“รถไฟความเร็วสูง” ช่องทางการตลาดแนวใหม่ของสินค้า OTOP กว่างซี
29 Jul 2020
ไฮไลท์
- กว่างซีจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า OTOP ผ่านแพลตฟอร์มรถไฟความเร็วสูง โดยการจัดพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าและการทำโฆษณาในสถานีรถไฟและภายในรถไฟ
- “รถไฟความเร็วสูง” มีข้อได้เปรียบชัดเจนในแง่ของปริมาณหมุนเวียนจำนวนผู้โดยสารในอัตราที่สูง จึงเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ
- สินค้าที่ประชาสัมพันธ์จะต้องตรงกับช่วงฤดูกาลการผลิตและจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลในระยะยาว สร้างแบรนด์ให้ติดหูติดตาจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้น
- การประชาสัมพันธ์สินค้าไทยบนแพลตฟอร์มรถไฟความเร็วสูงในจีน น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดจีนได้
กว่างซีจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า OTOP ผ่านกิจกรรม “รถไฟความเร็วสูงร่วมแรง นำสินค้ากว่างซีก้าวออกจากบ้าน” เพื่อช่วยผลักดันให้สินค้ากว่างซีเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนมากยิ่งขึ้น โดย “มะม่วงไป่เซ่อ” เป็นสินค้าตัวแรกที่ใช้ประเดิมกิจกรรมดังกล่าว โดยมีการจัดพื้นที่วางจำหน่ายสินค้า การทำโฆษณาในตัวสถานีรถไฟและภายในรถไฟ รวมถึงชื่อขบวนรถด้านนอก
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นบทบาทในชีวิตประจำวัน ภาครัฐ สมาคม และผู้ประกอบการเอกชนกว่างซี ได้ร่วมกันพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ อาทิ การเปิด pavilion สินค้ากว่างซีบนแพลตฟอร์ม e-Commerce บนเว็บไซต์ taobao.com (淘宝) และ jd.com (京东) การทำโฆษณา (Ads) บนโมเมนต์ของแอปพลิเคชัน wechat รวมถึงการไลฟ์สด (Live streaming) ผ่านแอปพลิเคชัน e-Commerce ของ taobao และ TikTok ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้
อย่างไรก็ดี ช่องทางการจัดจำหน่ายแบบหน้าร้าน (Offline) ก็ยังมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าช่องทางออนไลน์ แม้การรับรู้จะอยู่ในวงจำกัด แต่ก็เหมาะสมสำหรับสินค้าบางประเภทหรือผู้บริโภคบางกลุ่มที่ต้องการเห็นหรือจับต้องตัวสินค้า
“รถไฟความเร็วสูง” จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ข้อได้เปรียบที่ชัดเจนของรถไฟความเร็วสูง คือ ปริมาณหมุนเวียนของผู้โดยสาร สิ่งของ และข้อมูลสารสนเทศที่มีอัตราสูง ทำให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการประชาสัมพันธ์และการขนส่งสินค้ารูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการขยายตลาดสินค้า OTOP ที่มีชื่อเสียงของกว่างซีไปทั่วประเทศ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาความยากจน และส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ชนบทห่างไกลอีกด้วย
ตามรายงาน รัฐบาลกว่างซีได้วางแผนจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าประเภทอื่นอีก 3 รายการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของเมืองเป๋ยไห่ ส้มว่อกานของนครหนานหนิง และชาลิ่วป่าวของเมืองอู๋โจว โดยมีแผนจัดกิจกรรมให้ตรงกับช่วงฤดูกาลที่สินค้ากำลังทยอยออกสู่ตลาด และจัดแบบต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว สร้างแบรนด์ให้ติดหูติดตาจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และเป็นการกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้น
บีไอซี เห็นว่า รถไฟความเร็วสูงเป็นอีกตัวอย่างที่ประเทศไทยสามารถนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาช่องทางการประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายสินค้าไทยในตลาดจีนได้ โอกาสทางการตลาดได้แฝงตัวในทุกกิจกรรมชีวิตของเรา ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์อย่างเหมาะสมและการแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ ในการประชาสัมพันธ์มักนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภค และเป็นการสร้างโอกาส “ทำเงิน” ให้กับผู้ที่พร้อมและมองเห็นโอกาสได้เสมอ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 18 กรกฎาคม 2563
เว็บไซต์ http://k.sina.com.cn (新浪网) วันที่ 17 กรกฎาคม 2563
รูปประกอบ http://news.gxnews.com.cn/