เจาะโอกาสไทยในเมืองเป๋ยไห่กับบทบาทใหม่ “เมืองอุตสาหกรรมทางทะเล” ของจีน

6 Feb 2025

เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็น 1 ใน 14 เขตการปกครองระดับมณฑลที่ตั้งอยู่เลียบชายฝั่งทะเลของประเทศจีน โดยตั้งอยู่สุดปลายชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี หรือที่คนไทยรู้จักชื่อ “อ่าวตังเกี๋ย” กว่างซีมีเมืองท่า 3 แห่ง ได้แก่ เมืองชินโจว เมืองฝางเฉิงก่าง และเมืองเป๋ยไห่ ซึ่งแต่ละแห่งได้รับการกำหนดบทบาทด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันตามความถนัดและข้อได้เปรียบในพื้นที่

ใครว่า… เมืองเป๋ยไห่ (Beihai City/北海市) ของกว่างซีมีดีแค่การเป็น “เมืองท่องเที่ยวชายทะเล” อันที่จริง ช่วงต้นยุคที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังบูม เมืองเป๋ยไห่ได้รับการขนานนามเป็น “ซิลลิคอนวัลเล่ย์แห่งอ่าวเป่ยปู้” โดยเฉพาะการผลิตจอแอลซีดีประเภทต่าง ๆ

มาในวันนี้… เมืองเป๋ยไห่กำลังถูกส่งเสริมบทบาทการเป็น “เมืองอุตสาหกรรมทางทะเล” (Maritime Industry) หน้าใหม่ของจีน

เมื่อไม่นานมานี้ เมืองเป๋ยไห่เพิ่งคว้าโครงการลงทุนมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านหยวนจากบริษัท China Fortune Ocean (中创海洋科技股份有限公司) เป็นโครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเรือเดินทะเลที่ผลิตจากวัสดุชนิดใหม่ (Advanced Material) เรือเดินทะเลที่ใช้พลังงานทางเลือก (New Energy) รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางทะเล (Marine Equipment)

ในบริบทที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนา “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” (Blue Economy) และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางทะเลของจีนได้พัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสาร ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้มีความล้ำสมัย มีความอัจฉริยะและอัตโนมัติ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และช่วยลดมลพิษทางทะเลจากอุตสาหกรรมเดินเรือ

การเข้ามาลงทุนของบริษัท China Fortune Ocean ในเขตอิ๋นไห่ (Yinhai District/银海区) เมืองเป๋ยไห่ ช่วยตอบโจทย์ที่กล่าวมาข้างต้น และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยวางรากฐานและส่งเสริมบทบาทใหม่ของ “เมืองเป๋ยไห่” ในการก้าวขึ้นเป็น “เมืองอุตสาหกรรมทางทะเล”ของจีน และเป็นต้นแบบการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเดินเรือไปสู่ความเป็นอัจฉริยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตามรายงานของสำนักข่าว Chinanews บริษัท China Fortune Ocean ควักกระเป๋าราว 2,000 ล้านหยวน โดยแบ่งการลงทุนเป็น 3 ระยะ เพื่อพัฒนา

(1) ฐานสาธิตศูนย์การส่งมอบและศูนย์บำรุงรักษาเรือสำเร็จรูปประเภทต่าง ๆ อาทิ เรือประมงที่ใช้วัสดุชนิดใหม่และใช้พลังงานทางเลือกใหม่ เรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรือตกปลา เรือท่องเที่ยว 

(2) นิคมอุตสาหกรรมแบบครบวงจรด้านการผลิต ส่งมอบ และบำรุงรักษาเรือที่ใช้วัสดุใหม่และใช้พลังงานทางเลือกใหม่ และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางทะเล

และ (3) คลัสเตอร์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบบครบวงจรของเรือประมงที่ใช้วัสดุใหม่และใช้พลังงานทางเลือกใหม่ และอุปกรณ์เครื่องมือระดับชั้นนำที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางทะเล ตั้งแต่การออกแบบ การผลิตอัจฉริยะ การทดสอบนำร่องก่อนการผลิตจริง (Pilot test) และการบำรุงรักษา

บริษัทฯ วางเป้าหมายว่าจะใช้เวลา 5 ปีในการดึงดูดสถาบันการวิจัย ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และธุรกิจด้านอุปทาน ให้ได้มากกว่า 30 ราย และจะพัฒนาให้นิคมแห่งนี้เป็น “ศูนย์กลางการผลิตที่มุ่งสู่อาเซียนในอุตสาหกรรมเรือที่ใช้วัสดุใหม่และใช้พลังงานทางเลือกใหม่ และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมเรือเดินทะเล” รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมการต่อเรือประมงของเมืองเป๋ยไห่สู่ความเป็นอัจฉริยะ ดิจิทัล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

บริษัท China Fortune Ocean คือใคร??? เป็นบริษัทชั้นนำที่มุ่งพัฒนาเรือที่ผลิตจากวัสดุชนิดใหม่ของจีน มีธุรกิจครอบคลุมด้านการออกแบบและต่อเรือที่ใช้วัสดุชนิดใหม่ อุปกรณ์ติดตั้งในเรือ บริการด้านดิจิทัล และพลังงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทฯ ได้รับการยกย่องจากสมาคมประมงนอกน่านน้ำจีน (China Overseas Fisheries Association/中国远洋渔业协会) เป็น “ฐานสาธิตการต่อเรือประมงนอกน่านน้ำที่ผลิตจากวัสดุชนิดใหม่ของจีน”

ปัจจุบัน บริษัทแห่งนี้เป็น “ผู้มีคุณสมบัติในการออกแบบเรือประมงที่ผลิตจากพลาสติกเสริมแรงด้วยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass-Reinforced Plastic หรือ FRP) เกรดเอ” เพียงแห่งเดียวในประเทศจีน ได้ออกแบบและต่อเรือที่ใช้วัสดุชนิดใหม่และใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นรุ่นมาตรฐานมากกว่า 10 รุ่น รวม 500 กว่าลำ อาทิ เรือวัสดุชนิดใหม่พลังงานไฮโดรเจน เรือวัสดุชนิดใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงเมทานอล เรือวัสดุชนิดใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของเทคโนโลยีชั้นนำอื่น ๆ อาทิ ระบบแสดงผลและควบคุมเรือผ่านหน้าจอเดียว เทคโนโลยีอัจฉริยะไร้คนขับ เทคโนโลยีการทำน้ำแข็งจากน้ำทะเล และวัสดุพลาสติกคอมโพสิต Herb-Plastic Composites (HPC)

บีไอซี เห็นว่า ในบริบทที่ “อุตสาหกรรมทางทะเล” ก็เป็นหนึ่งในแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการทำประมง การขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยวทางทะเล อีกทั้ง ยังเป็นหนึ่งในทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทุกภาคส่วนของไทยไม่ควรมองข้าม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือ และอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี ดังนั้น “เมืองเป๋ยไห่” จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน  การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมทางทะเลในเมืองเป๋ยไห่ผ่านแพลตฟอร์มที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 11 มกราคม 2568
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 10 มกราคม 2568
เว็บไซต์ http://en.people.cn (人民日报) วันที่ 24 ธันวาคม 2567
ภาพประกอบ 36kr.com / gworldship.com และ maphill.com

เมืองเป๋ยไห่อุตสาหกรรมทางทะเลเรือ

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน