โอกาสและความท้าทาย : อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูงในกว่างซี

19 Jun 2014

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : นักวิชาการเรียกร้องให้ทางการกว่างซียื่นมือให้การสนับสนุนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรเซเลเนียมสูง โดยเฉพาะการสนับสนุนเชิงนโยบาย รวมถึงการจัดตั้งเกณฑ์มาตรฐานท้องถิ่น เพื่อจัดระเบียบตลาดท้องถิ่น

เซเลเนียม (Selenium) เป็นแร่ธาตุ 1 ใน 15 ชนิดที่มีจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ มีประโยชน์ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง และการต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงได้รับการขนามนามเป็น แร่อายุวัฒนะ

กว่างซีเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยเซเลเนียม และเป็นพื้นที่ที่มีธาตุเซเลเนียมผืนเดียวกันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีนในปัจจุบัน จากการตรวจสอบ พบว่า ดินหนึ่งกิโลกรัมมีแร่ธาตุเซเลเนียมอยู่สูงสุด 7.5 มิลลิกรัม (ข้าวสารหนึ่งกิโลกรัมมีแร่ธาตุเซเลเนียมอยู่ 0.314 มิลลิกรัม)

ปี 56 ที่ผ่านมา กว่างซีมีฐานสาธิตผลิตภัณฑ์เกษตรที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุเซเลเนียม จำนวน 15 แห่ง รวมพื้นที่ 15,500 หมู่จีน (ราว 4,648 ไร่) และอยู่ระหว่างการจัดตั้งอีก 10 กว่าแห่ง โดยผลิตภัณฑ์เกษตรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ข้าว ถั่วลิสง ชา ผัก องุ่น กีวี และแก้วมังกร

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมดังกล่าวมีมูลค่าการผลิตมากกว่า 73 ล้านหยวน มูลค่าเพิ่มการผลิต 48 ล้านหยวน

เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน (13 มิ.ย.57) ทางการกว่างซีได้จัดงานสัมมนาว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเซเลเนียมสูงกว่างซี ประจำปี 2557 เพื่อระดมความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับวางแผนส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว

นายเหอ หลี่ ซิน (He Li Xin, 何礼新) หัวหน้าสำนักงานพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรเซเลเนียมสูง กรมการเกษตรเขตฯ กว่างซีจ้วง ชี้ว่า จุดอ่อนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของกว่างซี คือ ระดับการพัฒนาอยู่ในระยะเริ่มต้น ขาดแรงสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ วิสาหกิจยังขาดประสบการณ์และเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ สรรพคุณของเซเลเนียมยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภค ช่องทางการจัดจำหน่ายยังขาดความหลากหลาย และกำลังซื้อของผู้บริโภคถูกจำกัดในกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปเท่านั้น (เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าชนิดเดียวกัน ผลิตภัณฑ์เซเลเนียมสูงมีราคาจำหน่ายสูงกว่า 30 เปอร์เซนต์ถึงมากกว่า 1 เท่าตัว)

รอง ศ.สวี่ เฉิง ฉาย (Xu Cheng Cai, 许成才) ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกว่างซี (Guangxi University, 广西大学) ชี้ว่า แบรนด์และแผนการตลาดเป็นอีกประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ

เนื่องจากปัจจุบัน แบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของกว่างซียังมีค่อนข้างน้อย อุตสาหกรรมการผลิตมีขนาดเล็ก เกณฑ์มาตรฐานภาคการเกษตรค่อนข้างต่ำ การผลิตให้ความสำคัญกับจำนวนแบรนด์มากกว่าการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง และขาดกลไกการจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ (ขาดตัวแทนหรือดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่)

อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายเห็นว่า ผลิตภัณฑ์เกษตรเซเลเนียมสูงของกว่างซียังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยทางการกว่างซีกำลังวางแผนให้การส่งเสริมการพัฒนาผ่านเงินกองทุน การส่งเสริมการสร้างฐานสาธิตผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาควิสาหกิจ และการสำรวจแหล่งพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุดังกล่าว

BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในประเทศจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคในประเทศเริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นกับกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารปลอดสารพิษ และสินค้าเกษตรออร์แกนิก จึงน่าจะเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มี ความพร้อม ที่สนใจจะเข้ามารุกตลาดจีนแผ่นดินใหญ่

 

 

ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กว่างซีถกประเด็นร้อน…ปริมาณ เซเลเนียมในผลิตภัณฑ์ (25 เม.ย. 2557)

กว่างซีต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร เซเลเนียมสูง (11 เม.ย. 2557)

กว่างซีผลักผลิตภัณฑ์เกษตร เน้นจุดขาย อายุยืนผู้ประกอบไทยเห็นโอกาสอะไร? (20 มิ.ย. 2556)

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน