โมเดลการค้าใหม่!! กว่างซีนำเข้า “เนื้อทุเรียนไทย” ทางทะเลในรูปแบบการค้าชายแดนเป็นครั้งแรก
13 Jan 2025
“จีน” เป็นประเทศที่มีการนำเข้าและบริโภค “ทุเรียน” มากที่สุดในโลก หลังจากที่จีนทยอยเปิดตลาด “ทุเรียนสด”ให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้ามาเป็น ‘ผู้เล่น’ ในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม (27 ก.ค. 2565 ทุเรียนสด / 19 ส.ค. 2567 ทุเรียนแช่แข็ง) ฟิลิปปินส์ (4 ม.ค. 2566 ทุเรียนสด) และมาเลเซีย (24 มิ.ย. 2567 ทุเรียนสด)
ข้อมูล 10 เดือนแรก ปี 2567 พบว่า การนำเข้าทุเรียนของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 1.5478 ล้านตัน รวมมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 50,600 ล้านหยวน แบ่งเป็น (1) การนำเข้าทุเรียนสด มากถึง 1.487 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 47,237 ล้านหยวน และ (2) การนำเข้าทุเรียนแช่แข็ง เนื้อทุเรียน และทุเรียนผลสุกที่แช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว รวมมากกว่า 60,000 ตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 3,385 ล้านหยวน
ล่าสุด เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้พัฒนารูปแบบการค้า “เนื้อทุเรียน” แบบใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศจีน คือ การนำเข้า “เนื้อทุเรียนไทย” ผ่านทางทะเลในรูปแบบการค้าชายแดนจากท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว (กว่างซี) – เขตการค้าตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนผู่จ้าย (เมืองผิงเสียง กว่างซี)

เรียกได้ว่าเป็นการ ‘ข้ามกรอบ’ คำนิยามการค้าชายแดนที่เป็นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ถือเป็นการพัฒนาช่องทางการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ระหว่างจีน (กว่างซี) กับต่างประเทศ นอกจากจะช่วยภาคธุรกิจลดต้นทุนด้านการนำเข้า (การค้าในรูปแบบการค้าชายแดน ผู้นำเข้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี) ยังช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปบริเวณชายแดน ทั้งนี้ การนำเข้าในรูปแบบดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปในพื้นที่ชายแดน
ตามรายงาน “เนื้อทุเรียนไทย” ล็อตแรกนี้ส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งหน้าไปยังท่าเรือชินโจว (เมืองชินโจว เขตฯ กว่างซีจ้วง) โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน ก่อนจะเคลื่อนย้ายด้วยรถบรรทุกเพื่อไปดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านการค้าชายแดนผู่จ้าย (เมืองผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง) และส่งไปแปรรูปในโรงงานแปรรูปของบริษัท Guangxi Zhongguo Industrial Co.,Ltd. (广西中果实业有限公司) ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมผิงเสียง (ชายแดนกว่างซี-เวียดนาม) โดยผู้นำเข้าได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ช่วยให้สินค้าสามารถส่งถือมือผู้นำเข้าอย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าตกค้างบริเวณด่าน

“เดิมที บริษัทฯ นำเข้าผลไม้เวียดนามผ่านด่านทางบก ปัจจุบัน บริษัทฯ นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยด้วย และเห็นว่าการขนส่งทางทะเลระหว่างไทยกับจีนมีความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้น ในครั้งนี้ บริษัทฯ จึงได้บุกเบิกพัฒนาโมเดลการนำเข้าสินค้าทางทะเลเพื่อการแปรรูปบริเวณชายแดน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการนำเข้าวัตถุดิบของบริษัทฯ และ ต่อไป บริษัทฯ จะผลักดันการนำเข้าสินค้าจากไทยและมาเลเซียผ่านโมเดลนี้มากขึ้น” —- คำบอกเล่าของคุณถาน เหวินจิ้ง (Tan Wenjing/谭文静) หัวหน้าฝ่ายการค้าสินค้าโภคภัณฑ์บริษัท Guangxi Zhongguo Industrial Co.,Ltd.
ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยฉงจั่วกับพื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจวที่ได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการบุกเบิกพัฒนาธุรกรรมนำร่องในการนำเข้าสินค้ารูปแบบตลาดการค้าชายแดนผ่านการขนส่งทางทะเลเพื่อนำไปแปรรูปในพื้นที่ชายแดน” เมื่อเดือนตุลาคม 2567 และได้มีการศึกษาวิจัยด้านการตลาดและต้นทุนในการนำเข้าเนื้อทุเรียนแช่แข็งและเนื้อมะม่วงแช่แข็งในรูปแบบดังกล่าวหลายต่อหลายครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานศุลกากรผิงเสียง สำนักงานพาณิชย์ผิงเสียง สำนักงานกิจการภาษี สหกรณ์การค้าชายแดน และธนาคาร Bank of China สาขาฉงจั่ว เพื่อร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาแนวทางในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการทางศุลกากร การขนส่ง การชำระภาษี และการโอนชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การนำเข้า “เนื้อทุเรียนไทย” ล็อตแรกเป็นไปด้วยความราบรื่น
จากข้อมูลพบว่า โครงสร้างการบริโภคผลไม้ของประเทศจีน ร้อยละ 70 เป็นการบริโภคผลไม้สด ร้อยละ 23 เป็น การบริโภคผลไม้แห้ง ที่เหลืออีกร้อยละ 7 เป็นการแปรรูปเชิงลึก ตลาดผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเชิงลึกจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
บีไอซี เห็นว่า โมเดลการค้าใหม่ดังกล่าวช่วยสร้าง ‘โอกาสทอง’ ทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้และเนื้อผลไม้ อาทิ ทุเรียน มะม่วง เสาวรส ขนุน ซึ่งตลาดจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว หรือการแปรรูปขั้นต้นเพื่อเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือขนมหวานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง ผลไม้ฟรีซดราย ผลไม้บรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ แยมผลไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของผลไม้ ทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมบริโภค (Ready to eat: RTE) และอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook :RTC) ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นหลากรูปแบบ หลายเมนูในตลาดจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://news.gxtv.cn (广西电视网) วันที่ 26 ธันวาคม 2567
เว็บไซต์ www.pxszf.gov.cn (凭祥市人民政府) วันที่ 26 ธันวาคม 2567
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 25 ธันวาคม 2567
เว็บไซต์ http://zmqzcyyq.gxzf.gov.cn (中马钦州产业园区管委会) วันที่ 23 ธันวาคม 2567