เลาะรั้วกว่างซี – แผนพัฒนา “อุตสาหกรรมไหม” กว่างซีกับโอกาสของภาคธุรกิจไทย
13 Nov 2024รู้หรือไม่ว่า… การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีประวัติศาสตร์เก่าแก่หลายพันปี จากการขุดค้นทางโบราณคดีในมณฑลเหอเฝยของจีนพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ผ้าไหมมีใช้กันในจีนตั้งแต่เมื่อ 8,500 ปีก่อนในยุคหินใหม่ ซึ่งเก่าแก่กว่าที่มีการสันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้หลายพันปี
ปัจจุบัน “จีน” เป็นประเทศผู้ผลิตเส้นไหมรายใหญ่ของโลก (รองลงมา คือ อินเดีย) และ “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นเขตการปกครองระดับมณฑลที่ ‘ยืนหนึ่ง’ ในอุตสาหกรรมหม่อนไหม (อุตสาหกรรมต้นน้ำ) ของประเทศจีนเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีความสำคัญของเขตฯ กว่างซีจ้วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วง มีปริมาณการผลิตรังไหม 461,400 ตัน ไหมดิบ 17,500 ตัน และผ้าไหมดิบ (gray fabric) 20.24 ล้านเมตร
- อันดับหนึ่งในจีน 19 ปีซ้อน ด้านการผลิต “รังไหม” ด้วยสัดส่วนร้อยละ 60 ของทั้งประเทศ
- อันดับหนึ่งในจีน 14 ปีซ้อน ด้านการผลิต “ไหมดิบ” ด้วยสัดส่วนร้อยละ 45.44 ของทั้งประเทศ
ระหว่างเดือนมกราคม – สิงหาคม 2567 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีปริมาณการผลิตรังไหมรวม 12,100 ตัน และผ้าไหมดิบ 11.9 ล้านเมตร
แรงขับเคลื่อนจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เขตฯ กว่างซีจ้วงก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมเบาอย่าง “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม” ในพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกจากภาวะต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality) ทำให้โรงงานในพื้นที่ดังกล่าวต้องขยับขยายเข้าไปในพื้นที่ตอนในทางด้านตะวันตกของประเทศ
บนพื้นฐานที่เขตฯ กว่างซีจ้วงมีอุตสาหกรรมต้นน้ำแข็งแกร่งเป็น ‘ทุนเดิม’ อยู่แล้ว รัฐบาลกว่างซีได้วางตัวให้ “เมืองเหอฉือ เมืองอู๋โจว และเมืองไป่เซ่อ” เป็น “ฐานการผลิตรังไหมและแพรไหม”
ขณะเดียวกัน รัฐบาลกว่างซีกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในระดับกลางน้ำ-ปลายน้ำ อย่างมาก โดยเฉพาะการสาวและทอไหมในระดับอุตสาหกรรม การย้อม การพิมพ์ลาย ไปจนถึงการผลิตเป็นสิ่งทอเครื่องนุ่มห่มสำเร็จรูป โดยการดึงดูดการลงทุนจากมณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง เจียงซู และฝูเจี้ยน เพื่อต่อยอดและเติมเต็ม ‘ช่องว่าง’ และการดำเนินนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบของการรวมกลุ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถทาง การแข่งขันในพื้นที่อย่างการพัฒนา “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม” โดยวางตัวให้ “เมืองยวี่หลิน เมืองกุ้ยก่าง และเมืองหลายปิน” เป็น “ฐานการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม”
รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดให้ “อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม” เป็น 1 ใน “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย” และเป็น 1 ใน 15 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทส่งเสริมของกว่างซีด้วย
ในงานกิจกรรม 2024 China Industrial Transfer and Development (Guangxi) Light and Textile Industrial Matchmaking Activities ที่จัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา (กิจกรรมที่หลายมณฑลในจีนต่างจัดขึ้นเพื่อสนองนโยบายส่วนกลาง) เขตฯ กว่างซีจ้วงประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญาดึงดูดการลงทุน 126 รายการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 83,543 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นสัญญาการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม 28 รายการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 10,125 ล้านหยวน
เขตฯ กว่างซีจ้วงจะดำเนินการโครงการการยกระดับคุณภาพและเพิ่มประสิทธิผลในพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานให้กับฐานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์หม่อนไหมใหม่ ๆ การรองรับการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมหลังการแปรรูป (post-processing) ในกลุ่มผ้าแพรไหมจากภาคตะวันออก โดยเฉพาะการฟอกขาว การย้อมและพิมพ์ผ้า และการพิมพ์ลาย และการพิมพ์ลายผ้าดิจิทัล การส่งเสริมการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม การเพิ่มการสนับสนุนเชิงนโยบายต่ออุตสาหกรรมรังไหมและไหม และการขับเคลื่อนการพัฒนาของอุตสาหกรรมไปสู่ความพรีเมี่ยม ความเป็นอัจฉริยะ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเขตฯ กว่างซีจ้วง
ความได้เปรียบด้านทรัพยากรวัตถุดิบ การคมนาคมขนส่ง และทำเลที่ตั้งที่ใกล้อาเซียน ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่และความพร้อมของเครือข่ายอุตสาหกรรม และมอง “ตลาดอาเซียน” เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกที่สำคัญ
โอกาสของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่มไทยในกว่างซี ในภาพรวม อุตสาหกรรมดังกล่าวในกว่างซีเป็น “อุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ” ส่วนใหญ่เน้นการผลิตวัตถุดิบเส้นใย ปั่นด้าย และทอผ้าสำเร็จรูป ซึ่งยังมี “ช่องว่าง” ในอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ให้กับตัวสินค้า
นับเป็นโอกาสที่หน่วยงานภาครัฐ/เอกชนสามารถเข้าไปพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือเข้ามาขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรวัตถุดิบในท้องถิ่น ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายของไทย
ธุรกิจไทยที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูล และวางกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “คิดต่างสร้างมูลค่า” และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม และความโดดเด่นด้านดีไซน์เป็นเครื่องมือช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ ทั้งในธุรกิจสายตรงอย่างเช่นสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในตลาดจีน โดยเฉพาะกลุ่มสกินแคร์ อาทิ สารสกัดจากรังไหม มาสก์ใยไหม แผ่นปิดแผลจากโปรตีนกาวไหม
ทั้งนี้ เป้าหมายของการตั้งฐานการผลิตในประเทศจีนควรมองไปที่การเข้าถึงตลาดฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ในภูมิภาคเป็นหลัก (จีน-อาเซียน) เพราะจีนในวันนี้ “สิ้นยุคสินค้าและค่าแรงถูก” ไปแล้ว แต่มุ่งใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในท้องถิ่น และตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ เหมือนอย่างเช่น การลงทุนในธุรกิจน้ำตาลของเครือน้ำตาลมิตรผลในกว่างซี เนื่องจากกว่างซีเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกอ้อยมากที่สุดในจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 20 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ http://gx.news.cn (广西新闻网) วันที่ 20 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 19 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ http://gxt.gxzf.gov.cn (广西工业和信息化厅)
ภาพประกอบ http://gx.people.com.cn และ www.hcyzq.gov.cn