ส่องนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ “4+4+6” ของเมืองเซี่ยเหมิน
12 Oct 2022เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 นายชุย หย่งฮุย เลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองเซี่ยเหมิน เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองเซี่ยเหมิน โดยมอบหมายนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ “4+4+6” เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของเมืองเซี่ยเหมิน ดังนี้
2.1 การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก 4 สาขา ได้แก่ (1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตจอแสดงผล คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสาร Semiconductor และ IC รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล เช่น IoT AI Big Data Cloud Computing Blockchain และ Metaverse และตั้งเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการผลิตของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้สูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน (2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ อุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมบำรุงอากาศยาน และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (3) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการค้าและโลจิสติกส์ โดยเน้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น และระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเมืองเซี่ยเหมินเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศและศูนย์การขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ และ (4) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โดยเน้นการพัฒนาเขตสาธิตอุตสาหกรรมการเงิน และการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน
2.2 การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ 4 สาขา ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ อาทิ การพัฒนานวัตกรรมยาใหม่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบริการด้านชีวการแพทย์ เพื่อส่งเสริมการพัฒนา คลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ระดับประเทศ และจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมทางอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของเมืองเซี่ยเหมิน (2) อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ เน้นการพัฒนาวัสดุ Optoelectronic วัสดุใหม่ที่ผลิตจากแร่ธาตุหายาก และวัสดุใหม่สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุใหม่เชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศ (3) อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ เน้นการพัฒนาแบตเตอรี่ Solar cell ระบบ Smart grid สำหรับการผลิตและจ่ายไฟฟ้า เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ให้สูงกว่า 1 แสนล้านหยวน และ (4) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการท่องเที่ยว โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์ ดิจิทัลคอนเทนต์ เกมส์ แอนิเมชั่น และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น
2.3 การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 6 สาขา ได้แก่ Semiconductor วัสดุใหม่เชิงยุทธศาสตร์ พลังงานไฮโดรเจนและการจัดเก็บพลังงาน พันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ และการพัฒนาอากาศยานและยานสำรวจใต้ทะเลลึก
2.4 การแบ่งพื้นที่อุตสาหกรรมใน 6 เขตของเมืองเซี่ยเหมิน ดังนี้ (1) เขตซือหมิง เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเงิน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการ และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (2) เขตหูหลี เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การค้าและ โลจิสติกส์ การเงิน วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (3) เขตจี๋เหม่ย เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ โลจิสติกส์ วัสดุใหม่ และเกษตรสมัยใหม่ (4) เขตไห่ชาง เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ วงจรรวม วัสดุใหม่ และโลจิสติกส์และการขนส่งทางทะเล (5) เขตเสียงอัน เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การค้าและโลจิสติกส์ เศรษฐกิจทางทะเล การบิน และเกษตรอัจฉริยะ (6) เขตถงอัน เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แผนการพัฒนาอุตสาหกรรม “4+4+6” เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายของเมืองเซี่ยเหมินในด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้า ซึ่งล้วนสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ดังนั้น ไทยจึงควรติดตามทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมืองเซี่ยเหมินเพื่อประโยชน์ในการสำรวจความร่วมมือในสาขาเป้าหมายร่วมกันต่อไป
แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/detail/6256.html
https://xm.leju.com/news/2022-08-24/20006968358976488806407.shtml