รถบรรทุกสินค้าเข้า-ออก “ด่านตงซิง” ทุบสถิติรายวันสูงสุด ผลไม้ไทยมีเอี่ยว

4 Nov 2021

ไฮไลท์

  • นอกจาก ด่านโหย่วอี้กวานที่เราคุ้นหูคุ้นตากันแล้ว ยังมีด่านอีกแห่งที่กำลังเป็นที่สนใจจากผู้ส่งออก โดยเฉพาะผลไม้สด นั่นก็คือ “ด่านทางบกตงซิง” (Dongxing Border Gate) ในอำเภอระดับเมืองตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง อยู่ตรงข้ามกับด่านม๊องก๋าย (Mongcai) ของเวียดนาม ตั้งอยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากรุงฮานอยราว 300 กิโลเมตร (ไกลกว่าด่านโหย่วอี้กวานราว 100 กิโลเมตร)
  • การอำนวยด้วยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร (Customs Clearance) เป็นข้อได้เปรียบของด่านตงซิง ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด่านตงซิงพร้อมอำนวยควาสะดวกให้กับผู้นำเข้า-ส่งออกด้วยการให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง สินค้า “ถึงปุ๊บตรวจปั๊บ” และให้บริการตรวจก่อนปล่อยก่อน (first priority) สำหรับสินค้าสด/มีชีวิต และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรด้วย
  • เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 “ด่านทางบกตงซิง ได้สร้างสถิติการตรวจปล่อยรถบรรทุกเข้า-ออกรายวัน จำนวน 1,284 คัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เปิดใช้ลานตรวจสอบสินค้าของด่านสะพานแห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการ และมีปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกสะสมตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึง 18 ตุลาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 176,159 คันครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 16,700 คันครั้ง
  • ปีนี้ “ด่านตงซิง ได้กลับมามีบทบาทสำคัญทางการค้ากับประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับไทยผ่านด่านตงซิงกลายเป็น “ศูนย์” นับตั้งแต่ปี 2559 สถิติ ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 ระบุว่า “ด่านตงซิง” เป็นด่านที่มีการค้าผลไม้ (พิกัดศุลกากร หมวด 08) กับไทย มูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของมณฑล รองจากด่านทางบกโหย่วอี้กวาน และด่านท่าเรือชินโจว สินค้าหลัก คือ ทุเรียนและมังคุด

 

ด้วยแนวพรมแดนที่ยาวกว่า 1,020 กิโลเมตรของกว่างซีกับประเทศเวียดนาม เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงจึงเป็นที่ตั้งของด่านการค้าที่สำคัญหลายแห่ง สำหรับผู้ส่งออกสินค้าไทยไปจีนทางบก โดยเฉพาะผลไม้สด นอกจากด่านโหย่วอี้กวานที่เราคุ้นหูคุ้นตากันแล้ว ยังมีด่านอีกแห่งที่กำลังเป็นที่สนใจจากผู้ส่งออก นั่นก็คือ  “ด่านทางบกตงซิง” (Dongxing Border Gate/东兴口岸)

สำหรับ ด่านทางบกตงซิง” ตั้งอยู่ที่อำเภอระดับเมืองตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง อยู่ตรงข้ามกับด่านม๊องก๋าย (Mongcai) ของเวียดนาม มีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ด่าน คือ ด่านสะพานแห่งที่ 1 (ด่านเก่า) ใช้สำหรับบุคคลผ่านเข้า-ออกนอกประเทศ และด่านสะพานแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นใหม่ ใช้สำหรับบุคคลและรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา “ด่านทางบกตงซิง สะพานแห่งที่ 2 ได้สร้างสถิติการตรวจปล่อยรถบรรทุกเข้า-ออกรายวัน จำนวน 1,284 คัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เปิดใช้ลานตรวจสอบสินค้าของด่านสะพานแห่งที่ 2 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 (นับตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึง 18 ตุลาคม 2564 มีปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกสะสม รวม 176,159 คันครั้ง หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 16,700 คันครั้ง)

จากการลงพื้นที่ศึกษาดูงานเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา พอประเมินได้ว่า “ด่านตงซิง” สะพานแห่งที่ 2 มีความพร้อมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าด่านโหย่วอี้กวาน และเป็นด่านทางเลือกที่มีศักยภาพสูงในเวลานี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยด้านฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์แล้ว พอสรุปได้ว่า

ในเชิงกายภาพ ตั้งอยู่ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากรุงฮานอยราว 300 กิโลเมตร (ไกลกว่าด่านโหย่วอี้กวานราว 100 กิโลเมตร) บริเวณพรมแดนตงซิง-ม๊องก๋ายเป็นพื้นที่ราบ สะพานข้ามแม่น้ำมี 6 ช่องจราจร ซึ่งนับว่าเป็นข้อได้เปรียบในเชิงพื้นที่ เนื่องจากด่านโหย่วอี้กวานมีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นช่องเขาแคบเป็นคอขวด มักจะเกิดปัญหารถบรรทุกแออัด/ตกค้างบริเวณนอกด่านจนสินค้าสดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในฤดูผลไม้

