ส่อง ‘โอกาส’ ต่อยอดความร่วมมือของประเทศไทย ผ่านกระดานหมากของสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกว่างซี

22 Feb 2022

 

เมื่อไม่นานมานี้ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกว่างซี หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Guangxi CCPIT ได้กำหนด 7 ทิศทางการดำเนินงานของ CCPIT ในปี 2565 เพื่อยกระดับความร่วมมือและเปิดสู่ภายนอกในทางปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น ดังนี้

(1) อัปเกรดกิจกรรม/ฟอรัมให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการจัด “งานประชุมสุดยอดการค้าการลงทุนจีน-อาเซียน” ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานกับมหกรรมแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo และการจัดกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP อาทิ การจัดงานประชุมร่วมที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ในกรอบ RCEP และการจัดฟอรัมสุดยอดอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในกรอบ RCEP

(2) ส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของกว่างซีไปยังประเทศสมาชิกในกรอบ RCEP อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ยานยนต์และอะไหล่ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องจักรกล และการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะชีวการแพทย์ (Biomedical) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (Semiconductor) ชิป และชิ้นส่วนสำคัญ (Key components)

(3) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมผลักดันให้สมาคมธุรกิจและบริษัทของประเทศสมาชิกในกรอบ RCEP เข้าไปจัดตั้งสำนักงานในเขตฯ กว่างซีจ้วง

(4) โฟกัสเกี่ยวกับการพัฒนาการค้า อุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ของระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ หรือ ILSTC แบบบูรณาการ ส่งเสริมการก่อตั้งและพัฒนาสมาพันธ์ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจีน-อาเซียน หรือ CAMTA (China-ASEAN Multi-modal Transportation Alliance)

(5) ยกระดับการให้บริการด้านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การเปิดฝึกอบรมเฉพาะทางในกรอบ RCEP การผลักดันให้พื้นที่ต่างๆ พัฒนากรทำงานเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ C/O (Certificate of Origin) ภายใต้สิทธิพิเศทางภาษีศุลกากรและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

(6) โฟกัสไปที่การศึกษาวิจัยนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะรายงานวิจัยเกี่ยวกับบรรยากาศทางการลงทุนในเขตฯ กว่างซีจ้วง

(7) ส่งเสริมให้สมาคมระหว่างประเทศยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน ใช้ประโยชน์จากศูนย์บริการธุรกิจระหว่างประเทศในกรอบ RCEP ของหอการค้าระหว่างประเทศกว่างซี (Guangxi Chamber of International Commerce) และส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจของสมาคมธุรกิจ

บีไอซี เห็นว่า ทิศทางการดำเนินงานของ CCPIT  กว่างซีในปีนี้ เป็น “โอกาส” ที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถแสวงหาช่องทาง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา/ต่อยอดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกันได้ และขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกว่างซีและหอการค้าระหว่างประเทศกว่างซี เป็นหน่วยงานที่มีผู้ประกอบการและสมาคมท้องถิ่นเป็นสมาชิกอยู่หลากหลายสาขา และเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศให้กับภาคธุรกิจได้อีกด้วย

พูดง่ายๆ ก็คือ หน่วยงานดังกล่าวเป็นแหล่งรวมผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่น และจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME ที่ต้องการสร้างเครือข่ายและทำความรู้จักกับคู่ค้า/นักลงทุนที่มีศักยภาพในพื้นที่ เพราะการวิ่งหาคู่ค้าเองอาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้ร่วมกับหน่วยงานทีมไทยแลนด์ และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกว่างซี จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ China (Guangxi, Sichuan) – Thailand Special Talk on Thai Fruit Trade via New Western Land-Sea Corridor เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าเกษตรและผลไม้ไทยมายังประเทศจีน โดยการใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบโมเดลเรือ+รางตามแนวระเบียงการค้า ILSTC ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

 

 

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565
เว็บไซต์
www.ccpitgx.org และเว็บไซต์ www.gcamta.com

 

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน