ย้อนมองการค้าต่างประเทศกว่างซี ปี 2567 การค้ากับประเทศไทย ‘ยืนหนึ่ง’ ในจีนตะวันตก

7 Feb 2025

ปีที่ผ่านมา เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังคงทำผลงานด้านการค้าต่างประเทศได้ดีต่อเนื่อง ยอดการค้าสร้างสถิติใหม่ทะลุ 7.5 แสนล้านหยวนได้เป็นครั้งแรก และ “อาเซียน” ยืนหนึ่งคู่ค้ากว่างซี 25 ปีซ้อน

สำนักงานศุลกากรหนานหนิง (ดูแลด่านทั่วกว่างซี) ได้แถลงตัวเลขการค้าต่างประเทศกว่างซี ปี 2567 มีมูลค่ารวม 756,389 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) เป็นมูลค่าการส่งออก 442,787 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 (YoY) และมูลค่าการนำเข้า 313,602 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 4.6 (YoY) โดยกว่างซีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าต่างประเทศ 129,185 ล้านหยวน

หากจำแนกตามโครงสร้างการค้าต่างประเทศของกว่างซี พบว่า การค้าสากลยังคงเป็นรูปแบบการค้าหลัก มีมูลค่า 344,390 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.5 ของมูลค่าการค้ารวม นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบสินค้าทัณฑ์บน 215,040 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 และการค้าชายแดน (ทั้งการค้ามูลค่าต่ำของบริษัทชายแดน และการค้าผ่านตลาดการค้าของชาวชายแดน) 133,450 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7

ภาคการส่งออกของกว่างซีเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องจักรกลไฟฟ้า และสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) มีแนวโน้มขยายตัวอย่างเด่นชัด โดยสินค้า 2 กลุ่มข้างต้นมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการส่งออกรวม

นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่เป็น New Growth Pole ภาคการส่งออกสินค้าของกว่างซีอย่างเช่นยานยนต์ (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.6) แบตเตอรี่ลิเทียม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 96.8) และผลิตภัณฑ์กระดาษ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.2) ก็มีแนวโน้มขยายตัวไปในทิศทางที่สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งถือเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ Soft Power ของกว่างซีในต่างประเทศก็ยังคงรักษาระดับการเติบโตได้ดีต่อเนื่อง อาทิ ส้มว่อกาน เส้นหมี่ซุปหอยขมหลัวซือเฝิ่น และเครื่องเทศโป๊ยกั๊ก

กลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้ามูลค่าต่ำที่ดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่าย (พิกัด 98040000) สินค้าไฮเทค (อะไหล่อุปกรณ์สื่อสาร แผงวงจรรวม จานบันทึก วงจรพิมพ์) รถยนต์และอะไหล่ (รถยนต์และรถโดยสารขนาดเล็กที่เป็นเครื่องยนต์สันดาป รถยนต์ไฟฟ้า รถตัก) เครื่องจักรกลไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้า (แบตเตอรี่ลิเธียม โมดูลจอ LCD และ OLED เครื่องขยายเสียง) กระดาษแข็ง รวมถึงสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า

ขณะที่ภาคการนำเข้า แม้ว่าการนำเข้าจากต่างประเทศจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า แต่การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Goods) ยังรักษาระดับการขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการนำเข้าสินแร่และหัวแร่โลหะชนิดต่าง ๆ มีมูลค่าสูงถึง 107,757 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 (YoY) ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากออสเตรเลีย ชิลี เปรู คองโก และบราซิล ในจำนวนนี้ เป็นการนำเข้าสินแร่และหัวแร่ทองแดงมูลค่ามากที่สุด 62,163 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 (YoY) ส่วนใหญ่นำเข้าจากชิลี เปรู และคองโก

สินค้าที่ได้รับความนิยมนำเข้าของกว่างซี ได้แก่ สินค้าเชิงทรัพยากร (สินแร่และหัวแร่ทองแดง/เหล็ก/แมงกานีส/นิเกิล/ไทเทเนียม น้ำมันดิบและยางมะตอย ถ่านโค้ก โพรเพน) สินค้ามูลค่าต่ำที่ดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเรียบง่าย (พิกัด 98040000) สินค้าไฮเทค (แผงวงจรรวม อะไหล่อุปกรณ์สื่อสาร ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) สินค้าเกษตร (ถั่วเหลืองจีเอ็มโอ ผลไม้และถั่วเปลือกแข็ง ข้าวโพด มันสำปะหลังแห้งและแป้งสตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำมันเมล็ดเรป) ไม้เป็นท่อน

“อาเซียน” เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของกว่างซี 25 ปีติดต่อกัน ปี 2567 สองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 397,819 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.6 ของมูลค่ารวม

ในจำนวนข้างต้น เป็นมูลค่าการส่งออกไปอาเซียน 305,588 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1 (YoY) และมูลค่าการนำเข้าจากอาเซียน 92,230 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 6.8 (YoY) โดยกว่างซีเกินดุลการค้าอาเซียนถึง 213,358 ล้านหยวน

การค้ากับ “ประเทศไทย” มีแนวโน้มลดลงเป็นครั้งแรก ปี 2567 สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 36,840 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 8.6 (YoY) แบ่งเป็นการนำเข้าจากไทย 8,782 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 52.3 (YoY) และการส่งออกไปไทย 28,058 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 (YoY) โดยกว่างซีได้ดุลการค้าไทย 19,276 ล้านหยวน

อย่างไรก็ดี “ประเทศไทย” ยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่และเป้าหมายการส่งออกอันดับ 3 ของกว่างซี รองจากเวียดนาม และสหรัฐอเมริกา และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญอันดับ 10 ของกว่างซี