ในแง่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกมีความพร้อม มีการพัฒนาศูนย์ One Stop Service สำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ลานรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ลานตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช สามารถรองรับรถบรรทุกเข้า-ออกได้ 2,000 คัน/วัน ช่องไม้กั้นรถบรรทุก 10 ช่อง (ปัจจุบัน ด่านโหย่วอี้กวานสามารถรองรับรถบรรทุกได้ 1,200 คัน/วัน และช่องไม้กั้นรถบรรทุก 12 ช่อง) และอยู่ระหว่างการวางแผนก่อสร้าง “สะพานแห่งที่ 3” กับเวียดนามเพิ่มด้วย

ในส่วนของระบบตรวจสอบและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืช รวมถึงการตรวจเชื้อโควิด-19 มีอุปกรณ์ตรวจสอบที่ทันสมัย มีโกดังควบคุมอุณหภูมิความเย็นไว้รองรับการเก็บผลไม้ และอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่ก่อสร้างลานตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชและศูนย์โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นเพิ่มเติม มีช่องสำหรับรถบรรทุกเข้าสุ่มตรวจสินค้าทั้งหมด 14 ช่อง มีห้องปฏิบัติการสุ่มตรวจสินค้าเบื้องต้นและห้องปฏิบัติการทดลองสำหรับงานตรวจวิเคราะห์เชิงลึก ห้องรมยา และห้องกำจัดสินค้าที่มีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชกักกัน

นอกจากการสุ่มตรวจและกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว ผลไม้นำเข้าผ่านด่านตงซิงจะต้องผ่านการตรวจกรดนิวคลิอิกเพื่อหาการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในสินค้า และต้องถูกพ่นฆ่าเชื้อที่บรรจุภัณฑ์แบบรอบทิศทาง การขึ้นทะเบียนหัวรถลากและคนขับรถบรรทุกสินค้า รวมถึงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบปิด

ด้านการผ่านพิธีการศุลกากร หรือ Customs Clearance ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด่านตงซิงมีการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด อย่างไรก็ดี ด่านตงซิงให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุด โดยสินค้า “ถึงปุ๊บตรวจปั๊บ” และให้บริการตรวจก่อนปล่อยก่อน (first priority) สำหรับสินค้าสด/มีชีวิต และสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรด้วย

จากข้อมูลศุลกากร พบว่า ปีนี้  “ด่านตงซิง ได้กลับมามีบทบาทสำคัญทางการค้ากับประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากที่ตัวเลขการค้าระหว่างจีนกับไทยผ่านด่านตงซิงกลายเป็น “ศูนย์” นับตั้งแต่ปี 2559 โดยสถิติ ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 ชี้ว่า “ด่านตงซิง” เป็นด่านที่มีการค้าผลไม้ (พิกัดศุลกากร หมวด 08) กับไทย มูลค่ามากเป็นอันดับ 3 ของมณฑล (รองจากด่านทางบกโหย่วอี้กวาน และด่านท่าเรือชินโจว)

ตามข้อมูล พบว่า 90.36% ของผลไม้ (พิกัดศุลกากร หมวด 08) ที่นำเข้าผ่านด่านตงซิงเป็น ผลไม้ไทยโดยนับตั้งแต่เริ่มมีการนำเข้าผลไม้ล็อตแรกจากไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 ด่านตงซิงมีการนำเข้าผลไม้ไทย 4,938 ตัน คิดเป็นมูลค่า 177 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ เป็นทุเรียน 4,404 ตัน มูลค่า 164 ล้านหยวน และมังคุด 533 ตัน มูลค่า 12 ล้านหยวน

แม้ว่าปัจจุบันการค้าผลไม้กับไทยผ่านด่านตงซิงจะมีสัดส่วนเพียง 2.7% ของมูลค่าการค้าผลไม้ของทั้งกว่างซี (ด่านโหย่วอี้กวาน ครองสัดส่วน 85.54% ของทั้งมณฑล) แต่ศูนย์บีไอซีเชื่อว่า ด้วยแนวโน้มความต้องการในการบริโภคผลไม้ไทยที่เพิ่มสูงขึ้น กอปรกับความพร้อมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ  ด่านตงซิงจะกลายเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางแห่งโอกาส” ที่ช่วยเพิ่มพูนมูลค่าการค้าระหว่างกว่างซี(ตงซิง)กับประเทศไทยได้ในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

         

จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gxchinanews.com (中新社广西) วันที่ 20 ตุลาคม 2564
เว็บไซต์ http://nanning.customs.gov.cn (南宁海关)

 

ด่านตงซิง

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ข่าวยอดนิยม

อ่านข่าวอื่น

BACK TO TOP

กลับขึ้นด้านบน