หวานอมขมกลืน ยุค “ขาดทุน” บีบธุรกิจน้ำตาลกว่างซีเบนเข็มลงทุน
3 Dec 2013สำนักข่าวซินหัว-เขตฯ กว่างซีจ้วง : ปีนี้ โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ในกว่างซี (รวมถึงจีน) ต้องเผชิญภาวะขาดทุน จากปัจจัยต้นทุนการผลิตในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และการทะลักเข้าของน้ำตาลราคาถูกจากต่างประเทศ
กรมพัฒนาธุรกิจน้ำตาลเขตฯ กว่างซีจ้วง (Bureau of Sugar Development of Guangxi,广西壮族自治区糖业发展局) เปิดเผยข้อมูลว่า ฤดูการผลิตปี 2555/2556 ที่ผ่านมา วิสาหกิจผู้ผลิตน้ำตาลกว่างซีมีผลประกอบการลดลงอย่างมาก ภาคธุรกิจน้ำตาลมีผลกำไรรวมเพียง 770 ล้านหยวน ลดลงกว่า 4,080 ล้านหยวน คิดเป็นอัตราส่วนลดลงสูงถึงร้อยละ 84.2
หากคำนวณผลกำไรขาดทุน พบว่า ฤดูการผลิตที่ผ่านมา ธุรกิจน้ำตาลกว่างซีขาดทุนคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,525 ล้านหยวน มีโรงงานน้ำตาลที่ประสบผลขาดทุน จำนวน 81 รายจากทั้งหมด 103 ราย (คิดเป็นร้อยละ 78.6)
นายหนง กวาง (Nong Guang, 农光) ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจน้ำตาลกว่างซี กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำตาลในและต่างประเทศมีแนวโน้มตกต่ำลงอีก จากการคาดการณ์เชิงลบ ฤดูการผลิตปี 2556/2557 ธุรกิจน้ำตาลในกว่างซีจะยังคงประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และผลขาดทุนอาจจะขยายวงกว้างมากขึ้น
บุคคลในแวดวงธุรกิจน้ำตาลจำนวนไม่น้อยต่างหวังว่า ธุรกิจน้ำตาลในและต่างประเทศจะเข้าสู่ยุคผลผลิตตกต่ำ การที่ปริมาณการผลิตลดลงจะช่วยดันราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้น ถึงเวลานั้น ธุรกิจน้ำตาลจะได้ลืมตาอ้าปากอีกครั้ง ทว่า จากการคาดการณ์ ยุคผลผลิตตกต่ำคงไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
วิกฤตน้ำตาลในจีนส่งผลให้ธุรกิจน้ำตาลในกว่างซีต้องเบนเข็มไปลงทุนในภาคธุรกิจอื่น ๆ เพื่อแสวงหาผลกำไร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทน้ำตาลรายใหญ่อย่าง Nanning Sugar (南宁糖业) ประสบผลกำไรขาดทุน 146 ล้านหยวนในช่วง 3 ไตรมาสแรกปีนี้ (ผลกำไรลดลงกว่าร้อยละ 9.09) ได้หันไปลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์
กรณีข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างเท่านั้น ตามรายงาน ในเขตฯ กว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนานมีวิสาหกิจน้ำตาลจำนวนหลายรายที่เริ่มเบนเข็มการลงทุนไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม จนกระทั่งถูกสื่อนำเสนอว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงคราวตกต่ำของธุรกิจน้ำตาล
“ต้นทุน” นับเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อผลกำไรขาดทุนของธุรกิจน้ำตาล หากเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิลจะพบว่าต้นทุนการผลิตน้ำตาลในจีนสูงกว่ามาก
