หนิงเซี่ย-มาเลเซีย ก้าวไปอีกขั้น จับมือรุกตลาดฮาลาลโลก
4 Sep 2014
- ท่าเรือ Klang ของมาเลเซีย จับมือวิสาหกิจผู้ผลิตสินค้าฮาลาลของหนิงเซี่ย หาแนวทางการผลักดันสินค้าฮาลาลที่ผลิตในหนิงเซี่ยให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น
- เร่งเปิด China-Malaysia Halal E-commercial Center บุกตลาดออนไลน์ทั่วโลก
รายงานข่าวจาก www.chinadaily.com.cn ท่าเรือ Klang ของมาเลเซียจับมือกลุ่มบริษัทผู้ผลิตอาหารและสินค้าฮาลาลของหนิงเซี่ย ผ่านงานสัมมนาโอกาสและความร่วมมือทางด้านการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซียและหนิงเซี่ย(The Multinational E-commerce Import and Export Trade Conference) ณ นครหยินชวน เมื่อ 3 ส.ค.57 ที่ผ่านมา
ภายในงานมีตัวแทนจากสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศจีน,ตัวแทนจากท่าเรือ Klang ของมาเลเซียและตัวแทนจากวิสาหกิจหนิงเซี่ยเข้าร่วมงาน ซึ่งนอกจากจะมีการหารือถึงความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล อันเป็นสินค้าศักยภาพของทั้งสองพื้นที่แล้ว ภายในงานสัมมนายังได้มีการหารือถึงประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1.มาเลเซีย-หนิงเซี่ย กับข้อตกลงแลกเปลี่ยนระหว่างกันล่าสุด
นาย เซี่ย เป่าเหวิน ผู้จัดการทั่วไปของท่าเรือ Klang และพ่วงตำแหน่งประธานสมาคมความร่วมมือโลจิสติกส์นานาชาติจีน-อาเซียน ได้กล่าวในการสัมมนาว่า “สินค้าที่ผลิตในประเทศจีนจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบกับปัญหาการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฮาลาลที่ผลิตในหนิงเซี่ย ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งมิติที่จะทำให้มาเลเซียสามารถเข้ามามีบทบาทและความช่วยเหลือสินค้าฮาลาลของหนิงเซี่ยให้ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ ด้วยการอาศัยประสบการณ์และช่องทางการขนส่งและกระจายสินค้าของท่าเรือ Klang ที่มีความชำนาญอยู่แล้ว”
2. เตรียมก่อตั้ง China-Malaysia Halal E-commercial Center ร่วมกันเปิดตลาดสินค้าฮาลาลระดับโลก
นอกจากความร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญแล้วนั้น มาเลเซียได้ลงทุนเปิดศูนย์การค้าฮาลาลออนไลน์จีน-มาเลเซีย ขึ้นที่หนิงเซี่ยอีกด้วย พร้อมทั้งเปิดสนง.ให้บริการหนังสือรับรองมาตรฐานฮาลาล ที่จะส่งผลให้สินค้าฮาลาลทั้งของหนิงเซี่ยและมาเลเซียได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมไปถึงการฝึกให้ความรู้และทักษะทางด้านตลาดสินค้าฮาลาลออนไลน์โดยเฉพาะ ที่จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกมุมโลกไม่จำกัดอยู่แค่ประชากรมุสลิมสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของหนิงเซี่ยที่มุ่งให้สินค้าฮาลาลที่ผลิตขึ้นไม่เป็นกลุ่มสินค้าเฉพาะเจาะจงอีกต่อไป
บทส่งท้าย
เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยถูกวางให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมุสลิมอื่นๆ รวมไปถึงการส่งเสริมให้หนิงเซี่ยเป็นฐานการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลขนาดใหญ่และมีศักยภาพไปทั่วโลก
การเข้าลงทุนของมาเลเซียในครั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากการเข้าลงทุนทั่วๆไปที่มุ่งแสวงผลกำไรเป็นหลัก แต่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการให้หนิงเซี่ยเติบโตทั้งในด้านคุณภาพและทักษะการดำเนินงาน ที่จะช่วยให้ธุรกิจมาเลเซียที่ลงทุนอยู่ในหนิงเซี่ยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิสาหกิจหนิงเซี่ยกับท่าเรือ Klang นี้สามารถตอบโจทย์ทางด้านระบบการขนส่งให้กับหนิงเซี่ยได้ทางหนึ่งเนื่องด้วยหนิงเซี่ยไม่มีอาณาเขตติดกับทะเล แต่อาจจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาระบบและเส้นทางการขนส่งที่จะช่วยลดต้นทุนเสียก่อน
จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมความร่วมมือจากภาครัฐบาลถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะผลักดันความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมชัดเจนและช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนในพื้นที่ทั้งสองมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม
1.ท่าเรือ Klang เป็นศูนย์การขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมาเลเซียและใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก ด้วยสภาพที่ตั้งที่เอื้ออำนวยทำให้ที่มีเส้นทางการเดินเรือจากยุโรปได้สะดวก ปัจจุบันได้ก่อตั้งในส่วนที่เรียกว่า Port Klang Free Zone ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่เดิม ดำเนินการด้านอุตสาหกรรมและเป็นจุดรองรับการเติบโตทางด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนในปีหน้านี้
2. ท่าเรือ Klang มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลและมีอำนาจในการดำเนินการด้วยตนเอง(Port Authority) โดยรัฐบาลให้สิทธิ์หน่วยงานเอกชนเข้ามาบริหารงาน ส่งผลให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดคือการก่อตั้ง Inland Port แห่งแรกของประเทศภายใต้ชื่อ “Ipoh Cargo Terminal”
ข้อมูลอ้างอิง
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Port_Klang_Free_Zone
2. http://www.chinadaily.com.cn/china/2014-08/05/content_18250133.htm