วิสาหกิจอาหารเครื่องดื่มต้องรู้!!! กว่างซีประกาศกฎใหม่ บรรจุภัณฑ์ไม่ติดฉลากแสดงส่วนประกอบห้ามจำหน่าย เริ่มใช้แล้วปีนี้

3 Jan 2013

เว็บไซต์ข่าวกว่างซี : เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 สำหรับ กฎทั่วไปว่าด้วยฉลากโภชนาการอาหารบนบรรจุภัณฑ์หากไม่ระบุข้อมูลด้านโภชนาการถือเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ ห้ามจำหน่าย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพความปลอดภัยของอาหารเครื่องดื่มเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคม ซึ่งสร้างความกังวลให้กับชาวจีนเป็นอย่างมาก

แม้ว่าทางการจีนจะพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทว่า รายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวที่ตีแผ่ตามหน้าสื่อต่างๆ ยังคงสามารถพบเห็นได้อยู่เรื่อยๆ

ถึงกระนั้น ทางการจีนยังคงมุ่งมั่นพัฒนากลไกควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อสร้างหลักประกันให้กับชาวจีนอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด ทางการจีนได้มีการออก กฎทั่วไปว่าด้วยฉลากโภชนาการอาหารบนบรรจุภัณฑ์ เป็นแนวทางให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ เพื่อใช้ควบคุมตรวจสอบวิสาหกิจอาหารเครื่องดื่มที่ผลิต/นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายในประเทศจีน

ตามกฎทั่วไปฯ ระบุว่า บรรจุภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มจะต้องมีการระบุส่วนประกอบทางโภชนาการ 4 ชนิด (โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียม) ปริมาณพลังงานที่ได้รับ และสัดส่วนของปริมาณสารอาหารอ้างอิง (NRV)

โดยผลิตภัณฑ์อาหารที่เริ่มผลิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป จะต้องแสดงรายละเอียดข้างต้นอย่างครบถ้วน

นอกจากนี้ ฉลากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีการระบุข้อความแสดงสรรพคุณ อาทิ “High Protein” หลังกฎทั่วไปฯ เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วมีการห้ามระบุข้อความดังกล่าวโดยไม่มีหลักฐานพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

นางหม่า ลี่ ผิง (Ma Li Ping, 马力平) นักโภชนาการอาหารจาก The First Affiliated Hospital of Guangxi University of Chinese Medicine (广西中医药大学第一附属医院) กล่าวแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศใช้กฎทั่วไปฯ ฉบับนี้ ด้วยเหตุผล (1) เป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ผู้ประกอบการผลิต และ (2) รักษาสิทธิผู้บริโภคและผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในแง่คุณภาพความปลอดภัย

อย่างไรก็ดี พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับฉลากโภชนาการไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งต้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เพิ่มมากขึ้น อาทิ สัดส่วนของปริมาณสารอาหารอ้างอิง (NRV)

โดยเปรียบเทียบปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวันเท่ากับ 100 เปอร์เซนต์ ดังนั้น หากบนฉลากซีอิ้วระบุข้อความว่า ซีอิ้วปริมาณ 15 มิลลิลิตร มีปริมาณสารโซเดียม 1,082 มิลลิกรัม สัดส่วน NRV เท่ากับ 54%

หมายความว่า หากผู้บริโภคใช้ซีอิ้ว 15 มิลลิลิตรในการปรุงอาหาร นั่นหมายความว่าร่างกายจะได้รับโซเดียมร้อยละ 54 จากปริมาณความต้องการต่อวันที่ 100 เปอร์เซนต์เต็ม

ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับสุภาพร่างกายของตัวเองได้ เช่น ผู้บริโภคมีความดันสูง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด สามารถเลือกซีอิ้วที่มีปริมาณสารโซเดียมที่ต่ำกว่า เพื่อรักษาสุขภาพของตนเอง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน