เวลาเปลี่ยน รสนิยมเปลี่ยน! ร้านสะดวกซื้อในนครหนานหนิงผุดราวดอกเห็ด

16 May 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : ช่วง 2-3 ปีมานี้ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในนครหนานหนิงมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว กระจายถี่ทุกตรอกซอกซอย ทว่าต้นทุนประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้นก็สร้างแรงกดดันให้กับธุรกิจดังกล่าวไม่น้อย

ในสังคมปัจจุบัน ธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อเริ่มเข้ามาแทนที่ร้านโชห่วยสมัยเก่า การเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง การให้บริการส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน และการจำหน่ายสินค้าแฟชั่น สดใหม่ หรือของกินขึ้นชื่อ

ในนครหนานหนิง ธุรกิจร้านค้าสะดวกมีอยู่ 2 ประเภท คือ ร้านค้าระบบเฟรนไชส์ ร้านค้าส่วนบุคคลที่เปิดดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง

วิถีการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทำให้ร้านสะดวกซื้อเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวเมืองหนานหนิงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นมนุษย์เงินเดือนและนักเรียนนักศึกษา เนื่องจากมีความสะดวกและรวดเร็ว

ทำให้ปัจจุบันสามารถพบเห็นร้านสะดวกซื้อต่างๆ ได้ทั่วไปตามทุกหัวถนนของนครหนานหนิง โดยเฉพาะในเขตออฟฟิศและเขตชุมชนที่พักอาศัย

ทว่า เส้นทางใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนักลงทุนจะต้องแบกรับภาระค่าเช่าร้านที่ค่อนข้างสูง (ร้านค้าพื้นที่ 10 กว่าตร.ม. ค่าเช่าเดือนละเกือบหมื่นหยวน) ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่าลูกจ้าง อีกทั้งยังต้องแข่งกันแย่งลูกค้ากับร้านค้าสะดวกซื้อยี่ห้ออื่นๆ ที่มักจะตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

ทางออกหนึ่งที่่ร้านสะดวกซื้อใช้เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้า คือ การสร้างความแตกต่าง กล่าวคือ บางร้านนอกจากจะมีการจำหน่ายสินค้าทั่วไปแล้ว ยังมีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย หรือว่ามีมุมเมนูอาหารกล่อง หรือว่ามีมุมสินค้าต่างประเทศ หรือว่ามีมุมของสด หรือว่ามีบริการเติมเงินมือถือ/ชำระบัตรเครดิตธนาคาร เป็นต้น

ตามรายงาน พบว่า มีร้านค้าสะดวกซื้อในนครหนานหนิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการลงเพราะแบกรับภาระ/แรงกดดันไม่ไหว โดยเฉพาะร้านค้าที่ไม่ใช่เฟรนไชส์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในหัวเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศจีนเช่นเดียวกัน

นักบริหารงานเฟรนไชส์รายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ตลาดร้านสะดวกในนครหนานหนิงจัดอยู่ในระยะเริ่มต้น (ตลาดยังไม่อิ่มตัว และเป็นสิ่งใหม่สำหรับผู้บริโภคท้องถิ่น) ฉะนั้น นักลงทุนจึงต้องมีสายป่านที่ยาวพอ และรับผลขาดทุนในระยะแยกได้

ดังนั้น การหาแหล่งเงินทุนจึงเป็นอีกหนึ่งทางรอดของธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ร้านค้าสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีเงินทุนในระดับหนึ่งต้องยอมรับผลขาดทุน เพื่อรอผลสำเร็จในอนาคต โดยเร่งเปิดร้านสาขาหรือขายเฟรนไชส์จำนวนมาก เพื่อต้องการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ โดยการขายหุ้น IPO นำเงินมาหมุนเข้าระบบ (ปัจจุบัน จีนสั่งหยุดการขายหุ้น IPO ในประเทศเป็นการชั่วคราวแล้ว ทำให้ร้านสะดวกซื้อที่ต้องการใช้วิธีการดังกล่าวเจอศึกหนัก)

สำหรับบางกิจการยอมรับผลขาดทุน เพื่อสร้าง แบรนด์ ให้ติดตลาด และคาดหมายว่าจะควบรวมกิจการกับธุรกิจร้านค้าสะดวกแบรนด์ใหญ่ที่จะเข้าสู่ตลาดหนานหนิง (กว่างซี) ในอนาคต

บุคคลในแวดวง ให้ข้อคิดเห็นว่า ผู้ที่สนใจเปิดธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อจำเป็นต้องคำนึงกำลังความสามารถ รวมถึงสภาพคล่องทางการเงินของตนเอง เพราะร้านค้าสะดวกซื้อกับร้านโชห่วยคงจะต้องอยู่ด้วยกันไปอีกพักใหญ่ เพราะต่างก็มีความได้เปรียบหรือฐานลูกค้าของตัวเองอยู่

BIC เห็นว่า นอกจากเงินทุนแล้ว การเลือกทำเลที่ตั้ง และระบบบริหารจัดการภายในก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะตัดสินได้ว่าธุรกิจจะ รุ่ง หรือ ร่วง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน