สนามบินหนานหนิงพร้อมรับผลไม้ไทยล็อตแรก ดีเดย์ 13 พฤษภาคมศกนี้
13 May 2022ไฮไลท์
- อาคารคลังสินค้าประจำท่าอากาศยานฯ ได้ประกาศแจ้งผู้ประกอบการทราบว่า…. ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงจะเริ่มให้บริการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยผลไม้ไทยล็อตแรกเป็น “ทุเรียน” น้ำหนัก 19.5 ตัน ประเดิมใช้สนามบิน
- ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง เป็นอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ สำหรับผู้ส่งออกไทยไปยังประเทศจีน เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย ใช้เวลาทำการบินเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก โดยผู้ส่งออกไทยสามารถใช้โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีความสมบูรณ์ทันสมัยของ “นครหนานหนิง” ในการกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังพื้นที่อี่นทั่วประเทศจีนได้
- นอกจากผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนอย่างทุเรียน มังคุดแล้ว ท่าอากาศยานหนานหนิงจะช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก รวมถึงผลไม้เกรดพรีเมียม และผลไม้ที่มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ที่สำคัญ ท่าอากาศยานหนานหนิงเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหารถบรรทุกแออัดบริเวณด่านพรมแดนกว่างซี-เวียดนามได้อีกด้วย
หลังจากที่ศูนย์บีไอซี ได้อัปเดทข่าวพัฒนาการของการเพิ่มทางเลือกในการส่งออกสินค้าผลไม้ไทยมายังจีนว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 รายชื่อของ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อสถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้าบนเว็บไซต์ของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC นั่นหมายความว่า สนามบินหนานหนิงได้รับการอนุมัติให้สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้แล้ว นั้น
ล่าสุด อาคารคลังสินค้าท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้มีประกาศแจ้งกับผู้ประกอบการทราบเกี่ยวกับการเปิดดำเนินการของ “ด่านนำเข้าผลไม้” ประจำท่าอากาศยานหนานหนิงอย่างเป็นทางการ โดยข้อความส่วนหนึ่งในประกาศแจ้งว่า… คุณสมบัติของการเป็นด่านนำเข้าผลไม้ของท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิงได้ผ่านการอนุมัติจาก GACC แล้ว และมีความพร้อมสำหรับการดำเนินการนำเข้าผลไม้แล้ว โดยจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
“ท่าอากาศนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง” (Nanning Wuxu International Airport/南宁吴圩国际机场) เป็นอีกหนึ่ง ‘ทางเลือก’ สำหรับผู้ส่งออกไทยไปยังประเทศจีน เนื่องจากท่าอากาศยานแห่งนี้มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งใกล้ไทย ใช้เวลาทำการบินเพียงประมาณ 2 ชั่วโมง เป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มาก โดยผู้ส่งออกไทยสามารถใช้โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีความสมบูรณ์ทันสมัยของ “นครหนานหนิง” ในการกระจายสินค้าไปจำหน่ายยังพื้นที่อี่นทั่วประเทศจีนได้
เส้นทางการเป็น “ประตูการค้า(ผลไม้ไทย)” ของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง
- กันยายน 2564 ท่าอากาศยานอู๋ซวีนครหนานหนิง ได้รับอนุมัติจาก GACC ให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ มีพื้นที่ 1,009 ตร.ม. ประกอบด้วยพื้นที่ลานตรวจ พื้นที่ลานรอตรวจ พื้นที่ตรวจปล่อย ห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองเบื้องต้น ห้องเก็บสินค้าสุ่มตรวจ และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อกล่องบรรจุภัณฑ์สินค้าแบบรอบด้าน กล่องบรรจุผลไม้เน่าเสียแบบปิดมิดชิด (อย่างไรก็ดี ท่าอากาศยานฯ ยังไม่สามารถเปิดให้มีการนำเข้าผลไม้ได้ หลังจากที่ GACC ได้อนุมัติในหลักการแล้ว ท่าอากาศยานฯ ต้องไปพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและวางระบบการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องให้เข้าเกณฑ์มาตรฐานข้อกำหนดด้านการควบคุมและตรวจสอบโรคและแมลงศัตรูพืชของ GACC และเข้าสู่กระบวนตรวจรับจาก GACC เสียก่อน)
- ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยานฯ ได้เปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจรับจากศุลกากรหนานหนิง (ดูแลทั้งเขตฯ กว่างซีจ้วง) เป็นที่เรียบร้อย มีพื้นที่รวม 8,200 ตร.ม. พร้อมรองรับการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศได้ 80,000 ตัน/ปี มีฟังก์ชันรองรับการนำเข้า-ส่งออกอย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต
- วันที่ 1 เมษายน 2565 บนเว็บไซต์ของ GACC ได้ปรากฎรายชื่อของ “สถานตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้าของท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีหนานหนิง” ซึ่งหมายความว่า… ท่าอากาศยานแห่งนี้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ รวมถึงผลไม้ไทย
- วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 อาคารคลังสินค้าประจำท่าอากาศยานฯ ได้ประกาศแจ้งผู้ประกอบการทราบว่า…. ท่าอากาศยานฯ จะเริ่มให้บริการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
- วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ผลไม้ไทยล็อตแรกเป็น “ทุเรียน” น้ำหนัก 19.5 ตัน ประเดิมใช้สนามบินหนานหนิง
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากฟังก์ชันการเป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศแล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้ยังได้รับการอนุมัติและผ่านการตรวจรับเป็นด่านนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค และด่านนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นจากต่างประเทศด้วย ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานแห่งนี้มีประวัติการนำเข้ากุ้งแวนนาไมมีชีวิต หรือกุ้งขาวจากประเทศไทยมาแล้ว
ผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปประเทศจีนมีทั้งหมด 22 ชนิด นอกจากผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนอย่างทุเรียน มังคุดแล้ว ท่าอากาศยานหนานหนิงจะช่วยสร้าง “โอกาส” ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก รวมถึงผลไม้เกรดพรีเมียม และผลไม้ที่มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) อาทิ ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะม่วงน้ำดอกไม้
ที่สำคัญ ท่าอากาศยานหนานหนิงเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหารถบรรทุกแออัดบริเวณด่านพรมแดนกว่างซี-เวียดนามได้อีกด้วย
ตามรายงาน หลายปีมานี้ ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Freight Business) ของนครหนานหนิงมีแนวโน้มเติบโตได้ดี ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท Guangxi Airport Group (广西机场管理集团) หรือ GAG ได้มีการขยายเส้นทางและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา โฟกัสไปที่กลุ่มอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ หรือ Cross-border e-Commerce กับประเทศสมาชิกอาเซียน
ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ท่าอากาศยานหนานหนิงมีปริมาณการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศแล้ว 21,700 ตัน คิดเป็น 91.18% ของปริมาณการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศของทั้งปี 2564 ปัจจุบัน มีเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ประจำการอยู่ในฝูงบินแล้ว 3 ลำ โดยลำแรกเป็นเครื่องบินรุ่น B737 -800F ของสายการบินเทียนจิน (天津货运航空有限公司) เข้าประจำการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ต่อมาลำที่ 2 และลำที่ 3 เป็นเครื่องบินรุ่น B757-200F ของสายการบิน YTO Airline (圆通货运航空有限公司) เข้าประจำการเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 และเมษายน 2565 ตามลำดับ
บริษัท Guangxi Civil Aviation Development (广西民航产业发展有限公司) บริษัทลูกของ GAG และเป็นบริษัทที่นำเครื่องบินขนส่งสินค้าเข้าประจำการฝูงบิน เปิดเผยว่า การเพิ่มจำนวนเครื่องบินประจำการ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างนครหนานหนิงกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้เพิ่มสูงขึ้น การพัฒนาเครือข่ายเที่ยวบินการขนส่งสินค้าทางอากาศ และเสริมสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) ด้านการบินระหว่างนครหนานหนิงกับประเทศสมาชิกอาเซียน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการบุกเบิกเส้นทางขนส่งสินค้าทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้นครหนานหนิงกลายเป็น Hub การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 10 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.carnoc.com (民航资源网)