ส่อง “เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ” ผ่านกว่างซี ตั้งแต่ต้นปี 2565 มีพัฒนาการใหม่อะไรกันบ้าง

18 Aug 2022

 

จากความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เป็น Gateway เชื่อมจีน(ตะวันตก)กับต่างประเทศ และโครงข่ายการคมนาคมขนส่งที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+ราง” เป็น “ไพ่ใบเด็ด” ที่สร้างชื่อเสียงให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นที่รู้จักในเวทีการค้าต่างประเทศ โดยมี “ท่าเรือชินโจว” เป็นข้อต่อตัวหลักที่ใช้เชื่อมการขนส่งระหว่าง “เรือบรรทุกสินค้ากับขบวนรถไฟลำเลียงตู้สินค้า” แบบไร้รอยต่อในบริเวณท่าเรือ

 

“ท่านรู้หรือไม่ว่า… ปัจจุบัน โครงข่ายรถไฟขนส่งสินค้าในท่าเรือชินโจว สามารถวิ่งไปยัง 108 สถานีใน 56 เมืองใน 16 มณฑลทั่วประเทศจีน (จากเดิม 14 มณฑล) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรือจะลำเลียงออกจากประเทศจีนต่อไปถึงคาซัคสถาน รัสเซีย  โปแลนด์ และเยอรมนี ได้อีกด้วย”

 

วันนี้ บีไอซี ขอนำท่านผู้อ่านไปอัปเดตกันว่า… ตั้งแต่ต้นปี 2565 มานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เปิดให้บริการการขนส่งสินค้าด้วย รถไฟ ล้วนๆ และโมเดลการขนส่ง “ลูกครึ่ง” ทั้งเรือ+ราง และราง+เรือ ที่น่าสนใจเส้นทางไหนบ้าง

สถิติ 6 เดือนแรก ปี 2565 พบว่า เที่ยวรถไฟขนส่งสินค้าในโมเดล “เรือ+ราง” ทั้งขาเข้าและขาออกในท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้กว่างซี วิ่งให้บริการรวม 4,132 เที่ยว เพิ่มขึ้น 42% (YoY) ให้บริการขนส่งสินค้าแล้วมากกว่า 640 ประเภท ลำเลียงตู้สินค้ารวม 3.79 แสน TEUs เพิ่มขึ้น 33.4% (YoY) และมีเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้ารวม 12 เส้นทาง ทั้งนี้ คาดว่าในสิ้นปี 2565 จะมีเที่ยวรถไฟที่วิ่งให้บริการทะลุ 7,000 เที่ยว

จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ชัดว่า การขนส่งในรูปแบบ “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจว สามารถประหยัดเวลาในการขนส่งได้อย่างมาก โดยเฉพาะการขนส่งข้ามทวีป (ใช้เวลาสั้นกว่าการขนส่งทางเรือผ่านทะเลแดง หรือขนส่งต่อเนื่องผ่านท่าเรือทางภาคตะวันออกของจีน) เมื่อสินค้าส่งถึงมือลูกค้าปลายทางเร็วขึ้น ก็จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้เจ้าของสินค้า (ส่งของเร็ว ได้เงินค่าสินค้าเร็ว)

ที่สำคัญ การขนส่งต่อเนื่อง “เรือ+ราง” ได้รับการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกรนำเข้า-ส่งออกแบบล่วงหน้าได้และเป็นแบบ One stop service ด้วย (เช่น ใบขนสินค้าใบเดียว ไม่ต้องแยกใบขนสินค้าเรือกับรถไฟให้ยุ่งยาก) แถมภาครัฐยังมีนโยบายเงินอุดหนุนค่าใช้จ่าย การตรึงราคาค่าขนส่งแบบราคาเดียว และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้เท่ากับท่าเรือสากลแห่งอื่นในจีน เพื่อดึงดูดให้ผู้ค้ามาใช้บริการที่ท่าเรือชินโจวอีกด้วย

เส้นทางการเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบัน มีเที่ยวเรือให้บริการสัปดาห์ละ 7 เที่ยว (เป็นเที่ยวเรือที่สามารถใช้ขนส่งผลไม้ได้ 4 เที่ยว) เที่ยวเรือที่สั้นที่สุดใช้เวลาเดินเรือเพียง 3-4 วันเท่านั้น สินค้าไทยสามารถขึ้นท่าที่ท่าเรือชินโจว และส่งขึ้นรถไฟไปยังหัวเมืองเศรษฐกิจใหม่ๆ หรือกระจายต่อไปที่นครเฉิงตู นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็น Hub ย่อยในการกระจายสินค้าต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย
         

บีไอซีเห็นว่า ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมและทันสมัยของกว่างซี(จีน) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหมุนเวียนของสินค้าได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเสริมความแข็งแกร่งของการบูรณการ regional supply chain ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ เป็น “โอกาส” สำหรับผู้ประกอบการไทยในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายการขนส่งที่ทันสมัยของจีน เพื่อเจาะตลาดจีน รวมถึงตลาดในภูมิภาคอื่นของโลกได้ด้วย

 

จัดทำโดย : นางสาวเนตรนภา บุญมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ https://www.sohu.com/a/552525257_121124570

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน