รัฐบาลกลางไฟเขียวเพิ่มชื่อด่านนำเข้า ‘ยาสมุนไพร’ ให้กว่างซี สร้างโอกาสนำเข้าเพิ่มจากอาเซียน
24 Mar 2022ไฮไลท์
- หลายปีมานี้ ประเทศจีนมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนเพิ่มมากขึ้น โดย ‘เขตปกครองตนเองกว่างซี’ เป็นมณฑลที่มีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนมากถึง 60%-70% ของทั้งประเทศจีน มีแหล่งนำเข้าหลักมาจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา
- เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกำกับดูแลยาแห่งชาติจีน (คล้าย อย.) และศุลกากรแห่งชาติจีน ได้เห็นชอบให้เพิ่มชื่อ “ด่านอ้ายเตี้ยน” ตั้งอยู่ในอำเภอหนิงหมิง เมืองฉงจั่วของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (ติดจังหวัด Langson ของเวียดนาม) เป็นด่านชายแดนเพื่อการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน จากเดิมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 4 แห่ง คือ ด่านนครหนานหนิง ด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง และด่านทางบกหลงปัง
- ‘วัตถุดิบยาสมุนไพรจีน’ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีอ่อนไหว ซึ่งจะต้องนำเข้าผ่านด่านที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางแล้วเท่านั้น (เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอีกหลายชนิด อาทิ ผลไม้สด เนื้อสัตว์ รังนก) สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง
- ตลาดการแพทย์และสุขภาพในกว่างซี(จีน) จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ครอบคลุมถึงธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ และธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ด้วยภูมิปัญญาไทย และสมุนไพรไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ โดยธุรกิจไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนเพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ชาวกว่างซี(จีน)ได้
หลายปีมานี้ ประเทศจีนมีแนวโน้มความต้องการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนเพิ่มมากขึ้น สถิติปี 2564 ระบุว่า วัตถุดิบยาสมุนไพรจีนที่จีนนิยมนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรจีนที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงสุขภาพบำรุงเลือด ป้องกันโรคระบาด รวมถึงกลุ่มเครื่องเทศ เช่น รังนก สะระแหน่ (มินต์) กระวาน ลิลลี่ (Lilium brownii) พริกไทย จันทน์เทศ โสมอเมริกัน (Panax quiquefolium L.) อบเชย กำยาน และชะเอมเทศ โดยเฉพาะอบเชย (มูลค่านำเข้า 252 ล้านหยวน ขยายตัว 2674.55%) และจันทน์เทศ (มูลค่านำเข้า 300 ล้านหยวน ขยายตัว 136.54%)
‘เขตปกครองตนเองกว่างซี’ เป็นมณฑลที่มีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนมากถึง 60%-70% ของทั้งประเทศจีน ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ชนิดและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากต่างประเทศผ่านทางกว่างซีพุ่งสูงขึ้น โดยแหล่งนำเข้าหลักมาจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกำกับดูแลยาแห่งชาติจีน (คล้าย อย.) และศุลกากรแห่งชาติจีน ได้เห็นชอบให้เพิ่มชื่อ “ด่านอ้ายเตี้ยน” (Aidian Border Gate/爱店口岸) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นด่านชายแดนเพื่อการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีน
“ด่านอ้ายเตี้ยน” ตั้งอยู่ในอำเภอหนิงหมิง เมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดนที่มีความสำคัญด้านการค้ากับต่างประเทศของกว่างซี) บริเวณหลักปักปันเขตแดนที่ 1223 ของจีน-เวียดนาม ตรงข้ามกับด่าน Chi Ma อำเภอ Loc Binh ในจังหวัด Lang Son ของเวียดนาม ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอหนิงหมิง 50 กิโลเมตร ห่างจากด่านโหย่วอี้กวาน 92 กิโลเมตร ห่างจากนครหนานหนิง 185 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด Langson 34 กิโลเมตร และห่างจากกรุงฮานอย 180 กิโลเมตร
นายหวง เชิน (Huang chen/黄琛) อธิบดีสำนักงานกำกับดูแลยาเขตฯ กว่างซีจ้วง ให้ข้อมูลว่า หลายปีมานี้ ความร่วมมือด้านการค้าผลิตภัณฑ์ยาระหว่างจีนกับอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว เขตฯ กว่างซีจ้วงกลายเป็น “ช่องทาง” การนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียน ชนิดและปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนผ่านด่านต่างๆ ในกว่างซีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2563 กว่างซีได้ก้าวขึ้นเป็นมณฑลที่มีมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนมากที่สุดในประเทศจีน
