รังนกดิบมาเลย์เข้าจีนได้แล้ว เส้นทางรังนกไทยยังอีกยาวไกลไหม
27 Nov 2019ไฮไลท์
- รังนกขนหรือรังนกดิบจากประเทศมาเลเซียสามารถส่งออกไปยังประเทศจีนได้อย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยความพยายามตลอดหลายปีของรัฐบาลมาเลเซียในการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์รังนกขนมาเลเซียเข้าสู่ตลาดจีนผ่านระบบการค้าสากล โดยมีการจัดงานฉลองการเริ่มต้นการแปรรูปรังนกขน (รังนกดิบ) จากมาเลเซียขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย
- นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซียในเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นพื้นที่รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมรังนกครบวงจรที่แรกของจีน ตั้งแต่การนำเข้า การตรวจทดสอบ การแปรรูปอย่างมีมาตรฐาน การวิจัย การจัดแสดงและการจัดจำหน่าย การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการค้ารังนก ที่เปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
- ยางพาราและน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าเป้าหมายประเภทถัดไปที่นิคมอุตสาหกรรมฯ กำลังเร่งส่งเสริมความร่วมมือกับมาเลเซีย หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันทุเรียนแช่แข็งและรังนกมาแล้ว รวมถึงการแสวงหาแนวทางการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีข้ามชาติ “สองประเทศ สองนิคมอุตสาหกรรม” เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการลงทุนระหว่างกันของวิสาหกิจทั้งสองประเทศ
- การดำเนินงานเชิงรุกของมาเลเซียในการส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าเกษตรที่เป็นจุดแข็งของตนเพื่อขยายตลาดในจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สินค้าทับซ้อน” กับของไทยนั้น อาจส่งผลกระทบกับฐานสินค้าเกษตรไทยในจีนไม่น้อย ปัจจุบัน ตลาดข้าวหอมของไทยก็กำลังเผชิญความท้าทายจากข้าวหอมกัมพูชาในตลาดจีนเช่นกัน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 มีการจัดงานฉลองการเริ่มต้นการแปรรูปรังนกขน (รังนกดิบ) จากมาเลเซียขึ้นที่นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย โดยมีรังนกขนจากมาเลเซีย 150 กิโลกรัมที่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้วนำเข้าไปแปรรูปในนิคมแห่งนี้ นับเป็นการค้ารังนกผ่านรูปแบบการค้าสากลครั้งแรกของจีนกับมาเลเซีย และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าโครงการอุตสาหกรรมรังนกที่เตรียมการมานานหลายปีของนิคมฯ ได้เริ่มสายการผลิตอย่างเป็นทางการแล้ว
Mr. Muhammad Daniel Yee Abdullah ที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรประจำสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์รังนกจากประเทศมาเลเซียเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน และผู้ประกอบการรังนกมาเลเซียได้ให้ความสําคัญกับตลาดจีนเป็นอย่างมาก ด้วยแรงสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ จนในที่สุดรังนกขนจากมาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศจีนได้อย่างเป็นทางการ โดยผ่านกระบวนการคัดขน ฆ่าเชื้อ ขึ้นรูป และติดฉลาก QR Trace ตรวจสอบย้อนกลับ เป็นผลิตภัณฑ์รังนกที่มีคุณภาพสูงสำหรับผู้บริโภคชาวจีน ในระยะต่อไป มาเลเซียจะประสานกับผู้ผลิตรังนกเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกไปยังประเทศจีนให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากขึ้นมีโอกาสได้รับประทานรังนกแท้ที่มีราคายุติธรรม
เพื่อขยายช่องทางการการขายรังนกของประเทศมาเลเซีย เมื่อปี 2556 นิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สาธิตความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิตระหว่างประเทศ (International Production Capacity) ระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ได้กำหนดให้ “การแปรรูปรังนกขนนำเข้า” เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของแผนงานพัฒนาดังกล่าว
ต่อมาเมื่อปี 2559 หลังจากที่รัฐบาลจีนและมาเลเซียได้ร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยเงื่อนไขการตรวจสอบและกักกันโรคและสุขอนามัยสัตว์ของรังนกขนมาเลเซียที่ส่งออกไปยังประเทศจีนแล้ว ทางนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซียได้เร่งผลักดันความคืบหน้าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกในนิคมฯ การก่อสร้างห้องปฏิบัติตรวจสอบรังนกและอาหารบำรุงสุขภาพแห่งชาติ ฐานการแปรรูปและการค้ารังนก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกที่มีความพร้อมสมบูรณ์
