โอกาสธุรกิจยางไทย เมื่อเมืองกุ้ยหลินเปิดโรงงานผลิต “ยางล้อเครื่องบิน” ที่แรกในจีน
12 Dec 2024ในรายงานแนวโน้มตลาดเชิงพาณิชย์ประจำปี 2567 ของโบอิ้ง (Boeing) ระบุว่า ประเทศจีนจะมีเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2586 เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ของจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพื่อตอบสนองความต้องการในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่เพิ่มขึ้น
ณ สิ้นปี 2566 ประเทศจีนมีเครื่องบินพาณิชย์ใช้งานอยู่ 4,270 ลำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแอร์บัส A320 โดย “ยางล้อ” เป็นวัสดุสิ้นเปลือง แต่เป็นส่วนประกอบของเครื่องบินที่มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทุกฝ่าย
ปัจจุบัน ทั่วโลกมีโรงงานผลิตล้อยางมากกว่า 1,000 แห่ง แต่กลับมีโรงงานเพียง 10 กว่าแห่งที่สามารถผลิตยางล้อเครื่องบินได้ คาดการณ์ว่า แต่ละปีอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ของจีนมีความต้องการใช้ยางล้อเครื่องบินมากกว่า 250,000 เส้น ซึ่งที่ผ่านมา ร้อยละ 98 ของยางล้อเครื่องบินพาณิชย์ในจีนเป็นล้อยางนำเข้า โรงงานล้อยางเครื่องบินที่ตั้งอยู่ในจีนก็เป็นโรงงานแบรนด์ต่างชาติ แต่หลังจากนี้ทุกอย่าง คือ “อดีต”
หลังจากที่บริษัท Guilin Lanyu Aircraft Tire Development Co., Ltd. (桂林蓝宇航空轮胎发展有限公司) ประสบความสำเร็จในการทดสอบล้อยางเรเดียลสำหรับเครื่องบิน Airbus A320 ในการบินขึ้น-ลงจริงที่ท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียง เมืองกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 บริษัท Guilin Lanyu ได้จัดงานประชาสัมพันธ์การเปิด “สายการผลิตยางล้อเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่” ที่แรกของประเทศจีน โดยการเริ่มผลิตยางล้อเครื่องบินครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของจีนที่สามารถผลิตยางล้อเครื่องบินพาณิชย์ได้ด้วยตนเอง และเป็นการ ‘อุดช่องโหว่’ ในอุตสาหกรรมการผลิตล้อยางเรเดียลสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ของประเทศจีน
พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดตัว “แพลตฟอร์มการทดสอบสมรรถนะล้อยางเครื่องบินในสภาวะการทำงานที่ซับซ้อน” แห่งแรกของประเทศจีน และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ล้อยางเครื่องบิน 12 รายการที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของจีน (Independent Intellectual Property Rights : IIPR) เป็นล้อยางที่ใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ 6 รุ่น (C909, A320, B737NG, C919, C929 และ B737max) โดยล้อยางทั้งหมดสามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของฝูงเครื่องบินพาณิชย์ในจีนได้ร้อยละ 40
สำหรับ “สายการผลิตยางล้อเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่” ที่แรกในจีน เป็นของบริษัท Guilin Lanyu Aircraft Tire Development Co., Ltd. (桂林蓝宇航空轮胎发展有限公司) ในเครือ Sicochem Group (中国中化集团) ตั้งอยู่ในเมืองกุ้ยหลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นโรงงานอัจฉริยะที่มีกำลังการผลิตยางล้อเครื่องบินสมรรถนะสูงได้ปีละ 100,000 เส้น
ตามรายงาน สายการผลิตล้อยางเครื่องบินของ Guilin Lanyu มีพื้นที่เกือบ 50,000 ตร.ม. ได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตรฐานอุตสาหกรรม 4.0 สายการผลิตเป็นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง (Advanced manufacturing) ที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและตรวจสอบควบคุมการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ ซึ่งช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการทำงานด้วยแรงงานมนุษย์ (manual) ลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0
โรงงานแห่งนี้เป็นสายการผลิตระบบปิด (Closed loop system) ที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติผ่านระบบปฏิบัติการผลิต MES System / ระบบวิเคราะห์ 3D Spatiotemporal Big Data Analytics / ระบบ RFID (Radio Frequency Identification) เป็นเทคโนโลยีในการระบุตัวตนของวัตถุด้วยการส่งสัญญาณแบบไร้สาย เและระบบเซ็นเซอร์เกือบ 20,000 ตัว)
