รู้ยัง…. ด่านทางบกสุยโข่วผ่านตรวจรับด่านสากลแล้ว ผลไม้ไทยพร้อมไปหรือยัง
19 Nov 2024เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 โครงการขยายพื้นที่เปิดสู่ภายนอกของด่านทางบกสุยโข่ว (Shuikou Border Gate/水口口岸) ในเมืองฉงจั่ว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้ผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับร่วมจากส่วนกลางอย่างเป็นทางการแล้ว
“ฉงจั่ว” (Chongzuo City/崇左市) เป็นเมืองที่มีด่านชายแดนจำนวนมากที่สุดในจีน และมีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในจีน ทั้งด่านระดับชาติประเภทที่ 1 (ด่านสากลทวิภาคีและด่านสากลระหว่างประเทศ) จำนวน 5 แห่ง ด่านประเภทที่ 2 (ด่านประเพณี ระดับมณฑล) จำนวน 2 แห่ง และจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนอีกจำนวน 14 แห่ง
ในแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทยบนถนน R9 (มุกดาหาร) R12 (นครพนม) คงคุ้นเคยกับชื่อ “ด่านโหย่วอี้กวาน และด่านรถไฟผิงเสียง” ซึ่งเป็น “ด่านการค้าผลไม้” ในกำกับของเมืองฉงจั่วที่ได้รับการบรรจุในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทราบหรือไม่ว่า… เมืองฉงจั่วยังมีด่านการค้าผลไม้อีกแห่งที่มีชื่อว่า “ด่านสุยโข่ว” (ได้รับการบรรจุในพิธีสารฯ ที่รัฐบาลไทยกับจีนได้ลงนามเพื่อขยายด่านเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564) ตั้งอยู่ในอำเภอหลงโจว เมืองฉงจั่ว ห่างจากนครหนานหนิง 218 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามเป็นด่านต่าลุง (Tà Lùng) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ประเทศเวียดนาม มีแม่น้ำต้งกุ้ยเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ
เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 บีไอซี ได้มีโอกาสติดตามนางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ที่ได้นำคณะกรรมการบริหาร (ทีมประเทศไทย) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ไปลงพื้นที่ศึกษาดูงานด่านทางบกสุยโข่ว และร่วมประชุมกับผู้บริหารเมืองฉงจั่ว ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ดังนี้
“ด่านทางบกสุยโข่ว” ประกอบด้วยจุดให้บริการ 2 แห่ง คือ (1) ด่านสะพานแห่งที่ 1 เป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Checkpoint) และ (2) ด่านสะพานแห่งที่ 2 เป็นด่านศุลกากร (Customs) ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่งผ่านการตรวจรับจากส่วนกลาง (ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่วางไว้ว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2567)
ด่านศุลกากรสุยโข่ว หรือด่านสะพานแห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 417 ไร่ เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2558 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2566 เฟสแรก มีเนื้อที่ 250 ไร่ เงินลงทุน 405 ล้านหยวน พื้นที่สิ่งปลูกสร้างราว 60,000 ตร.ม.
ด่านสะพานแห่งที่ 2 ทำหน้าที่เป็นด่านศุลกากรที่ใช้สำหรับการค้าสากล และการค้าชายแดน ตัวอาคารประตูไม้กั้น หรือ Truck Terminal มีทั้งหมด 14 ช่องจราจร ในจำนวนนี้ เป็นช่องไม้กั้นสำหรับรถบรรทุกสินค้า ‘เข้า 9 ออก 5’ (โดยกัน 2 ช่องจราจรไว้เป็นช่องทางเข้า-ออกฉุกเฉิน) ถือเป็นด่านทางบกที่มีจำนวนช่องไม้กั้นมากที่สุดในกว่างซี
ในส่วนของพื้นที่ลานสินค้ามีช่องจอดรถบรรทุกเพื่อสุ่มตรวจสินค้า จำนวน 20 ช่อง ลานสินค้ามีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าปีละ 20 ล้านตัน (ปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกวันละ 1,500 คัน) และแผนงานระยะไกล จะมีการขยายพื้นที่ลานสินค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าให้ได้ปีละ 36 ล้านตัน (ปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกวันละ 2,500 คัน)
คณะกรรมการตรวจรับร่วมด่านสุยโข่วในครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้แทนจากสำนักงานกำกับกิจการด่านแห่งชาติ (National office of Port Administration/国家口岸管理办公室) กระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affair/外交部) สำนักงานศุลกากรแห่งชาติ (General Administration of Customs of the People’s Republic of China (GACC)/海关总署) สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแห่งชาติ (National Immigration Administration/国家移民管理局) และคณะเสนาธิการร่วมคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง (The Joint Staff Department of the Central Military Commission (JSDCMC) /中央军委联合参谋部) เป็นต้น
ตามรายงาน คณะกรรมการฯ ได้ลงพื้นที่เขตอารักขาศุลกากรด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 2 เพื่อดำเนินการตรวจสอบระบบตรวจตรวจจับรังสีนิวเคลียร์สำหรับรถบรรทุกขาเข้า บ่อน้ำยาฆ่าเชื้อล้อรถยนต์ หรือบ่อจุ่ม (Wheel-dip) และระบบฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรถบรรทุกแบบทั่วคัน เพื่อทำการฆ่าเชื้อที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ เขตปฏิบัติการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (จุดผ่านพิธีการศุลกากรด้วยตนเองสำหรับรถบรรทุกขาออก) เขตตรวจสอบทางศุลกากร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของด่านสุยโข่ว
ทั้งนี้ หากพิจารณา “ระยะทางการขนส่ง” โดยเริ่มต้นจากจังหวัดนครพนม (ถนน R12) พบว่า ด่านสุยโข่วอยู่ห่างจากด่านโหย่วอี้กวานไปทางเหนืออีกราว 124 กิโลเมตร แต่มีระยะทางจากด่านเพื่อมุ่งหน้าไปยังนครหนานหนิงด้วยระยะทางใกล้เคียงกัน (เพียง 4 กิโลเมตร) กล่าวคือ ด่านสุยโข่ว ห่างจากนครหนานหนิง 218 กิโลเมตร ขณะที่ด่านโหย่วอี้กวานห่างจากนครหนานหนิง 214 กิโลเมตร
กอปรกับมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าผลไม้ อาทิ มาตรการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร (Green lane) มาตรการดำเนินพิธีการศุลกากรแบบนัดหมายล่วงหน้า 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง / มาตรการการยื่นสำแดงเอกสารล่วงหน้า /มาตรการสำแดงเอกสารสองขั้นตอน (Two-Step Declaration โดยยื่นเอกสารหลักเพื่อรับสินค้าออกจากเขตอารักขาศุลกากรก่อน และส่งเอกสารเพิ่มเติมตามไปทีหลัง) / มาตรการใหม่ที่ให้ผู้รับสินค้าที่สินค้าถูกระบบสุ่มตรวจ สามารถรับสินค้าออกจากเขตอารักขาศุลกากรได้แบบมีเงื่อนไข (หลังจากที่ จนท.ด่านศุลกากรได้เก็บตัวอย่างผลไม้เพื่อสุ่มตรวจแล้ว ผู้รับสินค้าสามารถนำสินค้าออกจากพื้นที่ด่านศุลกากรไปพักไว้ที่คลังสินค้าเย็นของตนเพื่อรอผลการสุ่มตรวจสินค้า) การจัดช่องตรวจสินค้าเฉพาะสำหรับผลไม้ การติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะ การนัดหมายและตรวจปล่อยเป็นลำดับแรก (First Priority) ในสินค้าผลไม้ และการสร้างกลไกการติดต่อประสานงานของภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไขในกรณีที่เกิดปัญหารถตกค้างในช่วงฤดูกาลผลไม้
จากข้อมูล พบว่า ฝั่งเวียดนามอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางด่วน (Expressway) สายด่งดัง (จ.ลางเซิน) – จ่าลิงห์ (จ.กาวบั่ง) ระยะทาง 93 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2569 โดยด่านต่าลุง (ตรงข้ามด่านสุยโข่ว) เป็นทางผ่านของทางด่วนเส้นดังกล่าวด้วย
ในห้วงเวลาที่ผลไม้ไทยเผชิญความท้าทายจากการที่คู่แข่งอย่างผลไม้เวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้ไปจีนได้มากชนิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้การผ่านแดนของผลไม้ไทยที่ “ด่านหงูหงิ จ.ลางเซิน – ด่านโหย่วอี้กวาน เขตฯ กว่างซีจ้วง” อาจไม่ได้รับความสะดวกอย่างเช่นเคย บีไอซี เห็นว่า “ด่านสุยโข่ว” จะมีบทบาทเป็น ‘ช่องทางเสริม’ ในการระบายรถบรรทุกทั้งช่วงที่ด่านโหย่วอี้กวานมีปริมาณรถสินค้าแออัด และเป็น ‘ตัวเลือกใหม่’ ที่มีศักยภาพของผู้ส่งออกผลไม้ไทยบุกตลาดจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 01 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ http://paper.people.com.cn (人民日报) วันที่ 01 พฤศจิกายน 2567
เว็บไซต์ http://news.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 01 พฤศจิกายน 2567
การติดตามคณะกรรมการบริหาร (ทีมประเทศไทย) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ลงพื้นที่ศึกษาดูงานด่านสุยโข่วเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567