สถิติปี 2564 พบว่า เมืองฉงจั่วเป็นเมืองที่มีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนมากที่สุดในกว่างซี รวม 338 ล็อต คิดเป็นน้ำหนัก 7,666.51 ตัน เพิ่มขึ้น 498.49% (YoY) รวมมูลค่าสินค้า 11.443 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 246.45% (YoY)
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การส่งออก ‘วัตถุดิบยาสมุนไพรจีน’ ไปประเทศจีน ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาระเบียบว่าด้วยการกำกับดูแลวัตถุดิบยาสมุนไพรนำเข้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ‘ด่านปลายทาง’ เป็นด่านที่ได้ที่ได้รับอนุมัติให้สามารถนำเข้ายาสมุนไพรได้หรือไม่ เนื่องจาก ‘วัตถุดิบยาสมุนไพรจีน’ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีอ่อนไหว ซึ่งจะต้องนำเข้าผ่านด่านที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางแล้วเท่านั้น (เช่นเดียวกับสินค้าเกษตรอีกหลายชนิด อาทิ ผลไม้สด เนื้อสัตว์ รังนก)
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง ปัจจุบัน มีด่านที่ได้รับอนุมัติให้นำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนแล้ว 5 แห่ง คือ ด่านนครหนานหนิง ด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง ด่านทางบกหลงปัง และด่านอ้ายเตี้ยน
ที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ การผสมผสานศาสตร์การรักษาระหว่างแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนปัจจุบัน และการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ สะท้อนจากการกำหนดนโยบายให้หลายเมืองสำคัญในกว่างซีกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในสาขาดังกล่าว อาทิ เมืองยวี่หลิน และอำเภอปกครองตนเองชนชาติเย้าปาหม่า เมืองเหอฉือ
นอกจากนี้ รัฐบาลกว่างซียังมุ่งส่งเสริมการลงทุนในศูนย์วิจัยทางการแพทย์และเภสัชกรรม ซึ่งนับเป็นหัวใจของการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง และเป็นจังหวะที่ดีในการสร้างโอกาสใหม่ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคต และภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง กว่างซีได้จัดตั้ง “เขตนำร่องการเปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์นานาชาติฝางเฉิงก่าง” (Fangchenggang International Medical Opening-up Pilot Zone/防城港国际医学开放试验区) ที่เมืองฝางเฉิงก่าง เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ระหว่างจีนกับต่างประเทศ (อาเซียน) และเป็นช่องทางสำคัญที่จีนใช้เพื่อการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนจากอาเซียนด้วย
เขตนำร่องฯ ได้รับการวางตำแหน่ง (Positioning) ให้เป็นพื้นที่สาธิตความร่วมมือและนวัตกรรมทางการแพทย์นานาชาติกับชาติสมาชิก SCO และอาเซียน เป็นพื้นที่แห่งโอกาสด้านการแพทย์นานาชาติที่เชื่อมประเทศบนข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI) โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา คือ อุตสาหกรรมการเพาะและขยายพันธุ์สัตว์ทดลอง อุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนายาระยะ preclinic และอุตสาหกรรมอาหารและการพัฒนาการแพทย์ดั้งเดิม โดยพร้อมเปิดรับนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศสมาชิกอาเซียน
ตลาดการแพทย์และสุขภาพในกว่างซี(จีน) จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย รวมถึง “อาหารเพื่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง ทิศทางการพัฒนาของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพในจีนที่เริ่มต้นจากอาหารสีเขียวได้ยกระดับสู่การพัฒนานวัตกรรมอาหารเสริมสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟังก์ชันที่ช่วยเรื่องสุขภาพและระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายหรือจะเป็นอาหารเสริมเฉพาะด้าน
นอกจากนี้ ยังมี “ธุรกิจบริการด้านการดูแลสุขภาพ (Healthcare and Wellness) ด้วยภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรไทย” เน้นตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานรุ่นใหม่ในการผ่อนคลายความเครียดและบรรเทาอาการเหนื่อยเมื่อยล้า เช่น สปา การนวดแผนไทย การนวดเพื่อสุขภาพ การประคบสมุนไพรไทย การบำบัดด้วยกลิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับ โดยธุรกิจไทยสามารถศึกษาและแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเขตนำร่องฯ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของกว่างซีในมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การสร้างเครือข่าย health and wellness resort การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการบริการที่ตอบโจทย์ชาวจีนได้
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新社广西) วันที่ 17 มีนาคม 2565
เว็บไซต์ www.cnr.cn (央广网) วันที่ 17 มีนาคม 2565 และเว็บไซต์ www.tdyt.com.cn (天地云图大数据)