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท China Certification and Inspection Group หรือ CCIC (中国检验认证(集团)有限公司) ในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการ (Traceability) สำหรับรังนกขนที่นำเข้าจากมาเลเซีย และได้นำมาตรการพิเศษเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกและสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจีนและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในนิคมฯ อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านค่าเช่าและภาษี
ปัจจุบัน ฐานการแปรรูปและการค้ารังนกในนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซียได้ก่อสร้างแล้วเสร็จครอบคลุมเนื้อที่ 33.3 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 690 ล้านหยวน เป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาอุตสาหกรรมรังนกที่ครบวงจรแห่งแรกของจีน ตั้งแต่การนำเข้า การตรวจทดสอบ การแปรรูปอย่างมีมาตรฐาน การวิจัย การจัดแสดงและจัดจำหน่าย การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการค้ารังนก
ขณะนี้ ในฐานการแปรรูปและการค้ารังนกแห่งนี้มีผู้ประกอบการจีนและต่างประเทศได้ลงนามสัญญาเข้าจัดตั้งกิจการแล้วมากกว่า 10 ราย ในจำนวนนี้ มี 5 รายที่พร้อมเดินสายการผลิตแล้ว โดยมีกำลังการแปรรูปปีละ 150 ตัน
นายกาว ผู่ (Gao Pu/高朴) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองชินโจว และรองหัวหน้าคณะกรรมการบริหารเขตนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย กล่าวว่า นิคมฯ พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมและยกระดับความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือของ “สองประเทศ สองนิคม” ระหว่างจีนและมาเลเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลักดันการส่งออกทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซียสู่จีนมาแล้ว และการส่งออกรังนกขนจากมาเลเซียมาสู่จีนในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งผลงานเชิงสัญลักษณ์ของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนและมาเลเซีย และเป็นโอกาสใหม่ในการพัฒนาความร่วมมือเชิงลึกอย่างรอบด้านระหว่างทั้งสองประเทศ
สำหรับแผนงานต่อไป นิคมฯ จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิมของมาเลเซีย ได้แก่ ยางพาราและน้ำมันปาล์ม และเสริมสร้างความร่วมมือกับมาเลเซียในด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมบุคลากร การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมทั้งแสวงหาแนวทางการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีข้ามชาติ “สองประเทศ สองนิคมอุตสาหกรรม” เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนระหว่างกันของวิสาหกิจทั้งสองประเทศ และยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนและมาเลเซียอย่างรอบด้าน
BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลอดหลายปีมานี้ มาเลเซียได้ดำเนินงานเชิงรุกเพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ รังนก(ขน)ของมาเลเซียสามารถส่งออกไปยังจีนได้อย่างถูกต้อง โดยเมื่อปีที่แล้ว มาเลเซียได้จัดกิจกรรม Roadshow “งานเทศกาลรังนกมาเลเซีย 2018” เป็นครั้งแรกในจีนที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 1 เมษายน 2561 หลังการจัด “งานเทศกาลทุเรียน” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก
เห็นได้ว่า การดำเนินงานเชิงรุกของมาเลเซียในการส่งเสริมแบะสนับสนุนสินค้าเกษตรที่เป็นจุดแข็งของตนเพื่อขยายตลาดในจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สินค้าทับซ้อน” กับของไทยนั้น อาจส่งผลกระทบกับฐานสินค้าเกษตรไทยในประเทศจีนไม่น้อย ปัจจุบัน ตลาดข้าวหอมของไทยก็กำลังเผชิญความท้าทายจากข้าวหอมกัมพูชาในตลาดจีนเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย สำนักงานศุลกากร (ขณะนั้นเป็นสำนักงานควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันโรคแห่งชาติจีน หรือ AQSIQ) ได้อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์รังนกจากไทย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560 โดยกำหนดว่ารังนกที่นำเข้าต้องเป็นรังนกที่มีสีขาว เหลือง หรือทองเท่านั้น (ยังไม่อนุญาตให้นำเข้ารังนกดิบและรังนกเลือด) และผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ทาง AQSIQ กำหนดอย่างเคร่งครัด
หากทุกภาคส่วนของไทยยังคงนิ่งนอนใจ สินค้าเกษตรไทยก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งในไม่ช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อบุกตลาดจีน (รุกก่อนย่อมได้เปรียบ) ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง ผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพและมีความแปลกใหม่ เพื่อตอกย้ำคุณภาพ Made in Thailand
นางสาวนครชนก ศรีประเสริฐ นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยพะเยา
ผู้เรียบเรียง นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (广西中新社) วันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
ภาพประกอบ www.pixabay.com