กว่างซีพร้อมเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม “แคลเซียมคาร์บอเนต” สู่นวัตกรรม “สีเม็ดพลาสติกย่อยสลายได้”
15 Aug 2024คำว่า “ต่อยอดอุตสาหกรรม” เป็นคีย์เวิร์ดของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศจีน ในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เป็นการอัปเกรดตามทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมถึง “อุตสาหกรรมแคลเซียมคาร์บอเนต” ของเมืองเฮ่อโจว (Hezhou City/贺州市) เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) คืออะไร ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หินปูน” พบได้มากในแบบหินแคลไซต์และหินอ่อน เป็นวัสดุเฉพาะทาง (Functional Material) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถูกใช้อย่างแพร่หลายในครัวเรือและในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นหรือสารเติมในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ วัสดุก่อสร้าง (ซีเมนต์ อิฐก่อ ปูนฉาบ) กระดาษ พลาสติกและพีวีซี ยาง สี อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ (ยาแก้จุกเสียด/ลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาที่ใช้เสริมแคลเซียมในระบบประสาท โรคไต กล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก) รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน (แป้งทาตัว แป้งรองพื้นเครื่องสำอาง ผงซักฟอก และยาสีฟัน)
“เฮ่อโจว” เมืองขนาดเล็กทางภาคตะวันออกของเขตฯ กว่างซีจ้วง เป็น 1 ใน 10 ฐานอุตสาหกรรมแคลเซียมคาร์บอเนตของประเทศจีน มีปริมาณสำรองหินอ่อน (Marble) ที่ขุดค้นพบแล้ว 1/8 ของทั้งประเทศ หรือราว 2,600 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นหินอ่อนสีขาวราว 76% ของปริมาณสำรองทั้งหมด อัตราส่วนของแคลเซียมคาร์บอเนตมากถึง 96% ปัจจุบัน มีธุรกิจในห่วงโซ่อุตสาหกรรม 593 ราย กำลังการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดบดจากธรรมชาติ (Ground calcium carbonate หรือ GCC) ปีละ 21 ล้านตัน หินเทียม 70 ลูกบาศก์เมตร (ใช้เป็นวัสดุตกแต่งบ้านและครัว)
ที่ผ่านมา เมืองเฮ่อโจวกำลังเร่งต่อยอด ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาอุตสาหกรรมแคลเซียมคาร์บอเนตจากเดิมที่เน้น “อุตสาหกรรมการผลิตขั้นต้น” (การทำเหมือง วัสดุหิน แป้งหนักแคลเซียม หินเทียม) ขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมหมุนเวียนไปยัง “อุตสาหกรรมกลางน้ำ-ปลายน้ำ” เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีเทคโนโลยีคอนเทนต์และมีมูลค่าเพิ่ม (value added) โดยมุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการ มีกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมสนับสนุนการผลิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับนโยบายหลักของประเทศในด้าน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” และนับเป็นหนึ่งในต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในกลุ่มทรัพยากรแร่
นายเผิง ใต้หยวน (Peng Daiyuan/彭代元) นายกเทศมนตรีเมืองเฮ่อโจว เปิดเผยว่า เมืองเฮ่อโจวกำลังเร่งดึงดูดการลงทุนของธุรกิจชั้นนำและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตขั้นปลายน้ำ อาทิ สีเม็ด (Masterbatches) พลาสติกชนิดใหม่ วัสดุใหม่ (Calcium based new material) สารเคลือบระดับไฮเอนด์ เรซินระดับไฮเอนด์ สารเติมแต่งเคมี (Chemical auxiliary agents)
บริษัท Guangxi Longsheng New Material Co., Ltd. (广西隆升新材料有限公司) เป็นหนึ่งในบริษัทจากมณฑลเจ้อเจียงที่ย้ายเข้ามาตั้งโรงงานผลิต “สีเม็ดที่ย่อยสลายได้” ซึ่งเป็นวัสดุใหม่จากแคลเซียมคาร์บอเนตในเมืองเฮ่อโจว บริษัทเล็งเห็นโอกาสมหาศาลในตลาดสีเม็ดที่ย่อยสลายได้ สีเม็ดดังกล่าวเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 3 เดือน นอกจากโรงงานจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (สายการผลิตอยู่ในตัวอาคารที่มิดชิด มีเทคโนโลยีการกำจัดฝุ่นละอองและก๊าซมลพิษ) บริษัทให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย (การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาคิดเป็น 30% ของเงินลงทุนรวม)
เช่นเดียวกับบริษัท Guangxi Changhong Bio Material Co., Ltd. (广西长鸿生物材料有限公司) เป็นนักลงทุนจากมณฑลเจ้อเจียงที่ย้ายสายการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตทั้งหมดไปที่เมืองเฮ่อโจวด้วยเงินลงทุน 3,000 ล้านหยวน เฟสแรกเน้นผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตอนุภาคละเอียด (Ultrafine calcium carbonate) สีเม็ดที่ย่อยสลายได้ (โรงงานอาคารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน) และสีเม็ดที่ใช้เป็นวัสดุผลิตรองเท้า
ส่วนเฟสสอง จะเน้นการผลิตแคลเซียมคาร์บอเนตดัดแปลง (Modified calcium carbonate) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มช่องว่างของเมืองเฮ่อโจวด้านการใช้ประโยชน์เชิงลึกจากแคลเซียมคาร์บอเนตในแวดวงยางพารา และพลาสติก และเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมแคลเซียมคาร์บอเนตในเขตฯ กว่างซีจ้วงก้าวหน้าไปอีกระดับ
นอกจากนี้ เมืองเฮ่อโจวกำลังพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมแคลเซียมคาร์บอเนตสังเคราะห์” หรือแคลเซียมคาร์บอเนตชนิดตกผลึก (Precipitated calcium carbonate หรือ PCC) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีบริษัท Guangxi Zhongzi Konggu Group Holding Co.,Ltd (广西中资控股集团股份有限公司) เป็นนักลงทุนรายสำคัญ
บีไอซี เห็นว่า ภาคธุรกิจ/นักลงทุนไทยยังสามารถศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ในเขตฯ กว่างซีจ้วงได้ โดยอาจใช้วิธีการจับคู่ธุรกิจในลักษณะแบ่งงานตามความถนัด เพื่อเร่งพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน ซึ่งช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ทั้งยังช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถแสวงหา/แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ทรัพยากรและเทคโนโลยีระหว่างกัน ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมได้
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 14 กรกฎาคม 2567
เว็บไซต์ www.ylcnw.com (南方发展网) วันที่ 29 มิถุนายน 2567
ภาพประกอบ www.gxhz.gov.cn และ http://guangxi.china.com.cn