ส่องความท้าทายของ “มะพร้าวไทย” หลังเวียดนามส่ง “มะพร้าวสด” ล็อตแรกเข้าจีน(กว่างซี)แล้ว

25 Oct 2024

กล่าวได้ว่า… “มะพร้าว” เป็นพระเอกดาวรุ่งของผลไม้เมืองร้อนในตลาดจีน โดยเฉพาะมะพร้าวสดเพื่อการบริโภคน้ำมะพร้าวสด (รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม) หรือนำมาปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมการกินสไตล์ท้องถิ่นจีนอย่างซุปหม้อไฟไก่มะพร้าว  มะพร้าวแก่เพื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มนมมะพร้าว (คล้ายหางกะทิบ้านเรา)

แม้ว่าประเทศจีนจะมีแหล่งปลูกมะพร้าวหลักอยู่ที่มณฑลไห่หนาน แต่ละปีผลิตมะพร้าวได้เฉลี่ย 200-300 ล้านลูก โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 จะเพิ่มผลผลิตให้ได้มากกว่า 500 ล้านลูก ซึ่งยังเป็นจำนวนที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับความต้องการบริโภคที่มีมากถึงปีละ 2,600 ล้านลูก จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีการนำเข้า “มะพร้าว” (พิกัด 08011200 มะพร้าวทั้งกะลา ซึ่งรวมถึงมะพร้าวอ่อน และมะพร้าวแก่) จากหลายประเทศทั่วโลก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม

โดย “ประเทศไทย” เป็นแหล่งผลิต “มะพร้าว” ที่สำคัญของโลก และเป็นแหล่งนำเข้ามะพร้าวที่สำคัญของจีน ปี 2566 จีนนำเข้ามะพร้าวจากไทยมากถึง 589,227 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.85 ของการนำเข้ามะพร้าวทั้งหมดของจีน

ช่วง 8 เดือนแรก ปี 2567 “มะพร้าวไทย” ยังคง ‘ยืนหนึ่ง’ ด้านมูลค่าการนำเข้า ด้วยสัดส่วนร้อยละ 64.12 ของมูลค่านำเข้ารวม หรือราว 1,260 ล้านหยวน ตามด้วยเวียดนาม และอินโดนีเซีย

ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามะพร้าวไทย มีสัดส่วนร้อยละ 33.9 (189,335 ตัน) ตกเป็นรอง ‘มะพร้าวอินโด’ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 42.46 (237,145 ตัน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าของมณฑลไห่หนาน พออนุมานได้ว่า มะพร้าวอินโดที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวแก่ เพื่อนำไปผลิตเครื่องดื่มนมมะพร้าว

แม้ว่าความต้องการบริโภคมะพร้าวที่มีสูงถึงปีละ 2,600 ล้านลูก จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการจะตีตลาดมะพร้าวสดในจีน แต่มะพร้าวไทยกำลังเจอ “คู่แข่ง” ใหม่

รู้หรือไม่… “เวียดนาม” เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดมะพร้าวสดในประเทศจีน โดยศุลกากรจีนเพิ่งอนุญาตการนำเข้า “มะพร้าวสด” จากเวียดนามอย่างเป็นทางการ ตามประกาศศุลกากรแห่งชาติจีน เลขที่ 108/2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา โดย “มะพร้าวสด” ถือเป็นหนึ่งในรายการผลไม้ของเวียดนามได้รับอนุญาตการนำเข้าจากทางการจีนในปีนี้ อีกรายการ คือ “ทุเรียนแช่แข็ง” (ทุเรียนสดได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2565)

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 มะพร้าวสดล็อตแรกจากเวียดนาม น้ำหนัก 22.4 ตัน มูลค่า 98,000 หยวน ผ่านเข้า “ด่านศุลกากรโหย่วอี้กวาน” ในเมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ “ด่านศุลกากรเหอโข่ว” ของมณฑลยูนนานได้นำเข้ามะพร้าวสดล็อตแรกจากเวียดนาม น้ำหนัก 21.6 ตัน มูลค่า 110,000 หยวน

ตามรายงาน มะพร้าวอ่อนล็อตดังกล่าวมาจากสวนมะพร้าวในจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre) ที่ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นแหล่งปลูกมะพร้าวที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม พื้นที่ปลูกราว 77,200 เฮกตาร์ หรือราว 482,500 ไร่ ให้ผลผลิตต่อปีราว 670,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 44 ของผลผลิตมะพร้าวทั้งหมดของเวียดนาม จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงแห่งมะพร้าว”

