ราชินีแห่งส้ม —— “ส้มว่อกาน” ของกว่างซี เตรียมทำตลาดไทย
30 Dec 2024คุณเคยได้ยินชื่อของ “ส้มว่อกาน” หรือไม่ เมื่อไม่นานมานี้ ในงานเปิดตลาดส้มว่อกาน ประจำปี 2567/2568 ที่จัดขึ้นในเขตอู่หมิง (Wuming District/武鸣区) ย่านชานเมืองนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของประเทศจีน ผู้ผลิตส้มว่อกานในพื้นที่ปิดดีลการค้ากับผู้ค้าจีนและต่างประเทศ ทั้งจากเวียดนาม ไทย มาเลเซีย และแคนาดา รวมเป็นเงินมากกว่า 120 ล้านหยวน
ส้มว่อกาน (Wogan Orange/沃柑) ได้รับการขนานนามเป็น “ราชานีแห่งส้ม” โดยเขตฯ กว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนานเป็นแหล่งปลูกส้มว่อกานแหล่งใหญ่ของประเทศ มีพื้นที่ปลูกรวมกันถึงร้อยละ 90 ของทั้งประเทศ และ “เขตอู่หมิง” ของกว่างซี ได้รับการขนานนามเป็น “บ้านเกิดของส้มว่อกานจีน” มีกำลังการผลิต 1/5 ของทั้งประเทศ การผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 10,000 ล้านหยวน
นอกจากนี้ “ส้มว่อกานอู่หมิง” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” (Geographical Indications – GI) เมื่อเดือนธันวาคม 2562
นายอิ่น อวี้ห์หลิน (Yin Yulin/尹玉林) ผู้อำนวยการเขตอู่หมิง เปิดเผยว่า ปีนี้ เขตอู่หมิงมีพื้นที่ปลูกส้มว่อกานมากกว่า 4.6 แสนหมู่จีน หรือราว 1.916 แสนไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตมากกว่า 1.5 ล้านตัน ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 5-10 หยวนตามเกรด คาดการณ์ว่าการส่งออกจะสดใสขึ้นอีก
ตามรายงาน ภายในงานเปิดตลาดส้มว่อกาน ประจำปี 2567/2568 คุณหลี่ เจียเยว่ห์ (Li Jiayue/李嘉月) ผู้จัดการบริษัท เอส อาร์ ฟรุต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ค้าผลไม้ในไทยได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับผู้ผลิตส้มว่อกานอู่หมิง ปัจจุบัน บริษัทฯ มีโกดังเย็น 12 แห่งในไทย สามารถใช้เก็บรักษาส้มว่อกานอู่หมิง
รู้หรือไม่… “ส้มว่อกาน” เป็นผลไม้ท้องถิ่นชนิดแรก ๆ ของนครหนานหนิงที่โกอินเตอร์ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานคุณภาพผลไม้ของกว่างซี บริษัท Guangxi Qifengjuzhou Fruits Co.,Ltd. (广西起凤橘洲果业有限公司) เป็นผู้ส่งออกส้มว่อกานรายสำคัญ ปัจจุบัน ส่งออกส้มว่อกานผลสดไปยัง 21 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก ตลาดหลักอยู่ในอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีรัสเซีย และแคนาดา
ด้านบริษัท Guangxi Jiuchuang Culture Media Co.,Ltd. (广西九创文化传媒有限公司) เป็นผู้ทำตลาดส้มว่อกานผ่านการไลฟ์สดบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คุณเหลียง เจี้ยน (Liang Jian/梁健) รองผู้จัดการบริษัทฯ เปิดเผยว่า บริษัททำยอดขายรายเดือนได้มากกว่าล้านหยวน คาดการณ์ว่าสองเดือนนี้ ยอดขายน่าจะทะลุ 10 ล้านหยวน ปัจจุบัน คำสั่งซื้อส่วนใหญ่มาจากกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และกำลังทดลองส่งไปจำหน่ายที่ 3 มณฑลจีนอีสาน (เฮยหลงเจียง จี๋หลิน เหลียวหนิง)
การดำเนินงานที่น่าสนใจของเขตอู่หมิง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมส้มว่อกานในปีนี้ (ปี 2567) อาทิ
- การสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพแบรนด์สินค้า GI ส้มว่อกานอู่หมิง เช่น การส่งเสริมให้ผู้ผลิตใช้ “ระบบตรวจสอบย้อนกลับ” (Traceability) ที่เชื่อมโยงข้อมูลการผลิตได้ในห่วงโซ่ได้ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าได้ตลอดกระบวนการ / การสนับสนุนการเข้าถึง “ข้อมูลโปร่งใส” ทั้งข้อมูลด้านการผลิตและการจำหน่ายแบบเรียลไทม์ / การจัดให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่าง ทั้งในสวน โรงคัดบรรจุ และตลาด
- การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมส้มว่อกานสำหรับวิสาหกิจชุมชน ซึ่งช่วยให้เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพในชุมชนได้จำนวนมาก
- ในระยะต่อไป เขตอู่หมิงจะพัฒนาการสร้างแบรนด์ และการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมส้มว่อกานแบบครบวงจร ตั้งแต่ “การเพาะและขยายพันธุ์กล้าส้ม – ฐานการเพาะปลูกส้ม – การจัดจำหน่ายส้มผลสด – การแปรรูปส้มเชิงลึก – การใช้ประโยชน์จากกากส้ม” รวมทั้งจะพัฒนาโมเดลการเกษตรเชิงท่องเที่ยวอีกด้วย
ปัจจุบัน เขตอู่หมิง มีโรงคัดผลไม้หลังเก็บเกี่ยวเชิงพาณิชย์ 166 แห่ง 246 สายการผลิต มีศักยภาพในการจัดการส้มว่อกานได้ปีละ 1.68 ล้านตัน มีโกดังเย็น 363 แห่ง คิดเป็นความจุรวมมากกว่า 2.18 แสนลูกบาศก์เมตร
นอกจากการค้าผลสดแล้ว เขตอู่หมิงยังได้ต่อยอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมส้มว่อกานเพื่อใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรมและเครื่องดื่มชา ได้ดึงดูดนักลงทุนและนำเข้าเครื่องผลิตและบรรจุน้ำผลไม้ที่ทันสมัยจากต่างประเทศ มีกำลังการผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมได้วันละ 10,000 กล่อง ช่วยเติมเต็มช่องว่างด้านการแปรรูปส้มว่อกานเชิงลึกของเขตอู่หมิง
บีไอซี เห็นว่า ปัจจุบัน การส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีนด้วยตู้ควบคุมอุณหภูมิความเย็น (Reefer) ผ่านเส้นทาง R9 และ R12 ส่วนใหญ่จะเป็นการตีตู้เปล่ากลับประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นทุนเสียเปล่า ดังนั้น “ส้มว่อกานอู่หมิง” เป็นตัวเลือกใหม่ที่ผู้ค้าไทยสามารถพิจารณานำเข้าจากจีน(กว่างซี) ในขากลับ ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการค้าสองทางระหว่างสองประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
ทั้งนี้ ผู้นำเข้าไทยจะต้องศึกษากฎระเบียบการนำเข้า และปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดภายใต้กรอบพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกันโรคและการตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจากจีนไปไทย เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่อาจติดมากับกิ่งใบและดิน รวมถึงติดตามสถานการณ์การขนส่งบริเวณด่าน และการเปิดช่องทางการขนส่งใหม่ อย่างใกล้ชิด ซึ่งศูนย์บีไอซีก็จะรายงานข้อมูลอัปเดตให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 22 ธันวาคม 2567
เว็บไซต์ https://finance.sina.com.cn (新浪网) วันที่ 22 ธันวาคม 2567
ภาพข่าว nnwb.nnnews.net / chinanews.com.cn / gxnews.com.cn