เมื่อรังนกมาเลย์บุกตลาดจีนแล้ว รังนกไทยรออะไร
2 Jun 2020ไฮไลท์
- อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของธุรกิจรังนกมาเลเซีย เมื่อมาเลเซียฝ่าวิกฤต COVID-19 ส่งออกรังนกบริสุทธิ์น้ำหนัก 200 กิโลกรัม มาถึง “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” ในเมืองชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” เป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศจีน สามารถรองรับโรงงานได้มากกว่า 50 ราย มีศักยภาพการแปรรูปรังนกขนได้ปีละ 500 ตัน ปัจจุบัน มีความพร้อมทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ พร้อมเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนจีนและนักลงทุนจากต่างประเทศ
- “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคชาวจีน แต่การแข่งขันในตลาดรังนกจีนก็มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น การเปิดตลาดธุรกิจรังนกของรัฐบาลจีนดึงดูดให้นักลงทุนเข้าจัดตั้งโรงงานแปรรูปในจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยข้างต้นอาจส่งผลให้ “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ที่ส่งออกจากไทยขาดแรงแข่งขัน ยังไม่นับรวมพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์รังนก และรูปแบบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รังนกที่ผลิตภายในประเทศ
- นักลงทุนไทยสามารถพิจารณาการเข้ามาจัดตั้งธุรกิจใน “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” ที่เมืองชินโจว และต้องพัฒนาความโดดเด่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจ และการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งการทำคลิปลงสื่อโซเชียลและการไลฟ์สด เพื่อสร้างแรงแข่งขันให้กับผู้ผลิตรังนกที่ครองตลาดมาก่อน รวมทั้งความเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพเพื่อตอกย้ำความเป็น Products of Thailand
มาเลเซียส่งออกรังนกบริสุทธิ์น้ำหนัก 200 กิโลกรัม มาถึง “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” ในเมืองชินโจวของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ต้องมีความล่าช้า อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของธุรกิจรังนกมาเลเซีย หลังจากเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 มาเลเซียได้ส่งออก “รังนกขน” ล็อตแรก น้ำหนัก 150 กิโลกรัม ไปยังสวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกเมืองชินโจวเพื่อแปรรูปและจำหน่ายได้สำเร็จ
การดำเนินมาตรการ “หยุดบิน” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากต่างประเทศ ส่งผลให้รังนกล็อตนี้ไม่สามารถขนส่งโดยตรงจากมาเลเซียมาถึงเขตฯ กว่างซีจ้วง เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะ(เกือบ)ปกติ การขนส่งรังนกล็อตนี้จึงใช้วิธีขนส่งทางเครื่องบินจากมาเลเซียในเส้นทาง “มาเลเซีย – กว่างโจว – หนานหนิง” และเมื่อรังนกที่ขนส่งมาถึงสนามบินนครหนานหนิง เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบสินค้าและสุ่มเก็บตัวอย่างก่อนส่งต่อไปทางบกไปยังสวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกเมืองชินโจวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรชินโจวดำเนินการตรวจปล่อยสินค้า
กลุ่มบริษัท BEHO Group จากมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกรังนกล็อตดังกล่าว และมีบริษัทลูกในเครือ BEHO Group ที่จัดตั้งในอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกเมืองชินโจวเป็นผู้นำเข้า โดยรังนกที่ส่งออกทุกชิ้นจะต้องมี QR Trace ออกโดยบริษัท China Certification & Inspection Group Industrial Co.,Ltd. (CCIC – 中检集团) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับตามข้อกำหนดของรัฐบาลจีน
“สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนก” เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตระหว่างประเทศ (International production capacity) ภายใต้โมเดล “สองประเทศ สองนิคม” ของรัฐบาลจีน-มาเลเซีย เป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศจีน สามารถรองรับโรงงานได้มากกว่า 50 ราย มีศักยภาพการแปรรูปรังนกขนได้ปีละ 500 ตัน และเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนจีนและนักลงทุนต่างประเทศ
สวนอุตสาหกรรมแห่งนี้มีความพร้อมทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โรงงานสำเร็จรูป ห้องแล็บ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ และด้านซอฟท์แวร์ ได้แก่ นโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล การจ่ายเงินอุดหนุน เงินรางวัล การลด/ยกเว้นค่าเช่าที่ดินและโรงงาน การให้วีซ่าทำงาน และการโอนเงินตราต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยตื่นตัวและติดตามพัฒนาการข้างต้นอย่างทันท่วงที มิเช่นนั้น อีกไม่นานอาจต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับประเทศอื่นได้ ปัจจุบัน จีนได้เปิดทางให้ประเทศไทยสามารถส่งออก “รังนกบริสุทธิ์” ที่มีสีขาว สีเหลือง หรือสีทองได้ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรไทย ฉบับที่ มกษ. 6705-2557
การส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกของไทยส่วนใหญ่เป็น “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคชาวจีน แต่การแข่งขันในตลาดรังนกจีนก็มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น การเปิดตลาดธุรกิจรังนกของรัฐบาลจีนได้ดึงดูดให้นักลงทุนเข้าจัดตั้งโรงงานแปรรูปในจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยข้างต้นอาจส่งผลต่อ “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ที่ส่งออกจากไทยขาดแรงแข่งขัน ยังไม่นับรวมพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์รังนก และรูปแบบการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รังนกที่ผลิตภายในประเทศ
เมื่อคำนึงถึงความพร้อมของสวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกที่เมืองชินโจว นักลงทุนไทยสามารถพิจารณาการเข้ามาจัดตั้งธุรกิจในสวนดังกล่าวได้ โดยแหล่งวัตถุดิบสามารถนำเข้าจากทั้งไทย (ถ้ำรังนกที่ได้รับอนุญาตยังมีน้อย) หรือจะเป็นอินโดนีเซีย และมาเลเซีย (ถ้ำรังนกที่ได้รับอนุญาตมีจำนวนมาก) ที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องพัฒนาความโดดเด่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจ และการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งการทำคลิปลงสื่อโซเชียลและการไลฟ์สด เพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตภัณฑ์รังนกที่ครองตลาดมาก่อน รวมทั้งการเอาใจใส่ในเรื่องคุณภาพเพื่อตอกย้ำความเป็น Products of Thailand
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ส่งสินค้ารังนกและผลิตภัณฑ์ไปประเทศจีน สามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิตสินค้ารังนกได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ เพื่อประสานงานต่อไปยังหน่วยงาน CNCA ในการขอขึ้นทะเบียนโรงงานต่อไป และผู้ที่สนใจทำธุรกิจรังนกบ้าน สามารถศึกษาแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการบ้านนกแอ่นกินรังตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 28 พฤษภาคม 2563
รูปประกอบ www.freepik.com