คุณเจียง ปิน (Jiang Bin/江斌) ตัวแทนออกของของบริษัท Guangxi Guanglichang International Shipping Co.,Ltd. (广西广利昌国际货运代理有限公司) ให้ข้อมูลว่า มะพร้าวล็อตดังกล่าวนับจากตัดเก็บจนถึงขนส่งมาถึงด่านโหย่วอี้กวานใช้เวลาเพียง 3 วัน และใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงในการผ่านพิธีการศุลกากร และพร้อมขนส่งไปที่ตลาดนครฉางซา (มณฑลหูหนาน) โดยลูกค้าให้ความพึงพอใจอย่างสูงกับประสิทธิภาพการผ่านพิธีการศุลกากรที่รวดเร็วที่ด่านโหย่วอี้กวาน และวางแผนจะนำเข้าล็อตใหญ่

กระแสของรักสุขภาพของคนจีนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ “มะพร้าว” เป็นผลไม้ยอดนิยม เนื่องจากมะพร้าวมีคุณค่าทางโภชนาการ ไขมันต่ำ ดีต่อสุขภาพ ทำให้นอกจากมะพร้าวผลสด กาแฟผสมมะพร้าวก็กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นคนจีนอีกด้วย ส่งผลให้ความต้องการมะพร้าวในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

หลายฝ่ายมองว่า ‘มะพร้าวญวน’ เป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองของมะพร้าวไทยในตลาดจีน เนื่องจากเวียดนามมีความได้เปรียบด้านระยะทางขนส่งใกล้ (เพื่อนบ้านจีนมีพรมแดนติดเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน) และมีปริมาณผลผลิตสูง มีต้นทุนรวมที่ต่ำกว่ามะพร้าวไทย ทำให้ทำราคาได้ดีกว่าเหมือนอย่าง “ทุเรียนสด” ของเวียดนาม

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รายงานว่า ปัจจุบัน เวียดนามมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 200,000 เฮกตาร์ หรือ 1,250,000 ไร่ และผลิตมะพร้าวได้ปีละ 2.1 ล้านตัน โดยเวียดนามตั้งเป้าหมายว่าจะขยายพื้นที่ปลูกมะพร้าวให้ได้ถึง 210,000 เฮกตาร์ หรือ 1,312,500 ไร่ ภายในปี 2573 ทั้งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และพื้นที่ชายฝั่งภาคกลางตอนล่าง

บีไอซี เห็นว่า การที่เวียดนามสามารถส่งออก “มะพร้าวสด” ไปจีนได้ สำหรับภาคธุรกิจมะพร้าวไทย “ตื่นตัวได้ แต่ไม่ตื่นตูม” เพราะโอกาสของผลไม้ไทยในตลาดจีนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่และมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สิ่งที่เราควร “ตื่นตัว” เป็นเรื่องของ การรักษาชื่อเสียงด้าน “รสชาติและคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของมะพร้าวไทย” และการรักษา “มาตรฐานด้านสุขอนามัยตลอดกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัย” สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (traceability) ตั้งแต่สวนมะพร้าว โรงแปรรูปและคัดบรรจุ สถานที่เก็บรักษา ไปจนถึงกระบวนการส่งออกจนถึงด่านปลายทางในประเทศจีน โดยผู้ส่งออกสามารถขอรับคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องได้ที่สํานักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ เป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวไทยให้มีความก้าวหน้าเหนือประเทศอื่น โดยอาจจะพิจารณาร่วมมือกับนักวิชาการเกษตรในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตดก และมีรสชาติหอมหวานสม่ำเสมอ โดยผู้ส่งออกสามารถปรึกษากับทางกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นเครือข่ายของกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ในหลายจังหวัด

สุดท้าย เป็นเรื่องของการต้องยกระดับและต่อยอดผลิตภัณฑ์ ‘มะพร้าวไทย’ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาตลาดไว้ให้มั่น พร้อมกับการแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดในจีนให้กว้างมากยิ่งขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว นวัตกรรมการยืดอายุการเก็บรักษา และการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์มะพร้าวที่ง่ายต่อผู้บริโภค ซึ่งล้วนช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยของไทยในตลาดจีน



จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา  เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn  (中国新闻网) วันที่ 17 ตุลาคม 2567

เว็บไซต์ http://gx.news.cn  (广西新闻网) วันที่ 16 ตุลาคม 2567
เว็บไซต์ www.customs.gov.cn (海关总署)
เว็บไซต์ http://qzftz.gxzf.gov.cn (中国(广西)自贸试验区钦州港片区管委会网) วันที่ 28 สิงหาคม 2567
เว็บไซต์ www.ditp.go.th

มะพร้าวมะพร้าวสดมะพร้าวไทย

Nanning_editor2

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน