How to get buyer in China? มารู้จักช่องทางค้นหาผู้นำเข้า / ผู้กระจายสินค้าในจีนกันเถอะ!!
4 Jun 2013"ส่งสินค้าไปขายที่จีน" เหมือนเป็นเรื่องยอดฮิตที่ผู้ส่งออกไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันให้ความสนใจ และกำลังหาช่องทางว่าจะส่งไปอย่างไรดี? สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักคิดถึงเป็นอันดับแรก คือ จะส่งสินค้าไปขายได้ก็จะต้องหาผู้ซื้อ ผู้นำเข้า หรือผู้กระจายสินค้าให้ได้ก่อน แล้วจะหากลุ่มคนเป้าหมายเหล่านี้จากที่ไหนบ้าง?
เพื่อให้ความมุ่งมั่นเรื่องการส่งสินค้าไปขายที่จีนของผู้ส่งออกไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในเบื้องต้นได้ ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนจึงขออนุญาตแนะนำวิธีการที่จะทำให้ผู้ส่งออกไทยสามารถมีโอกาสได้รู้จักผู้นำเข้าสินค้าหรือผู้กระจายสินค้าในจีนผ่านช่องทางหลักๆ ดังนี้
1. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านับว่าเป็นช่องทางตรงที่น่าจะได้ผลมากที่สุด เพราะเป็นเวทีที่รวมผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้รู้จักบุคคลหลากหลายประเภททั้งผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสินค้า ผู้กระจายสินค้า หรือผู้ผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ นอกจากจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนนามบัตรกับผู้ที่สนใจชมบูธแล้ว ผู้ส่งออกที่เข้าร่วมงานงานแสดงสินค้ายังสามารถขอรายชื่อผู้เข้าชมงานจากผู้จัดงานได้ (มีค่าใช้จ่าย) ซึ่งผู้จัดงานจะรวบรวมรายชื่อผู้ลงทะเบียนเข้าชมงานแยกตามประเภท เช่น ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ผู้สนใจทั่วไป เพื่อประโยชน์ในการเชิญมาร่วมงานในปีถัดไป
นอกจากนี้ งานแสดงสินค้าชั้นนำในจีนส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจควบคู่กันไปด้วย ซึ่งบางงานผู้ออกบูธจะได้รับสิทธิเข้าร่วมฟรี หรือบางงานหากไม่ได้ออกบูธก็สามารถสมัครเพื่อเข้าร่วมได้ แต่อาจมีค่าธรรมเนียม โดยการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจหรือกิจกรรมสัมมนาต่างๆ ในงานแสดงสินค้า จะมีโอกาสทำให้รู้จักบุคคลจากหลากหลายสาขาธุรกิจด้วย ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยสามารถอ่านบทความเทคนิคการเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนอย่างมีประสิทธิภาพตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (กดลิงค์บทความตรงคำว่า “ตอนที่1” และ “ตอนที่ 2”)
สำหรับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยนั้น มีหลายงานที่ผู้ประกอบการจีนเข้าร่วมออกบูธ หรือมีผู้นำเข้าสำคัญจากจีนเข้าร่วมชมงาน โดยอาจได้รับการเชิญจากกระทรวงพาณิชย์ไทย
หมายเหตุ : งานแสดงสินค้าในจีนมีทั้งงานระดับนานาชาติที่มีผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศเข้าร่วม งานแสดงสินค้าระดับชาติที่มีเฉพาะผู้แสดงสินค้าชาวจีนและมีผู้ซื้อชาวจีนและชาวต่างประเทศเข้าร่วม ตลอดจนงานแสดงสินค้าระดับมณฑลในท้องถิ่น เป็นต้น โดยสามารถศึกษารายชื่องานแสดงสินค้าในจีนได้ทางเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ
Ø https://wordpress-575750-3524419.cloudwaysapps.com/thaibizchina/th/trade-shows เว็บไซต์ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีนที่แสดงรายชื่องานแสดงสินค้าที่สำคัญประจำปีของพื้นที่ต่างๆ ทั่วจีน
Ø http://www.biztradeshows.com/china เว็บไซต์ต่างชาติที่รวบรวมรายชื่องานแสดงสินค้านานาชาติในจีน
Ø http://www.haozhanhui.com , http://www.eshow365.com และ http://www.cn-expo.com เว็บไซต์รวมงานแสดงสินค้าทั่วไปและงานแสดงสินค้าระดับท้องถิ่นในจีน
2. การค้นหาจากฐานข้อมูลของจีน
การค้นหารายชื่อผู้นำเข้าหรือบริษัทธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของจีนผ่านฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ต่างๆ ของจีน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นิยมกันมาก ซึ่งบางฐานข้อมูลอาจจะต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนจึงจะค้นหาได้ หรือบางฐานข้อมูลก็สามารถค้นหาได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิก โดยมีรายละเอียดของฐานข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
1) ฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์จีน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมรายชื่อผู้นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกของจีน โดยสามารถค้นหาข้อมูลได้จากการระบุ Keywords ของประเภทสินค้า หรือค้นหาด้วยพิกัดศุลกากรของสินค้า อีกทั้งสามารถค้นหารายชื่อผู้นำเข้าแยกตามพื้นที่แต่ละมณฑลของจีนได้ด้วย ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวมีบริการทั้งฉบับภาษาจีน (http://win.mofcom.gov.cn/ImporterChina/index.asp) และฉบับภาษาอังกฤษ (http://win.mofcom.gov.cn/en/sell/importers) อย่างไรก็ดี หากค้นหาเป็นภาษาจีนจะได้ข้อมูลค่อนข้างมากกว่า ขั้นตอนการค้นหารายชื่อผู้นำเข้าในฐานข้อมูลกระทรวงพาณิชย์จีน คลิ๊กที่นี่
2) ฐานข้อมูลธุรกิจจีน (Business Directory) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสารบัญธุรกิจในจีนที่สามารถค้นหารายชื่อบริษัทผู้นำเข้าได้ตามประเภทธุรกิจ โดยสามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ดังต่อไปนี้
– http://wmsibd.mofcom.gov.cn (ภาษาจีน) |
– http://www.yp.net.cn (ภาษาจีน) |
3) ฐานข้อมูลสมาคมการค้าในจีน ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมรายชื่อบริษัทจีนที่เป็นสมาชิกของสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้องในสาขาอุตสาหกรรมต่างๆ โดยจะมีการระบุเนื้อหารายละเอียดของแต่ละบริษัทว่ามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และมีโอกาสในการซื้อสินค้าอย่างไร อาทิ
– China Non-ferrous Industry Association (www.atk.com.cn)
– China Plastics Processing Industry Association (www.cppia.com.cn)
– China Association of Automobile Manufacturers (www.caam.org.cn)
ทั้งนี้ สามารถค้นหารายชื่อสมาคมการค้าชั้นนำในจีนอีกจำนวนมากได้ที่หัวข้อ “ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง” บนเว็บไซต์ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในจีน https://wordpress-575750-3524419.cloudwaysapps.com/thaibizchina/th/weblinks
4) ฐานข้อมูลตลาดกลางซื้อขายสินค้า (B2B e-marketplace) เป็นเว็บไซต์ที่ค้นหารายชื่อบริษัทผู้นำเข้าสินค้าหรือกระจายสินค้าที่เคยลงประกาศไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าว โดยผู้ส่งออกสามารถลงข้อมูลสินค้าของตนหรือลงข้อมูลสินค้าที่ต้องการสั่งซื้อ (Buying Trade Lead) ได้ในเว็บไซต์ตลาดกลางดังกล่าว ซึ่งมีทั้งฉบับภาษาจีนและภาษาอังกฤษ โดยรายชื่อเว็บไซต์ตลาดซื้อขายสินค้า B2B e-marketplace ชั้นนำในจีน ได้แก่ (สามารถคลิ๊กภาพเพื่อลิงค์เข้าไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว)
3. การใช้บริการจากหน่วยงานส่งเสริมธุรกิจและการค้า
ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งไทยและจีนหลายแห่งที่มีบทบาทช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทย โดยให้คำปรึกษา จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ หรือให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจในจีน เป็นต้น โดยหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่
หน่วยงานในไทย
1) หน่วยงานจับคู่ธุรกิจ ฝ่ายส่งเสริมการค้าและการลงทุน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจโดยต้องเป็นสมัครสมาชิกหน่วยงานก่อน โดยมีทั้งการเดินทางการจับคู่ธุรกิจในจีน และการเชิญนักธุรกิจจีนมาจับคู่ธุรกิจในไทย ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน ซี ชั้น 4 เลขที่ 60 ถนนรัชดาภิเษกตัดใหม่ แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ : 662-345-1115-20, -1123-5, -1132, -1180 อีเมล์: [email protected], [email protected], [email protected] หรือเว็บไซต์ www.ftimatching.com
2) สำนักงานส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น หอการค้าจังหวัด หอการค้าไทยจีน รวมถึงการนำผู้ประกอบการไทยสำรวจศักยภาพและจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าในต่างประเทศรวมทั้งประเทศจีนด้วย โดยสามารถสอมถามรายละเอียดการจัดกิจกรรมได้ที่สำนักบริการผู้ประกอบการ หรือส่วนงานพัฒนาโครงการระหว่างประเทศ สสว. เว็บไซต์ www.sme.go.th
3) สมาคม/หอการค้าในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยสมาคมการค้าบางแห่งในไทยได้มีการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนผลประโยชน์ของสมาชิกอยู่เสมอ ซึ่งสมาชิกในสมาคมการค้าอาจรวมตัวกันในนามสมาคมเพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ เพื่อจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจในต่างประเทศโดยตรง ผู้สนใจอาจติดต่อสอบถามสมาคม/หอการค้าที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง
หน่วยงานในจีน
