After Market Services เป็น ‘เครื่องปั๊มเงิน’ ของอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองหลิ่วโจว
26 Dec 2016เมืองหลิ่วโจวของกว่างซีกำลังพัฒนาเมืองสู่การเป็น ‘ศูนย์กลางการบริการหลังการตลาด(ขาย)รถยนต์‘ ซึ่งมีส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มทางการตลาดค่อนข้างสูงในระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์
เมืองหลิ่วโจว (Liuzhou City,柳州市) เป็นเมืองอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของกว่างซี รวมถึงภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน หลายปีมานี้ อุตสาหกรรมการผลิตยายนยนต์ของเมืองหลิ่วโจวมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ปีที่ผ่าน (ปี 2558) เมืองหลิ่วโจวมียอดการผลิตรถยนต์ 2.29 ล้านคัน เติบโต 9.6%(YoY) ขึ้นแท่นเป็นเมืองผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศจีน
ปีนี้ ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมามียอดการผลิตรถยนต์ 2.18 ล้านคัน ยอดการจำหน่าย 2.15 ล้านคัน เติบโต 6% และ 4.8% ตามลำดับ จากการคาดกาณ์ทั้งปีนี้จะมียอดจะผลิตรถยนต์รวม 2.4 ล้านคัน (ข้อมูลเพิ่มเติมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตั้งเป้ายอดการผลิตรถยนต์ของไทยปีนี้ไว้ที่ 1.95-2 ล้านคัน)
เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองหลิ่วโจว นอกจากการเป็นพื้นที่รวมศูนย์การผลิตรถยนต์แล้ว เมืองหลิ่วโจวได้เบนเข็มมาให้ความสำคัญกับ ‘การบริการหลังการตลาด‘ (after market services) หรือตลาดที่เน้นบริการหลังการขาย ไม่ว่าจะเป็นอะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์ที่ต้องใช้ในงานซ่อมบำรุง
เนื่องจากอุตสาหกรรมการบริการหลังการตลาดเป็น‘ตัวกำไร‘ ที่มีความมั่นคงมากที่สุดในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์ คิดเป็นราวๆ 60%-70% ของผลกำไรรวม จึงถูกขนานนามเป็น ‘Golden Business’ ในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมยานยนต์
จำนวนผู้ใช้รถยนต์ในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ ‘การบริการหลังการตลาด‘ เติบโตและมีอนาคตที่สดใส
ยกตัวอย่างเช่น ตลาดรถยนต์ยี่ห้อ Wuling (五菱) ซึ่งเป็นแบรนด์ท้องถิ่นชื่อดังของเมืองหลิ่วโจว ขณะนี้มีผู้ใช้ราวๆ 13 ล้านคัน อุตสาหกรรมการบริการหลังการตลาด (อะไหล่และอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการซ่อมบำรุง) มีมูลค่ารวมสูงถึง 1 หมื่นล้านหยวนแต่เมืองหลิ่วโจวกลับมีสัดส่วนทางการตลาดไม่ถึง 300 ล้านหยวนเท่านั้น
บีไอซีเห็นว่า ประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์(เพื่อการส่งออก)รายใหญ่ในภูมิภาค โครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตรถยนต์สำเร็จรูปเป็นหลักส่งผลให้มูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมต้องพึ่งพิงยอดการสั่งซื้อ อุตสาหกรรมการผลิตได้รับผลกระทบโดยตรงในภาวะที่ตลาดส่งออกซบเซา
ดังนั้น ประสบการณ์ของเมืองหลิ่วโจวที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘การบริการหลังการตลาด‘ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตไทยสามารถศึกษาเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตหากรรมยานยนต์ไทย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดบริการหลังการตลาดในจีน เมืองหลิ่วโจวนับเป็นเป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ผู้ประกอบการอาจแสวงหาแนวทางความร่วมมือร่วมกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อบริหารความเสี่ยงไปพร้อมๆ กับการศึกษาตลาด
ลิงค์ข่าว
–Made in Liuzhou : ฐาน รถยนต์พลังงานทางเลือก ที่น่าจับตามองของจีน(24 ก.ย. 2559)
–ปีนี้ เมืองหลิ่วโจวจัดเต็ม เน้นพัฒนาธุรกิจรถยนต์ เหล้กกล้า และอีคอมเมิร์ซ(27 ม.ค.2559)
–เมืองหลิ่วโจว ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 3 ของประเทศจีน (13 ม.ค.2559)