เอากับเขาบ้าง! กว่างซีดีเดย์ เปลี่ยน “ภาษีธุรกิจ” เป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” สิงหาคมนี้
23 May 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ทางการกว่างซีเตรียมบังคับใช้ “นโยบายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนที่ภาษีธุรกิจ (BT)” สิงหาคม ศกนี้
ธุรกิจคมนาคมขนส่ง และธุรกิจบริการสมัยใหม่บางประเภท เป็นกลุ่มนำร่อง
การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนภาษีธุรกิจ เป็นนโยบายใหม่ในการปรับโครงสร้างภาษีของทางการจีน โดยเริ่มใช้ที่มหานครเซี่ยงไฮ้เป็นที่แรกเมื่อ 1 ม.ค.55
ปัจจุบัน หลายมณฑลของจีนได้เริ่มใช้นโยบายดังกล่าวด้วยแล้ว
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง จะทดลองกับ 8 สาขาธุรกิจ ภายใต้รหัส “1+7”
“1” หมายถึง ธุรกิจด้านการคมนาคมขนส่ง ประกอบด้วย การบริการขนส่งทางบก การบริการขนส่งทางน้ำ การบริการขนส่งทางอากาศ และการบริการขนส่งทางท่อ
“7” หมายถึง ธุรกิจบริการสมัยใหม่บางประเภท ประกอบด้วย การบริการด้านงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ การบริการสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม การบริการเสริมด้านโลจิสติกส์ การบริการเช่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible assets) การบริการให้คำปรึกษา การบริการผลิตและออกอากาศผลงานวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์
จากนโยบายดังกล่าว การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของจีนจะเพิ่มจาก 2 เป็น 4 อัตรา คือ
(1) ร้อยละ 13 สำหรับสินค้าที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป และร้อยละ 17 สำหรับสินค้าที่ผ่านการแปรรูปแล้ว ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน
(2) ร้อยละ 11 สำหรับธุรกิจด้านการคมนาคมขนส่ง และร้อยละ 6 สำหรับธุรกิจบริการสมัยใหม่บางประเภท ยกเว้นการบริการเช่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ ซึ่งจะต้องชำระภาษีในอัตราร้อยละ 17 ซึ่งเป็นอัตราใหม่ที่เกิดจากนโยบายปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ ทั้งนี้ ภาษีอัตราใหม่นี้ จะจัดเก็บกับเฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าข่าย “ผู้เสียภาษีทั่วไป” (General VAT Payer, 一般纳税人) (กล่าวคือ ไม่จัดเก็บกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้เสียภาษีรายย่อย (Small-scale VAT payers, 小规模纳税人)
ประโยชน์ที่ผู้เสียภาษีทั่วไป จะได้รับจากการปฏิรูปภาษีในครั้งนี้ คือ ภาระภาษีที่ลดลง และลดการชำระภาษีซ้ำซ้อน อัตราภาษีที่เพิ่มเข้ามาใหม่มีอัตราต่ำ อีกทั้งยังสามารถนำไปหักภาษีซื้อได้มากขึ้นด้วย ทำให้ต้นทุนประกอบการลดลงและมีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น
สำหรับผู้เสียภาษีรายย่อย ซึ่งก็คือ “มียอดรายได้จากการขายไม่เกิน 5 ล้านหยวนต่อปีภาษี” แม้ว่าจะไม่ได้รับสิทธิหักภาษีซื้อ แต่สูตรการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระถือว่าต่ำมาก คือ ยอดขาย X อัตราภาษีร้อยละ 3 = ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ
คำอธิบายเพิ่มเติม
การปรับโครงสร้าง “การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนที่การเก็บภาษีธุรกิจ” ช่วยลดภาระภาษีให้แก่ธุรกิจได้อย่างไร??
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เสียก่อน
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตซื้อวัตถุดิบสินค้า 100 หยวน เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 หยวน นอกจากจะสามารถหักภาษีซื้อแล้ว การคำนวณภาษีที่ต้องชำระจะคำนวณจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น 50 หยวนเท่านั้น
ข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ข่าว : เดินหน้าปฏิรูป BT เป็น VAT จีนขอดัน.. ยืนยันเซฟเงินภาคธุรกิจ 120,000 ล้านหยวน!! (17 พฤษภาคม 2556)
– ข่าว : ใช้ดีมีต่อรอบสอง!! จีนสั่งลุยขยายพื้นที่ทดลองเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนภาษีธุรกิจอีก 10 พื้นที่หลังใช้ได้ผลดีในเซี่ยงไฮ้ (1 สิงหาคม 2555)
– ข่าว : เกาะติดสถานการณ์ 2 เดือนหลังเปลี่ยน "ภาษีธุรกิจ" เป็น "ภาษีมูลค่าเพิ่ม" ในเซี่ยงไฮ้ เสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ (8 มีนาคม 2555)
– บทความ : จีนเปลี่ยน “ภาษีธุรกิจ” เป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เริ่มต้นในเซี่ยงไฮ้ บทสรุปใครได้? ใครเสีย? (2 ธันวาคม 2554)