นายถาง ซ่าว โสง (Tang Shao Xiong, 唐绍雄) รองผู้จัดการบริษัท Guangxi State Farms Sugar Industrial Group (广西农垦糖业集团股份有限公司) ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยทางกายภาพช่วยให้ประเทศผู้ผลิตน้ำตาลยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างบราซิลได้ผลผลิตน้ำตาลต่อหน่วย(หมู่จีน)สูงถึง 10 ตัน (ประมาณ 4.16 ตันต่อไร่)
ส่วนประเทศแถมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทยได้ผลผลิตต่อหน่วย(หมู่จีน)ราว 7-8 ตัน (ประมาณ 2.9-3.3 ตันต่อไร่) ขณะที่จีนได้ผลผลิตต่อหน่วยเพียงประมาณ 4 ตันเท่านั้น (ราว 1.66 ตันต่อไร่) ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลอย่างมาก
ปัจจัยการผลิตข้างต้นส่งผลให้ราคาน้ำตาลในประเทศและต่างประเทศเกิดส่วนต่างค่อนข้างมาก
ช่วงปลายเดือนตุลาคม 56 ราคาซื้อขายน้ำตาลทรายขาวในตลาดลอนดอนอยู่ที่ตันละ 489.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณตันละ 3,006 หยวน) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 53.64 ของราคาซื้อขายเฉลี่ยน้ำตาลทรายในประเทศเท่านั้น
ความได้เปรียบด้านราคาส่งผลให้น้ำตาลนำเข้าจากต่างประเทศไหลทะลักเข้าสู่จีน ทำให้น้ำตาลในประเทศขาดศักยภาพแข่งขันโดยสิ้นเชิง
การลดต้นทุนการผลิตจึงเป็นหนทางรอดของผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ กว่างซีจำเป็นต้องประกาศใช้แผนปรับลดราคารับซื้ออ้อย ประจำฤดูการผลิตปี 2556/2557
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่า แผนดังกล่าวเป็นเสมือน “ดาบสองคม” เพราะการปรับลดราคารับซื้อวัตถุดิบอ้อยแม้ว่าจะช่วยผู้ประกอบการผลิตน้ำตาลบรรเทาแรงกดดันด้านต้นทุน ทว่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงจูงใจในการปลูกอ้อยของเกษตรกร และที่สำคัญคือ สร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพการพัฒนาของทั้งภาคธุรกิจ
ฤดูการผลิตปี 2556/2557 ราคารับซื้ออ้อยงวดแรกอยู่ที่ตันละ 440 หยวน ปรับลดลงจากฤดูการผลิตปี 2555/2556 ที่ตันละ 475 หยวน การปรับลดราคารับซื้ออ้อยในครั้งนี้ถือเป็นการปรับลดครั้งที่สองติดต่อกันจากฤดูการผลิตปีก่อน (ฤดูการผลิต 2554/2555 อยู่ที่ตันละ 500 หยวน)
เพื่อเร่งปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลของมณฑล ทางการกว่างซีพยายามดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อผลักดันการพัฒนาของธุรกิจน้ำตาลใน 4 ด้าน คือ การรวมกลุ่มไร่อ้อย (รวมแปลงพื้นที่ปลูกอ้อย) การปลูกอ้อยพันธุ์ดี (วิจัยพัฒนาสายพันธุ์ใหม่) การใช้เครื่องมือเครื่องจักร (ลดแรงงานคน) และการพัฒนระบบชลประทานสมัยใหม่
อนึ่ง ทุกฝ่ายมองว่า การรวมแปลงปลูกอ้อยของเกษตรกรเพื่อยกระดับผลผลิตต่อหน่วย ถือเป็นแนวทางแก้ไขภาวะชะงักงันไร้ทางออกและธุรกิจน้ำตาลจีนในปัจจุบัน
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ผลกระทบราคาน้ำตาล ทำโรงงานน้ำตาลกว่างซีเหยียบเบรค ชะลอเดินสายการผลิต (20 พ.ย. 2556)
– ธุรกิจน้ำตาลจีนเจอศึกหนัก คาดปีนี้ขาดทุน 10,000 ล้านหยวน (18 พ.ย. 2556)
– เกษตรกรโวย กว่างซีดำเนินแผนลดราคารับซื้ออ้อย ลดต้นทุนการผลิตสู้น้ำตาลนำเข้า (18 พ.ย. 2556)
– อุตสาหกรรมน้ำตาลจีนเข้าขั้นวิกฤต ทุกฝ่ายเร่งหาทางออก (30 ส.ค. 2556)