สาเหตุที่การนำเข้าจากประเทศไทยส่งสัญญาณฝืด เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การนำเข้าสินค้า 2 รายการหลักจากประเทศไทยมีแนวโน้ม ‘ดิ่งลง’ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ” (HS Code: 84717019 ไม่รวม Solid-State Drive – SSD) ซึ่งลดลงมากถึงร้อยละ 78.79 (YoY) และ “ทุเรียนสด” ที่ลดลงร้อยละ 34.35 (YoY)

กล่าวคือ ปี 2566 ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและทุเรียนสดที่นำเข้าจากประเทศไทยของกว่างซีมีมูลค่ารวมกันมากถึง 14,432.58 ล้านหยวน ขณะที่ปี 2567 มูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน เหลือเพียง 5,361.32 ล้านหยวน เป็นการลดลงมากถึงร้อยละ 62.85 (YoY) และสัดส่วนต่อภาพรวมการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยของกว่างซี (คิดจากมูลค่าการนำเข้า) ลดลงจากร้อยละ 78.36 ในปี 2566 เหลือร้อยละ 61.04 ในปีที่ผ่านมา

พออนุมานได้ว่า การชะลอตัวของอุปสงค์การนำเข้า “ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจากไทย” ของเขตฯ กว่างซีจ้วง อาจเป็นเพราะความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่ผ่านมา กอปรกับกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้า consumer electronics ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัว ในขณะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ความต้องการคอมพิวเตอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว รวมถึงความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ทยอยปรับตัวลดลงจากการถูกเข้ามาแทนที่ของ solid-state drive หรือ SSD

ทั้งนี้ ในปี 2567 ภาพรวมของการนำเข้าฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟและทุเรียนสดจากประเทศไทยของทั้งประเทศจีนก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยการนำเข้าฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟจากไทยของทั้งประเทศ ลดลงทั้งในแง่ปริมาณ (ลดลงร้อยละ 33.62) และมูลค่า (ลดลงร้อยละ 14.83)

ขณะที่การนำเข้าทุเรียนสดไทยของทั้งประเทศจีน พบว่า มีปริมาณ 809,740 ตัน ลดลงร้อยละ 12.83 (YoY) และคิดเป็นมูลค่านำเข้า 28,549 ล้านหยวน ลดลงร้อยละ 10.78 (YoY) ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์การนำเข้าทุเรียนสดของทั้งประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีปริมาณนำเข้ารวม 1.563 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.43 (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 49,740.11 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31 (YoY) ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้า ‘ทุเรียนญวน’ ที่ ‘พุ่ง’ สูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยจีนนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม 736,714 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.39 (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 20,919.64 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.19 (YoY)

โดยทุเรียนไทยกำลังสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดจีนให้เวียดนาม (คิดจากปริมาณการนำเข้า) โดยทุเรียนญวณได้ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในจีนจากร้อยละ 34.59 ในปี 2566 เพิ่มเป็นร้อยละ 47.22  ขณะที่ทุเรียนไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจากร้อยละ 65.15 ในปี 2566 เหลือร้อยละ 51.9

ศักยภาพด้านการค้ากับประเทศไทยของเขตฯ กว่างซีจ้วง หากพิจารณาในภาพรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ (31 มณฑล) พบว่า ปี 2567 การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 31 มณฑล ด้วยสัดส่วนร้อยละ 3.86 ของทั้งประเทศ รองจากมณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 23.57 / มณฑลเจียงซู ร้อยละ 14.06 / มณฑลเจ้อเจียง ร้อยละ 12.90 / นครเซี่ยงไฮ้ ร้อยละ 9.03 / มณฑลซานตง ร้อยละ 7.82 และมณฑลฝูเจี้ยน ร้อยละ 4.97

หากมองเฉพาะ 12 มณฑลทางภาคตะวันตก พบว่า การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีสัดส่วนนำเป็นอันดับ 1 ในภาคตะวันตก รองลงมา อาทิ นครฉงชิ่ง (สัดส่วนร้อยละ 2.31 อันดับ 10 ในจีน) มณฑลเสฉวน (สัดส่วนร้อยละ 2.07 อันดับ 12) มณฑลยูนนาน (สัดส่วนร้อยละ 1.38 อันดับ 15) เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (สัดส่วนร้อยละ 0.47 อันดับ 21)

ภาพรวมการนำเข้าจากไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 8 ของประเทศ ร่วงลง 2 อันดับจากปีก่อนหน้า (รองจากมณฑลกวางตุ้ง  นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู มณฑลซานตง มณฑลฝูเจี้ยน และกรุงปักกิ่ง) และเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตก รองลงมา อาทิ มณฑลยูนนาน (อันดับ 9 ในจีน) นครฉงชิ่ง (อันดับ 11 ในจีน)  มณฑลเสฉวน (อันดับ 12 ในจีน) และมณฑลกุ้ยโจว (อันดับ 22 ในจีน)

ภาพรวมการส่งออกไปไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 7 เท่ากับปีก่อนหน้า (รองจากมณฑลกวางตุ้ง มณฑล เจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน) และเป็นอันดับ 1 ใน 12 มณฑลทางภาคตะวันตกเช่นกัน รองลงมา อาทิ นครฉงชิ่ง (อันดับ 9 ในจีน) มณฑลเสฉวน (อันดับ 11 ในจีน) มณฑลยูนนาน (อันดับ 20 ในจีน) และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (อันดับ 21 ในจีน)



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 21 มกราคม 2568
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (新华网广西) วันที่ 21 มกราคม 2568
เว็บไซต์ http://stats.customs.gov.cn

เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn

กว่างซีการค้าต่างประเทศ

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน