลิขสิทธิ์ในจีนมีอายุการคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ผลงาน และขยายต่อเนื่องอีก 50 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์คนดังกล่าวเสียชีวิต (เหมือนกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลข้างต้นจะช่วยให้ท่านผู้ประกอบการไทยทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของจีนเบื้องต้นแล้ว อีกทั้งช่วยเพิ่มความมั่นใจได้ว่าจีนเองก็มีกฎหมายคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจในจีนไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ ความกังวลต่างๆ จะหมดไปอีกมาก หากท่านผู้ประกอบการที่สนใจเข้าทำธุรกิจในจีนเพิ่มความระมัดระวัง ด้วยการให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทรัพยสินทางปัญญาข้างต้นอย่างรวดเร็วและถี่ถ้วน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคต (อย่าลืมว่าจีนเขาทำอะไรเร็วมากๆ .. แต่เราจะไม่ติดปัญหาหากเราทำได้เร็วกว่า!!)
————————————–
หมายเหตุ : สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์ทางปัญญาในจีนได้ที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา www.ipthailand.go.th เมนูหลัก “ทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศ” เมนูย่อย “กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของต่างประเทศ” หัวข้อ “สาธารณารัฐประชาชนจีน”
————————————–
จัดทำโดย นายเฉกชนม์ จึงสง่าสม นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรียบเรียงโดย นางนาฏพร นิติมนตรี และนายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง : (1) คู่มือธุรกิจ “Doing Business in East China” โดย Dezan Shira & Associates (2) เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ www.ipthailand.go.th