แพลตฟอร์ม ‘ค้า-ลงทุน’ ที่น่าสนใจในนครหนานหนิง โอกาสของภาคธุรกิจไทย
12 Nov 2024ครบรอบ 5 ปีของการจัดตั้ง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ซึ่งประกอบด้วย 3 พื้นที่ย่อย ได้แก่ นครหนานหนิง ท่าเรือชินโจว และเมืองฉงจั่ว หลังจากที่รัฐบาลไฟเขียวอนุมัติการจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562
เขตทดลองการค้าเสรีในประเทศจีนคืออะไร หากจะเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ พื้นที่เปิดกว้างสู่ภายนอกที่รัฐบาลจีนอนุมัติให้จัดตั้งขึ้นในมณฑลต่าง ๆ เพื่อรองรับสนับสนุนการค้าการลงทุนของธุรกิจจีนและธุรกิจต่างประเทศ เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกด้านการค้า การนำเข้า-ส่งออก การลงทุน การเงินและภาษี ตลอดจนระเบียบการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีต้นแบบมาจาก “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(เซี่ยงไฮ้)” ทั้งนี้ สาขาธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมและนโยบายสนับสนุนจะมีลักษณะแตกต่างกันตามข้อได้เปรียบของแต่ละพื้นที่
ปัจจุบัน เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) เป็น 1 ใน ‘ฟันเฟือง’ ชิ้นสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นพื้นที่นำร่องการใช้มาตรการ/นโยบายจากหลายภาคส่วนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงตลาด (Market Access) อันนำไปสู่การยกระดับการเปิดสู่ภายนอกในพื้นที่อื่นของประเทศจีน
5 ปีผ่านไป วันนี้ บีไอซี จะขอนำท่านผู้อ่านไปส่องพัฒนาการของ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ว่าเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง และมีอะไรน่าสนใจที่เป็น “โอกาส” สำหรับภาคธุรกิจไทย
รู้หรือไม่ว่า…. พื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) รวมกันไม่ถึงร้อยละ 0.05 ของทั้งกว่างซี แต่เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 1/3 ของทั้งมณฑล (สัดส่วนราวร้อยละ 37.5) และมีมูลค่าการค้าต่างประเทศเป็นร้อยละ 38.5 ของทั้งมณฑล มีบริษัทเข้ามาตั้งธุรกิจสะสมมากกว่า 100,000 ราย
ปี 2566 ธุรกิจขนาดใหญ่ (ธุรกิจที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 20 ล้านหยวน) ที่ตั้งอยู่ในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) มีมูลค่าการผลิตรวม 112,300 ล้านหยวน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่าการผลิตรวม 55,900 ล้านหยวน ในช่วงปี 2563 – 2566 มีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 26.2 ในขณะที่ภาครัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเป็นมูลค่า 12,830 ล้านหยวน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีมูลค่า 4,350 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 43.4
แม้ว่าเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ในแต่ละพื้นที่ย่อมจะมีความโดดเด่นเฉพาะตัว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า… ‘พระเอก’ ของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “พื้นที่ย่อยหนานหนิง”
ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งอยู่ใน “เมืองเอก” ของกว่างซี ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองใหม่อู๋เซี่ยง (รัฐบาลบุกเบิกพัฒนาเขตเมืองใหม่ขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของนครหนานหนิง) และเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรนครหนานหนิง ทำให้พื้นที่ย่อยหนานหนิง ‘ยืนหนึ่ง’ ในด้านจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจจีนและธุรกิจต่างชาติ
ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า บริษัทรายใหม่มีจำนวนสะสมกว่า 65,000 รายในจำนวนนี้ เป็นธุรกิจต่างชาติกว่า 550 ราย มีแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด 100 อันดับแรกของโลกจัดตั้งสำนักงาน จำนวน 12 แบรนด์ มีบริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของโลกเข้าจัดตั้งบริษัท จำนวน 55 ราย และมีบริษัทชั้นนำ 500 อันดับแรกของจีนเข้าจัดตั้งบริษัท จำนวน 21 ราย
การรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน โดยมี “การบริการเชิงการผลิต” (Producer Services) ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่กับอุตสาหกรรมการผลิตที่ล้ำสมัยเป็นหลัก อาทิ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ (ดาวเทียมสำรวจระยะไกล การผลิตชิป สารกึ่งตัวนำหรือเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรรวม สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เสริม) การออกแบบอุตสาหกรรม โดยมีแพลตฟอร์มและผลงานที่น่าสนใจ อาทิ
ย่านการเงินจีน-อาเซียน (China-ASEAN Financial Town/中国-东盟金融城)
- แหล่งรวมสถาบันและบริษัทการเงินและการประกันภัยชั้นนำจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบัน มีสถาบันการเงินและการประกันภัยเข้าตั้งกิจการแล้วกว่า 550 ราย
- ฐานการให้บริการด้านการเงินในส่วนกลางและหลังบ้าน (Middle-office and Back-office Service for Financial) ที่มุ่งสู่อาเซียน โดยมุ่งเน้นธุรกิจด้านการจัดการข้อมูล การบริหารเงินทุน การบริหารความเสี่ยง บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบบริหารออนไลน์แบบครบวงจร ปัจจุบัน มีบริษัทผู้ให้บริการเข้าตั้งกิจการแล้ว 36 ราย
- โครงการ Qualified Foreign Limited Partner (QFLP) ที่เปิดกว้างนโยบายการนำเงินเข้ามาลงทุนในจีนของนักลงทุนต่างชาติ และการส่งเสริมการลงทุนในหุ้นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือที่เรียกว่า “หุ้นนอกตลาด” ผ่านการจัดตั้งกองทุน Private Equity Fund ในจีน ปัจจุบัน มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน QFLP สะสม 13 กองทุน คิดเป็นมูลค่ารวม 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- โมเดลสินเชื่อการเงินระหว่างประเทศ โดยธนาคารจะปล่อยสินเชื่อออนไลน์ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ให้แก่บริษัทที่ได้รับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Country of Origin – C/O) ที่ออกโดยหน่วยงานศุลกากร สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP เพื่อช่วยภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะจีน-อาเซียน (China-ASEAN Smart City Innovation Center – CASC i-Center/中国—东盟新型智慧城市协同创新中心)
- แหล่งรวมธุรกิจและสถาบันวิจัยด้านการค้นคว้าพัฒนา ประดิษฐ์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มุ่งสู่อาเซียน โดยเฉพาะเทคโนโลยี บิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์ และอินทราเน็ตภายในหน่วยงานภาครัฐ (Government Intranet) อินเทอร์เน็ตภาคธุรกิจ (Business Net) และอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Net) ปัจจุบัน เป็นที่ทำการของบริษัทชั้นนำหลายราย อาทิ บริษัท Huawei บริษัท INSPUR และบริษัท Cloudbae
ศูนย์ AI Computing จีน-อาเซียน (China-ASEAN AI Computing Center/中国—东盟人工智能计算中心)
- แพลตฟอร์มสำคัญด้านพลังประมวลผล (Computing Power) ของกว่างซี มุ่งให้บริการด้านการประมวลผลข้อมูลแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจีน รวมถึงชาติสมาชิกอาเซียนในทุกรูปแบบ โดยใช้หน่วยประมวลผล AI ที่มีชื่อว่า Huawei Ascend ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่พลังการประมวลผลที่รวดเร็ว (AI Training 42P / AI Inference 1.4P โดย 1P เทียบเท่ากับความเร็วในการประมวลผล 1,000 ล้านล้านครั้งต่อวินาที) นับตั้งแต่เปิดดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 เป็นต้นมา ได้ให้บริการประมวลข้อมูลแก่องค์กร/สถาบันในหลากหลายวงการ อาทิ การศึกษา การวิจัย การขนส่งคมนาคม การผลิตเชิงอุตสาหกรรม อินเตอร์เน็ต การสื่อ ยานยนต์ทางเลือก การป่าไม้ การแปรรูปอะลูมิเนียมเชิงลึก การประยุกต์ใช้ดาวเทียมเพื่อการสำรวจระยะไกล และการแพทย์
ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Center – CABC/中国—东盟经贸中心)
- แพลตฟอร์มให้บริการกับนักลงทุนแบบครบวงจร ณ จุดเดียว ครอบคลุมการลงทุนทางธุรกิจจากต่างชาติ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า การขนส่งโลจิสติกส์ การเงิน การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ ปัจจุบัน มีบริษัท/หน่วยงาน 69 รายจาก 12 ประเทศ/ดินแดน ได้เข้ามาจัดตั้งสำนักงานในอาคารที่ทำการของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน
- เป็นที่ทำการของ “ศูนย์การค้าสินค้าโภคภัณฑ์จีน-อาเซียน” (China-ASEAN Commodity Trading Center/中国—东盟大宗商品交易中心)
- เป็นที่ทำการของ “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ระหว่างประเทศกว่างซี” (Guangxi International Civil and Commercial Mediation Center – GICCMC /广西国际民商事调解中心)
ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (ตั้งฐานทัพหลักที่นครหนานหนิง) (China-ASEAN Information Harbor (Nanning Core Base) – CAIH/中国—东盟信息港南宁核心基地)
- ลงทุนโดยบริษัทบริษัท CAIH (China-ASEAN Information Harbor Ltd./中国—东盟信息港股份有限公司) ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางเพื่อใช้ดำเนินความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียน มีการลงทุนสะสมในพื้นที่หลักของเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงจำนวนมหาศาล (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่าลงทุนสะสม 35,600 ล้านหยวน มีโครงการลงทุนที่ก่อสร้างเสร็จสิ้นรวม 40 โครงการ)
- ปัจจุบัน มีโครงการพัฒนาสู่ความเป็นดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐบาลและเอกชนใน 9 ชาติสมาชิกอาเซียน เกือบ 20 โครงการ อาทิ Smart Nation ของสิงคโปร์ / Cloud-first ของมาเลเซีย และ Digital Thailand และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียนในไทย อีกทั้งยังมีความสนใจในการพัฒนาความร่วมมือและธุรกิจในสาขาเทคโนโลยีภาคการเกษตร และการพัฒนาข้อมูล (Data Development) ในอาเซียน
- แพลตฟอร์มบริการข้อมูลเครดิตระหว่างประเทศจีน-อาเซียน (中国—东盟跨境征信服务平台) หรือเครดิตบูโร เป็นที่แรกของเขตฯ กว่างซีจ้วง มีข้อมูลบริษัท 200 ล้านราย ใน 230 ประเทศ/ดินแดน รวมถึงบริษัท 7.89 ล้านรายในอาเซียนด้วย (ณ กลางเดือนกันยายน 2567 ให้บริการแก่บริษัท SMEs จีนสะสมกว่า 7.65 ล้านราย และออกรายงานข้อมูลเครดิตกว่า 30.99 ล้านฉบับ)
เขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิง (Nanning Integrated Free Trade Zone/南宁综合保税区)
- แพลตฟอร์มสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ Cross border E-Commerce โดยการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ “3 In 1” ในการควบคุมตรวจสอบแบบพัสดุสินค้า Cross border E-Commerce (CBEC) + ไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศ + พัสดุส่งด่วนต่างประเทศ ภายใต้หน่วยงานเดียวกันและมาตรฐานเดียวกันเป็นที่แรกในประเทศจีน และการตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ รวมถึงสินค้า CBEC ด้วยระบบสแกนได้ตลอด 24 ชั่วโมง การเชื่อมโยงระบบระหว่างเขตสินค้าทัณฑ์บนฯ กับสนามบินนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง
นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน (China-ASEAN Geographic Information and Satellite Application Industrial Park/中国-东盟地理信息与卫星应用产业园)
- มุ่งเน้นการพัฒนาข้อมูลเชิงพาณิชย์ด้านการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม (Satellite Remote Sensing) และข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศเป็นพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดาวเทียม ภูมิสารสนเทศ 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำไปต่อยอดและประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ในสาขาต่าง ๆ อาทิ เมืองอัจฉริยะ การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และฟาร์มปศุสัตว์ การพัฒนาและอนุรักษ์แม่น้ำ การเกษตรอัจฉริยะ การเฝ้าระวังและป้องกันภัยธรรมชาติ รวมไปถึงความมั่นคงตามแนวชายแดน ผ่านดาวเทียม Nanning-1 และ Nanning-2
- เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำรวจระยะไกลจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Satellite Remote Sensing Application Center / 中国—东盟卫星遥感应用中心)แพลตฟอร์มความร่วมมือในการประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำรวจระยะไกลระหว่างจีนกับอาเซียน และสร้างระบบโครงข่ายการแบ่งปันข้อมูลดาวเทียมสำรวจระยะไกลระหว่างกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูล การวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้สินค้าสาธารณะ (Public goods) การวิจัยพัฒนาและให้บริการด้านเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการฝึกอบรมบุคลากร ที่ผ่านมา มีความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ของไทย
สวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน(นครหนานหนิง)-สิงคโปร์ (China–Singapore NanningInternational Logistics Park – CSILP/中新南宁国际物流园)
- มีเนื้อที่ราว 1,626 ไร่ แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 เฟสโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2568 ภายในสวนโลจิสติกส์ CSILP มีการจัดสรรพื้นที่เป็นหลายฟังก์ชัน อาทิ สวนอัจฉริยะสินค้าทัณฑ์บนสิงคโปร์-จีน สำหรับธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ และ Cross-border e-Commerce สวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาเซียนสำหรับธุรกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีการแพทย์ธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจด้านการบ่มเพาะและศึกษาวิจัยโครงการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่
- ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน (China-ASEAN Mercantile Exchange หรือ CAMEX / 中国—东盟特色商品汇聚中心) เป็นสถานที่จัดแสดงสินค้าและซื้อขายสินค้าของผู้ประกอบการจีนและอาเซียน
- ศูนย์การซื้อขายผลไม้จีน(หนานหนิง)-อาเซียน กำลังก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559 โดยจะเป็นศูนย์การกระจาย การแปรรูป และการค้าผลไม้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ระหว่างจีนกับอาเซียน
ภายใต้บริบทที่ประเทศจีนมุ่งใช้นโยบายการยกระดับ “การเปิดสู่ภายนอก” (Opening-up) เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยปลดล็อคการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าไปอีกขึ้น บีไอซี เห็นว่า แพลตฟอร์มรองรับการลงทุนระดับชาติอย่าง “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจไทยในการเข้ามาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศจีน โดยภาคธุรกิจไทยสามารถพิจารณาใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านที่ตั้ง (เมืองเอก / เมืองใหม่ที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย) ปัจจัยและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งธุรกิจ (สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน อาทิ มาตรการลด/ยกเว้นภาษีเงินได้ การจ่ายเงินรางวัล เงินอุดหนุน และระบบคมนาคมที่ทันสมัย / ต้นทุนแรงงาน) และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของตนเองได้
จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民日报-广西频道) วันที่ 28 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ http://fgw.gxzf.gov.cn (广西发改委) วันที่ 26 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ https://news.cctv.com (央视网) วันที่ 27 เมษายน 2567
เว็บไซต์ http://pxzhbsq.gxzf.gov.cn (凭祥综合保税区) วันที่ 23 มกราคม 2567
WeChat Official Account เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) (中国广西自贸试验区) วันที่ 2 กันยายน 2567