1) สำนักงานที่ปรึกษาการพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีบทบาทส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและจีน ซึ่งได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจการค้าและรายชื่อผู้นำเข้าจีนรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ http://www.thaicombj.org.cn
2) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) หรือ Thai Trade Center ที่ประจำในประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสคต. ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในจีนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างค้าปลีก (in-store promotion) การจัดงานแสดงสินค้าไทย (Thailand Exhibition) การนำผู้ส่งออกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญในจีน นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าจีน รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลธุรกิจจีนในพื้นที่ด้วย โดยสามารถศึกษารายละเอียดการติดต่อ สคต. ทั้ง 8 แห่งในจีนได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaitradechina.cn
3) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีบทบาทส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและผลไม้ไทยในจีน และมีการจัดทำฐานข้อมูลรายชื่อผู้นำเข้าผลไม้ไทยในจีนไว้ในเว็บไซต์ http://www.thaifruits-online.com/public/importlist
4) สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (China Council For The Promotion Of International Trade : CCPIT) ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งรัฐกึ่งเอกชนที่ทำหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจการค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ โดยมีสาขาอยู่ทุกมณฑลและทุกเมืองของจีน CCPIT จะมีการจัดทำฐานข้อมูลของบริษัทผู้เป็นสมาชิกแยกตามประเภทของอุตสาหกรรม รวมถึงมีบริการให้คำปรึกษาสำหรับธุรกิจต่างชาติที่สนใจลงทุนหรือทำธุรกิจในจีน และบริการจับคู่ธุรกิจด้วย (มีค่าบริการ) โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.ccpit.org (ภาษาจีน) หรือ http://www.bizchinanow.com (ภาษาอังกฤษ)
5) บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดในจีน ปัจจุบันมีบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่ให้คำแนะโดยเฉพาะในด้านตลาดจีน สำหรับธุรกิจที่สนใจขยายตลาดสร้างยอดขายในประเทศจีนโดยเฉพาะ ซึ่งมีบริการที่ช่วยธุรกิจค้นหาผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า หรือผู้ซื้อชาวจีน จากการจัดทำรายงานวิเคราะห์สภาพตลาดเชิงลึกและช่องทางการเข้าสู่ตลาดจีนเฉพาะด้านตามรายสินค้าที่กำหนด หรือบริการจัดหาลูกค้าและจับคู่ธุรกิจที่ตรงตามความต้องการของบริษัทผู้มาใช้บริการ เป็นต้น (มีค่าบริการ)
ที่มาภาพ www.123rf.com
ข้อมูลข้างต้นเป็นวิธีการที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสได้ค้นพบรายชื่อผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้าในจีน อย่างไรก็ดี ก่อนการตัดสินใจร่วมมือทางธุรกิจใดๆ ผู้ส่งออกไทยควรศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้นๆ อย่างถี่ถ้วน ทั้งข้อมูลประวัติความเป็นมา ลักษณะของธุรกิจ สถานะการจดทะเบียนบริษัท หรือความน่าเชื่อถือของบริษัท เป็นต้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาทางธุรกิจขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ แม้ว่าฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจะเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญสำหรับการรู้จักคู่ค้า ซึ่งโดยส่วนมากธุรกิจต่างชาติมักจะได้ข้อมูลเบื้องต้นจากฐานข้อมูลดังกล่าว และจะเข้าชมเว็บไซต์ของบริษัทจีนเพื่อศึกษาผู้ที่อาจจะเป็นคู่ค้าในอนาคต โดยช่องทางอินเทอร์เน็ตได้เปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีใช้กลวิธีต่างๆ เพื่อหลอกลวงผลประโยชน์จากอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น การสร้างเว็บไซต์ที่มีข้อมูลเกินจริงเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชม แต่ความเป็นจริงแล้วบริษัทไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นต้น ซึ่งนักธุรกิจไทยสามารถติดตามข้อมูลกลลวงทางเว็บไซต์ที่พบในการทำธุรกิจกับจีน ตลอดจนแนวทางการสังเกตและป้องกันมิให้เกิดปัญหาทางธุรกิจในบทความ "เตือนภัยธุรกิจไทยในจีน : เผยกลลวง Phishing Website!! จริงชัวร์หรือมั่วนิ่ม? (ระวัง.. อย่าตกเป็นเหยื่อเว็บไซต์ปลอมส่งออกสินค้าในจีน)"
———————————
จัดทำโดย นางสาวเทพรัตน์ ตันติกัลลยาภรณ์ เรียบเรียงโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้