ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มณฑลยูนนานนำเข้าทุเรียนมากเป็นอันดับ 2 ของจีน
30 Aug 2024กรมพาณิชย์มณฑลยูนนาน เปิดเผยข้อมูลโดยอ้างอิงสถิติของสำนักงานศุลกากรจีนว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มณฑลยูนนานมีการนำเข้าทุเรียนกว่า 151,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.6 คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,030 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 โดยครองสัดส่วนร้อยละ 17.8 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน เพิ่มจากสัดส่วนร้อยละ 15.2 ในปี 2566 โดยปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของมณฑลยูนนานสูงเป็น อันดับ 2 ของจีน และเป็นอันดับ 1 ของภาคตะวันตกของจีน
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มณฑลยูนนานนำเข้าทุเรียนไทยกว่า 92,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,430 ล้านหยวน ครองสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของการนำเข้าทุเรียนไทยทั้งหมดของจีน มากเป็นอันดับ 2 ของจีน เป็นรองเพียงมณฑลกวางตุ้งเท่านั้น โดยช่องทางการที่มณฑลยูนนานนำเข้าทุเรียนไทยมากที่สุด คือ ด่านรถไฟโม่ฮาน (เส้นทางรถไฟจีน-ลาว) นำเข้าทุเรียนไทยกว่า 60,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 115.4 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,280 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 140.9
ขณะเดียวกัน มณฑลยูนนานนำเข้าทุเรียนเวียดนามผ่านด่านเหอโข่วเป็นหลัก ด้วยปริมาณกว่า 59,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 270.7 คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,600 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 250.9 ครองสัดส่วนร้อยละ 20.3 ของการนำเข้าทุเรียนเวียดนามทั้งหมดของจีน มากเป็นอันดับ 1 ของจีน
จากการเปรียบเทียบ พบว่า ทุเรียนไทยมีราคาต่อหน่วยสูงกว่าทุเรียนเวียดนาม แต่ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าทุเรียนเวียดนามมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าทุเรียนไทย
ในอดีต มณฑลยูนนานนำเข้าทุเรียนจากไทยผ่านด่านโม่ฮานเป็นหลัก โดยในขณะนั้นมูลค่าการนำเข้าทุเรียนของมณฑลยูนนานครองสัดส่วนร้อยละ 7.7 อยู่ในอันดับ 5 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน จนกระทั่งมีการเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 แม้ว่าในขณะนั้นด่านรถไฟโม่ฮานจะยังไม่สามารถนำเข้าผลไม้ได้ เนื่องจากด่านรถไฟโม่ฮานยังไม่ได้เป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” แต่ก็มีการใช้รถไฟขนส่งผลไม้ไทยและลาวจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปถึงสถานีนาเตย แล้วจึงเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากรถไฟเป็นรถบรรทุกผ่านด่านบ่อเต็น-ด่านโม่ฮานเข้าจีน เพื่อขนส่งต่อภายในจีนได้ทั้งรถบรรทุกและรถไฟ จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ประกาศให้ด่านรถไฟโม่ฮานเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” ทำให้สามารถนำเข้าผลไม้โดยเส้นทางรถไฟจีน-ลาวผ่านด่านรถไฟโม่ฮานได้โดยตรงโดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งอีก
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนอนุญาตให้สามารถนำเข้าทุเรียนเวียดนามได้เป็นต้นมา มณฑลยูนนานได้นำเข้าทุเรียนเวียดนามผ่านด่านเหอโข่วและด่านเทียนเป่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าทุเรียนของมณฑลยูนนานเพิ่มขึ้นไปครองสัดส่วนร้อยละ 14.4 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน ไต่ขึ้นไปครองอันดับ 2 ของจีนตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ประกาศให้ด่านท่าเรือกวนเหล่ยเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” และเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ได้มีการขนส่งทุเรียนไทย 960 กล่อง รวม 16.82 ตัน บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งโดยเรือสินค้าออกจากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ล่องตามเส้นทางแม่น้ำโขง ไปถึงท่าเรือกวนเหล่ยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567
ส่งผลให้ปัจจุบัน มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่มีด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้มากที่สุดในจีนรวม 10 ด่าน สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ในทุกมิติ ทั้งทางอากาศ ทางถนน ทางราง และทางน้ำ ประกอบด้วย
– ด่านทางอากาศ ได้แก่ ด่านท่าอากาศยานฉางสุ่ยนครคุนหมิง
– ด่านทางถนนบริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม ได้แก่ ด่านเหอโข่ว และด่านเทียนเป่า
– ด่านทางถนนบริเวณชายแดนจีน-เมียนมา ได้แก่ ด่านต่าลั่ว ด่านจางเฟิ่ง ด่านหว่านติง และด่านโหวเฉียว
– ด่านทางถนนและทางรางบริเวณชายแดนจีน-ลาว ได้แก่ ด่านโม่ฮาน และด่านรถไฟโม่ฮาน
– ด่านทางน้ำ ได้แก่ ด่านท่าเรือกวนเหล่ย
โดยในทางปฏิบัติ ไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนผ่านมณฑลยูนนานได้ 6 ช่องทาง ได้แก่ (1) ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง (2) ด่านโม่ฮาน (3) ด่านรถไฟโม่ฮาน (4) ด่านเหอโข่ว (5) ด่านเทียนเป่า และ (6) ด่านท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งปัจจุบันทุกช่องทางข้างต้นมีการนำเข้าผลไม้ไทย ยกเว้นด่านเทียนเป่า
ที่มา: https://yn.yunnan.cn/system/2024/08/23/033198263.shtml
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1808314980371181697&wfr=spider&for=pc