อีกก้าวย่างสำคัญของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์จีน คือ การพัฒนา “แพลตฟอร์มการทดสอบสมรรถนะล้อยางเครื่องบินในสภาวะการทำงานที่ซับซ้อน” แห่งแรกของจีน เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Guilin Lanyu กับหลายสถาบัน อาทิ สถาบันวิจัย Aircraft Strength Research Institute of China (中国飞机强度研究所) และมหาวิทยาลัยชิงหัว
แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและพิสูจน์ยืนยันข้อมูล (Data) จากการวิจัยและพัฒนายางล้อเครื่องบินพาณิชย์ของจีน การทำงานของแพลตฟอร์มสามารถจำลองสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนเพื่อใช้ทดสอบการขึ้น-ลงจอดของยางล้อเครื่องบินในห้องปฏิบัติการได้เป็น ‘ที่แรก’ และ ‘ที่เดียว’ ในประเทศจีน เช่น การเร่งความเร็วสูงในการนำเครื่องขึ้น อัตราการรับน้ำหนักสูงสุด การทดสอบการทำงานของยางล้อที่ได้รับความเสียหายจากวัตถุแปลกปลอม
ศาสตราจารย์จาง ลี่ฉวิน (Zhang Liqun/张立群) นักวิชาการบัณฑิตประจำสภาบัณฑิตวิศวกรรมแห่งชาติจีน และอธิการบดีมหาวิทยาลัย Xi’an Jiaotong University กล่าวว่า อุตสาหกรรมยางล้อเครื่องบินของจีนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างชัดเจนในด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการยกระดับอุตสาหกรรม บริษัทจีนหลายแห่งประสบความสำเร็จในการพัฒนายางล้อเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงและผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2567 การทดสอบล้อยางเรเดียลสำหรับเครื่องบิน Airbus A320 ซึ่งเป็นล้อยาง ‘สัญชาติจีน’ ที่วิจัยและพัฒนาโดยบริษัท บริษัท Guilin Lanyu ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามที่ท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียง เมืองกุ้ยหลิน
สำหรับสมรรถนะของล้อยางเครื่องบิน ‘สัญชาติจีน’ ที่ Made in Guangxi นี้ นางฝาน น่า (Fan Na/樊娜) หัวหน้าฝ่ายการตลาดบริษัท Guilin Lanyu ให้ข้อมูลว่า หากเปรียบเทียบกับล้อยางประเภทเดียวกัน ล้อยางบริษัท Guilin Lanyu มีความปลอดภัย มีความเสถียร และมีความทนทานในการใช้งานสูงกว่า ยกตัวอย่าง ล้อยางเครื่องบิน C909 พบว่า ล้อยางนำเข้าจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยจากจำนวนครั้งเครื่องบินขึ้น-ลงมากกว่า 160 ครั้ง ขณะที่ล้อหน้าของบริษัท Guilin Lanyu มีอายุการใช้งานมากกว่า 200 ครั้ง
บีไอซี เห็นว่า การเริ่มเดินสายการผลิตยางล้อเครื่องบินพาณิชย์จะช่วยดึงดูดให้ภาคการผลิตและการบริการที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำให้เข้ามาลงทุนในเมืองกุ้ยหลินได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับยางและผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทยที่จะส่งออกไปเขตฯ กว่างซีจ้วง(จีน)ได้เพิ่มมากขึ้น โดยภาคเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราจะต้องยกระดับคุณภาพของผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปยางที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความได้เปรียบบนเวทีอุตสาหกรรมยางเหนือประเทศคู่แข่ง
นอกจากนี้ หน่วยงาน/องค์กรของไทยยังสามารถแสวงหาช่องทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยล้อยางเครื่องบินที่มีสมรรถนะสูงสำหรับเครื่องบินพาณิชย์รุ่นต่าง ๆ ร่วมกับบริษัท Guilin Lanyu เมืองกุ้ยหลิน เขตฯ กว่างซีจ้วง และเชื่อว่า ‘ยางล้อเครื่องบิน Made in Guangxi’ อาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกใหม่ของธุรกิจการบินพาณิชย์ของประเทศไทยก็เป็นได้
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://local.cctv.com (央视网) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ http://www.news.cn (新华网) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ www.cs.com.cn (中国证券报) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ www.gmw.cn (光明网) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ www.guancha.cn (观察者网) วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567